xs
xsm
sm
md
lg

ช่วย “วิชาประวัติศาสตร์”...ก่อนจะกลายเป็น “ประวัติศาสตร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“..แต่เสียดายตอนนี้ท่านนายกฯ เขาไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ ฉันก็ไม่เข้าใจ เพราะตอนที่ฉันอยู่ เรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ก็แสนไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไร แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ โอ้โห บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติเนี่ย เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์ ไม่รู้ว่าใครมาจากไหน เอ๊ะ เป็นความคิดที่แปลกประหลาด (ทรงพระสรวล)

อย่างที่อเมริกา ถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์ สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหนเขาก็สอนกัน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่า แผ่นดินนี้มันรอดมาอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน โอ้โห อันนี้น่าตกใจ แต่ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยนี่ไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย...”


ที่อัญเชิญมาข้างต้น คือ พระราชดำรัสใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีเมื่อคืนวันที่ 11 สิงหาคม ในวโรกาสวันก่อนวันคล้ายวันพระราชสมภพ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงห่วงการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่นับวันดูเหมือนว่าจะเป็นศาสตร์ที่ถูกลืมเลือนไปแล้ว

โดยเฉพาะประเทศไทยในยุคที่ถูกครอบด้วยกรอบลัทธิทุนนิยม ทำให้บริบทด้านการศึกษาของบ้านเราเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยศึกษาโดยเน้นจุดประสงค์ไปที่เนื้อหาสาระของวิชา องค์ความรู้ในสาขานั้นๆ กลับกลายมาเป็นการเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย และในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนทัศนคติจากการเรียนไปเพื่อรับใช้สังคม กลายเป็นเรียนในสาขาที่จะนำไปประกอบอาชีพและได้เงินเดือนสูง

ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ แพทย์ วิศวกร สถาปนิก โปรแกรมเมอร์... ฯลฯ ล้วนเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของเด็กเก่งที่ผลการเรียนอยู่ในระดับที่เรียกว่า “เก่งเลือกได้” นั่นเพราะอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนสูง แต่ในทางกลับกัน เป็นความจริงที่น่าเศร้าที่พบว่าน้อยหนักหนาที่เด็กไทยในยุคนี้สมัยนี้ จะสนใจในวิชาดีๆ แต่ไม่ใช่วิชาชีพที่ให้ผลตอบแทนสูงอย่าง “ประวัติศาสตร์”

ยิ่งล่าสุดที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เปิดเผยผลสำรวจเบื้องต้นว่า จากการตรวจสอบพบมีนักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-เอก เรียนวิชาประวัติศาสตร์ เพียงแค่ 2,400 คน ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นไปอีก

*** “ประวัติศาสตร์” บูรณาการจนไร้ตัวตน
ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว.ระบุว่า การที่เด็กไม่สนใจเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และการที่ไม่มีผู้สนใจศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา ในปริญญาตรีหรือสูงกว่า เป็นปัญหาวิกฤติระดับชาติ เพราะการบูรณาการด้านการศึกษา ทำให้วิชาประวัติศาสตร์หลัง พ.ศ.2522 กลายเป็นวิชาที่ไม่มีตัวตน เนื่องจากถูกยุบรวมกับคณะอื่นๆ เช่นเดียวกับวิชาภูมิศาสตร์ ศีลธรรม หรือวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาเหล่านี้ถูกลดระดับความสำคัญ จนแทบจะถูกลืมไป
“คิดดูสิ ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 สัปดาห์เขาเชิญผมไปประชุมศึกษานิเทศก์ด้านนี้ เชื่อไหม ขนาดสมาชิกที่ประชุม 24 คน ยังมีคนจบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์โดยตรงแค่คนเดียวเลย”

*** 1 ใน 3 วิชาจบยาก ผู้เรียนต้องเสียสละสูง
ดร.วินัย ให้ข้อมูลต่อไปว่า ปัญหาการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษา และปัญหาของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยความที่ไม่มีครู เพราะขาดแคลนผู้ที่สนใจเรียนด้านประวัติศาสตร์โดยตรง ทำให้ในยุคนี้ เอาใครก็ได้ไปสอนประวัติศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นวิชาท่องจำ และน่าเบื่อ

ส่วนในระดับสูงอย่างในระดับอุดมศึกษา ปัญหาอยู่ตรงที่วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพ แต่เป็นวิชาที่เรียนเพื่อเอาปัญญาไปต่อยอดและปรับตัว ทำให้หลายคนไม่เลือกเรียนเพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ขณะที่ในระดับปริญญาโทและเอก การเรียนก็ค่อนข้างยาก

