xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ปรับเกณฑ์จบ ม.ปลายใหม่ เผยเกรดเฉลี่ยต้อง 1.5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.ปรับเกณฑ์การจบในแต่ละระดับให้เข้มข้นขึ้น เด็ก ม.ปลายต้องได้เกรดเฉลี่ย 1.5 ถึงจะจบ พร้อมให้น้ำหนักเรื่องคุณธรรม โดยกำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องเก็บชั่วโมงทำกิจกรรมเพื่อสังคมครบตามที่หลักสูตรระบุด้วย ที่ปรึกษา สพฐ.ระบุ ยังไม่ข้อยุติ ขณะที่ครูส่วนใหญ่หนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษาด้านกระบวนการพัฒนาผู้เรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความเห็น ร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ฉบับปรับปรุง ซึ่งมีครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุมประมาณ 250 คน ว่า ในร่างปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ที่นำออกมาประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น จะมีการกำหนดเกณฑ์การจัดการศึกษาแต่ละระดับชั้นสำคัญไว้ คือ เกณฑ์การจบ ม.ปลาย ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนครบตามหลักสูตรแล้ว ยังบังคับให้ผู้เรียนต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 1.5 และต้องทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง ตลอดการศึกษา ม.ปลาย

ก่อนหน้านี้ ไม่ได้กำหนดว่า ผู้เรียนจะต้องได้เกรดเฉลี่ยสะสมเท่าใดจึงจะจบการศึกษาได้ ระบุแค่ว่า “ผลการเรียนผ่านทุกวิชา” เท่ากับว่า ถ้าเด็กทำคะแนนสอบได้ร้อยละ 50 ได้เกรด 1 เด็กจบการศึกษาได้ด้วยเกรดเฉลี่ย 1.00 อย่างไรก็ตาม สพฐ.มองว่า นักเรียนที่มีผลการเรียนแค่ 1.00 นั้น คุณภาพต่ำไป อีกทั้งการเรียนในระดับมัธยมปลายนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญโยงไปสู่การเรียนระดับอุดมศึกษา ผู้เรียนควรจบการศึกษาระดับนี้อย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ผ่านอย่างเฉียดฉิว ทาง สพฐ.จึงยกระดับคุณภาพโดยการกำหนดคะแนนเฉลี่ยสะสม 1.5 ขึ้นไป

ส่วนระดับ ม.ต้น และประถมศึกษานั้น ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากผู้เรียนได้รับผลการเรียนผ่านทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา หมายถึง ได้เกรด 1 ทุกวิชา ก็สามารถจบการศึกษาได้ แต่ได้เพิ่มเติมเรื่องการทำกิจกรรมเพื่อสังคมไว้เช่นกัน โดยกำหนดให้ระดับประถมศึกษา ต้องทำกิจกรรมเพื่อสังคม และสาธารณประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง ตลอดการศึกษาระดับประถมศึกษา , ระดับชั้นมัธยมต้น ต้องทำกิจกรรมเพื่อสังคม และสาธารณประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมง

นายสุชาติกล่าวย้ำว่า เรื่องนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ หลังจากนำร่างหลักสูตรฯ รับฟังความเห็นครบทุกภาคแล้ว จะนำความเห็นจากที่ประชุมมาประมวลความเป็นไปได้อีกครั้ง

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ก่อนจะเพิ่มเกณฑ์ คะแนนเฉลี่ยสะสม 1.5 ขึ้นไปจึงจะจบ ม.ปลายได้ สพฐ.ต้องช่วยเด็กที่เรียนอ่อน เพราะหลังจากใช้นโยบายให้ตกซ้ำชั้นได้ ปรากฏว่า มีนักเรียนที่ไม่จบพร้อมเพื่อนหลักหมื่นคน ถ้าเราใช้เกณฑ์จบการศึกษาที่เข้มงวดเกินไป เด็กกลุ่มนี้อาจหลุดออกนอกระบบ กลายเป็นเด็กที่ออกกลางคันได้ ดังนั้นเกณฑ์การจบการศึกษาจะต้องมีความยืดหยุ่น มีระบบดูแลช่วยเหลือเด็กที่เรียนอ่อน และระบบการประเมินต้องมีความหลากหลาย เน้นการทำกิจกรรมมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสเด็กที่ไม่เก่งวิชาการแต่มีความสามารถด้านอื่น

นายณรงค์ คงกิจ ผู้อำนวยการ ร.ร.วัดสระเกศ กล่าวว่าตนเห็นด้วยกับการกำหนดคะแนนเฉลี่ยสะสม 1.5 จึงสามารถจบ ม.ปลายได้ ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการกำหนดเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำสำหรับการจบการศึกษาไว้ มีแต่นโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศธ. ที่กำหนดให้นักเรียนที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 1.00 ต้องเรียนซ้ำชั้น

“นักเรียนที่จบด้วยคะแนนเฉลี่ยสะสม 1.00 นั้น ไม่ได้ประกันว่า เด็กเรียนผ่านในวิชานั้นจริง ๆ นักเรียนบางรายอาจสอบไม่ผ่าน แล้วเข้ารับการซ่อมเสริมจนได้เกรด 1 มา แต่ในความเป็นจริง ระบบการซ่อมเสริมก็ยังไม่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ ครูอาจยอมให้นักเรียนซ่อมผ่านได้เกรด 1 ไปโดยที่เด็กยังไม่มีความรู้ในวิชานั้นดีพอ เพราะครูคิดว่า ถึงเวลาที่จะต้องปล่อยให้เด็กผ่านไปแล้ว มิฉะนั้น ถ้ากักตัวเด็กไว้ ทำให้เด็กจบช้ากว่าปกติ ครูก็ต้องเผชิญความกดดันจากผู้ปกครอง

สำหรับร่างหลักสูตรฯ ใหม่ที่มีการทำตัวชี้วัดหรือคุณลักษณะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน เป็นรายชั้นปี จากแต่เดิมที่จะกำหนดเป็นรายช่วงชั้นนั้น ตนเห็นว่าเหมาะสม เพราะการกำหนดตัวชี้วัดเป็นช่วงชั้นนั้นกว้างเกินไป และค่อนข้างให้เสรีกับครูในการเลือกจะสอนเนื้อหาใดก่อนหลังก็ได้ นักเรียนชั้นเดียวกันของแต่ละร.ร.จึงเรียนแตกต่างกันมากจนเกิดปัญหาเมื่อเด็กต้องย้ายร.ร. เมื่อหลักสูตรใหม่กำหนดตัวชี้วัดเป็นรายปีอย่างละเอียดแล้ว สพฐ.จะต้องทำความเข้าใจกับครูว่า ครูจะต้องปรับเนื้อหาการสอนให้เข้ากับบริบทของสังคมและสภาพชุมชนรอบร.ร.ด้วย ไม่ใช่แค่เปิดตำราแล้วสอนตามตำราเรียน ซึ่งถ้าครูทำเช่นนั้น ทุกร.ร.ก็จะเรียนเหมือนกัน ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น