สพฐ.ขานรับนโยบายลดภาระผู้ปกครองของ “สมชาย” สั่ง ผอ.สพท.เก็บข้อมูลอัตราเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองเป็นรายโรง เพื่อเช็กบิลโรงเรียนเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองหลักรับเงินรายหัวเพิ่ม ชี้ผิดนโยบาย ปิ๊งไอเดียให้โรงเรียนติดป้ายหน้าโรงเรียน “ไม่เก็บเงิน”
วันนี้ (11 มี.ค.) คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.ร่วมกับสำนักงบประมาณเพื่อทบทวนตัวเลขงบประมาณที่จะเสนอขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำมาใช้ในการจัดการศึกษาฟรี 14 ปี ซึ่งได้ข้อยุติ ว่า จะต้องของบประมาณอีก 2,917 ล้านบาท ในปี 2551 เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2551 ให้โรงเรียนทุกสังกัด แบ่งเป็น สพฐ.1,627 ล้าน สช.389.84 ล้าน สอศ. 201.01 ล้าน กศน.203.79 ล้าน และ ร.ร.สาธิต 18 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้อยู่ 2 ทางที่จะได้รับการจัดสรรงบ ทางแรก รัฐบาลอาจเพิ่มงบกลางปี หรือขอใช้งบกลาง อย่างไรก็ตาม จะเลือกแนวทางไหนขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม.
ในระหว่างที่รอคำตอบจาก ครม.ตนให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ไปเก็บข้อมูลว่าโรงเรียนในพื้นที่ทุกโรง ว่า เก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองอยู่เท่าใด จะได้นำข้อมูลนี้ไปเปรียบเทียบหลังจากโรงเรียนได้รับการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มเติมแล้ว โดยจะดูว่าโรงเรียนลดสัดส่วนการเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองหรือไม่ ถ้าโรงเรียนแห่งใดได้รับเงินเพิ่มแล้วยังไม่ลดการเก็บเงินจากจากผู้ปกครอง ถือว่า ทำผิดนโยบายเรียนฟรี 14 ที่ รมว.ศธ. พยายามผลักดัน เพื่อของบมาจัดสรรเพิ่มเติมให้แก่โรงเรียน และ รมว.ศธ.ต้องการลดภาระของผู้ปกครอง
คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า เร็วๆ นี้ รมว.ศธ.และ สพฐ.จะหารือเรื่องขอคืนอัตราเกษียณ ให้ทันก่อนเปิดเทอม ทั้งนี้ จะนำไปบรรจุครูใหม่ มั่นใจว่า หากโรงเรียนได้รับอัตรากำลังเพิ่มแล้ว โรงเรียนก็จะหมดภาระที่ต้องเจียดเงินตัวเองหรือเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองเพื่อนำไปใช้จ้างครู แล้วโรงเรียนต้องเลิกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองด้วย
“ขณะนี้โรงเรียนที่เก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนมัธยมยอดนิยมซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ที่เหลือไม่สามารถเก็บค่าใช้จ่ายผู้ปกครองได้ หรือเก็บได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะให้โรงเรียนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายปิดป้ายประกาศหน้าโรงเรียนให้ผู้ปกครองทราบว่าแห่งนี้ไม่เก็บ”
ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า นอกจากของบประมาณมาเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวให้ ร.ร.แล้ว สพฐ.ได้ขอปรับเพิ่มอัตราค่าปัจจัยพื้นฐาน และของบซื้อตำราเรียน อุปกรณ์การเรียนให้เด็กยากจนด้อยโอกาส ร้อยละ 30 ในระดับประถม และร้อยละ 25 ในระดับมัธยมด้วย อย่างไรก็ดี ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่าในอนาคต จะมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น สื่อแบบเรียนจะพัฒนาเป็น E-Book มี Resource Center ใน โรงเรียนให้เด็กได้ค้นคว้าเพิ่มเติม เมื่อมีการนำ E-Book มาใช้จะลดความสำคัญของตำราเรียนลง