“บอกได้เลยว่า มาตรฐานการเรียนประวัติศาสตร์ในเมืองไทยสูงกว่าในอังกฤษ หรือในอเมริกา เดิมก่อนปรับหลักสูตรเรียนกัน 4-5 ปีถึงจะจบ คือยากมาก ถ้าพูดถึงการศึกษาในระดับสูงวิชานี้ติด 1 ใน 3 คณะที่จบยาก รองจากโบราณคดีและปรัชญา คนที่เรียนต้องเสียสละสูง คือ เรียนคอร์สเวิร์กจบ ต้องมีวิจัย มีค้นคว้า แต่ที่อังกฤษหรืออเมริกาเขาเบากว่าเรามาก คือ คอร์สเวิร์ก จบก็จบ หรือถ้าจะทำวิจัยก็วิจัยเล็กๆ แต่งานวิจัยของเราต้อง 300 หน้า คือคนเขียนต้องรู้จริงจึงจะให้จบ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราปรับหลักสูตรให้อ่อนลงบ้าง แต่ก็ยังเข้มเข้นอยู่ รุ่นแรกที่จบหลังปรับหลักสูตรก็ยังต้องเรียนถึง 3 ปี ไม่ใช่เฉพาะที่ศิลปากรนะครับ เป็นทุกที่ จุฬาฯ มศว ก็เป็น”

“ผู้ที่เรียนจบสาขาประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ ค่อนข้างจะมีตลาดงานรองรับมากกว่าผู้ที่จบในประเทศไทย วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพก็จริง แต่ในประเทศที่เจริญแล้ว แม้จะเรียนไม่หนักเท่าเรา แต่เขาไม่ตกงาน เพราะคนจากสาขานี้เข้ากับคนง่าย ปรับตัวง่าย แทบทุกองค์กรต้องมีข้อมูล และเขาเขาเชื่อว่าผู้ที่จัดการข้อมูลได้ดีที่สุดคือนักประวัติศาสตร์”

สุดท้าย ดร.วินัย ได้แนะนำถึงคุณสมบัติที่ดีของผู้ที่จะเรียนประวัติศาสตร์ได้ดีว่า ต้องเป็นคนเสียสละ มีอุปนิสัยอ่านมาก พูดมาก ค้นคว้ามาก และเขียนมากด้วย

*** สอนผิด...ให้คิดน้อยกว่าท่อง
ด้าน รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ระบุว่า การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ได้ทำผิดวิธีมาตลอด ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อและพานมองว่าวิชาประวัติศาสตร์ไม่มีอะไรน่าสนใจมากไปกว่าตำรับตำราที่น่าเบื่อหน่าย

“ปัญหาคือเราสอนผิดกันมาตลอด วิชาประวัติศาสตร์แบบของเรา เราสอนให้อ่าน ให้ท่อง ให้จำ และให้เชื่อ ทุกสิ่งที่อยู่ในตำรา และเชื่อในสิ่งที่อาจารย์บอก เวลาสอบ เด็กที่ได้คะแนนดีคือเขียนทุกอย่างที่อยู่ในหนังสือได้เหมือนที่สุด เราไม่เคยสอนให้เด็กคิดหรือสงสัยในความจริงของเนื้อหาที่เราจับยัดใส่ตำรามาให้เรียน นั่นก็คือ เด็กจะรู้ในสิ่งที่อยู่แต่ในตำรา ซึ่งจะจริงหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่ไม่สงสัย ส่งผลให้เด็กไม่ค้นคว้า”

“เมื่อก่อนนี้มหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งสอนแบบนี้ เดี๋ยวนี้ยังดี พอมีบ้างที่สอนให้คิด สอนให้สงสัย สอนให้ค้น ซึ่งก็นำไปสู่การค้นคว้า และเมื่อเราสอนด้วยระบบสอนให้คิด สอนให้สงสัยแล้ว เมื่อเด็กค้นคว้าหาความจริง องค์ความรู้ที่ได้ จะได้มาแบบเข้าใจ ไม่ใช่แบบท่องจำ”

รศ.ศรีศักร ให้ภาพถึงคุณลักษณะเฉพาะของวิชาประวัติศาสตร์ต่อไปอีกว่า เนื้อหาที่แท้ของวิชานั้นแม้จะมีเนื้อหามากมาย แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่มีใครตอบได้ว่าเนื้อหามากมายทั้งหมดในตำรานั้น ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ ผู้เรียนจึงจำต้องคิด สงสัย และค้นคว้า เพื่อต่อยอดทางองค์ความรู้ มิใช่สักแต่เรียนท่องจำเท่าที่ตำรามีป้อนให้

“วิชานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้ที่เขียนตำรามาทุกยุคสมัย เช่นการปลุกความรักชาติของภาครัฐ ก็จะใส่เฉพาะเนื้อหาที่กระตุ้นความรักชาติลงไป โดยละเลยเนื้อหาส่วนอื่น ทำให้ผู้เรียนไม่ได้เนื้อหาทั้งหมด ซึ่งประเทศของเราเป็นอย่างนี้มาตลอด ในทุกวันนี้เด็กไทยเมินที่จะเรียนประวัติศาสตร์ เพราะการเรียนการสอนที่ผิดแบบ ทำให้รู้สึกว่าน่าเบื่อและไม่มีอะไรท้าทาย”

“ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญมาก มันเป็นวิชาที่ช่วยฝึกวิธีคิดและเป็นพื้นฐานของทุกศาสตร์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีประวัติศาสตร์ เราทุกคนมีอดีต และทุกสิ่งทุกอย่างมีอดีต การเมืองการปกครองและรัฐศาสตร์ก็มีอดีต อดีตคือรากเหง้าของมนุษย์ และประวัติศาสตร์คืออดีตของปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ทุกวันนี้ การเรียนการสอนยุคไฮเทค ทั้งมัธยมและมหาวิทยาลัยทั้งหลาย สอนแต่ให้เด็กรู้เฉพาะปัจจุบันและอนาคต ทำให้เด็กจำนวนมากลืมรากของเราไปอย่างน่าเสียดาย”

รศ.ศรีศักร ยังได้แนะนำวิธีการสอนประวัติศาสตร์แบบง่ายๆ อีกว่า ที่ผ่านมาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของประเทศไทย สอนแบบไกลตัว ทำให้เด็กไม่สนใจ เป็นการสอนในรูปแบบ Top to down แต่จริงๆ แล้ว การสอนประวัติศาสตร์ให้เด็กสนใจคือต้องสอนแบบ Down to top คือสอนจากเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว เช่นเรื่องประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น ในชุมชนเสียก่อน ให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและสนใจ จึงค่อยขยายสเกลการสอนไปในระดับที่กว้างกว่านั้น

***นิสิต-นศ. ชี้ไทยไม่หนุนเท่าตปท.
ขณะที่ในมุมมองของผู้เรียน อย่าง จักรธร วีระพันธุ์ นิสิตชั้นปี 3 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานชุมนุมประวัติศาสตร์ มก.เห็นว่า การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ทั่วไปนั้น มีตั้งแต่ประถม มัธยม แต่เป็นการเรียนตามกระแสหลัก ซึ่งครูผู้สอนจะเป็นฝ่ายป้อนข้อมูล ที่บางครั้งจะถูกวาง กำหนดตามกรอบ และแนวคิดใหม่ที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อ ทำให้ทุกวันนี้จึงเหมือนว่าเรื่องราวที่เรียนยังเป็นเรื่องราวที่ผิดอยู่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะตำราเรียนส่วนใหญ่ ผู้เขียนจะใส่ความคิดเห็นของตนเองลงไปในเรื่องราวตามที่คิด และยึดถือ พยายามเขียนในแง่มุมที่แปลก เพื่อให้ต่างจากเล่มอื่นที่วางอยู่บนแผงเดียวกัน

อีกทั้งหลักสูตรในปัจจุบันจะเน้นไปที่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ศึกษาความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ที่เป็นกระแสสังคมมากขึ้น ซึ่งจะเรียนยาก เพราะหากไม่สนใจอ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามข่าวก็จะเป็นอุปสรรคในการเรียน

“จริงๆ แล้ววิชานี้เป็นศาสตร์ที่บริสุทธิ์ ถึงจะไม่มีสายงานรองรับโดยตรง แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์กับงานอื่นได้ เช่น ในตลาดงานด้านการท่องเที่ยว งานด้านสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น พิสูจน์อักษร งานเกี่ยวกับเอกสาร หรืองานที่ต้องใช้ความรอบคอบ คิดว่าศาสตร์แขนงนี้มีความได้เปรียบอยู่มากทีเดียว ซึ่งแต่ละงานก็แล้วแต่ว่าจะนำความรู้ที่เรียนมานำมาปรับใช้ได้อย่างไรด้วย”

จักรธร ให้ความเห็นด้วยว่า หากเทียบการให้ความสำคัญของการพูดถึงประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับของต่างประเทศแล้วจะต่างกันมาก เนื่องจากต่างประเทศจะให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ขณะที่ไทยกลับไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เลย

ด้าน “นิศาสินี จันทร์ปาล” นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะประธานชุมนุมประวัติศาสตร์ มศว ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ต้องยอมรับว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไม่มีสายงานรองรับชัดเจน ไม่เหมือนกับเรียนแพทย์ เรียนบัญชี ที่เมื่อจบแล้วจะมีงานเป็นรูปธรรมกว่า ในส่วนของผู้ปกครองก็ไม่ค่อยให้การสนับสนุน ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเรียนของเด็ก

“เด็กที่เรียนประวัติศาสตร์สิ่งที่จะได้แน่นอนเลยคือภาษา เพราะต้องเรียนประวัติศาสตร์โลก และต่างประเทศที่ต้องใช้ตำราภาษาอังกฤษ หรือภาษาของแต่ละที่ และจะเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพได้หลายอย่างในเรื่องที่ต้องใช้ภาษาเช่น แอร์โฮสเตส หรือที่ตรงไปกว่านั้นคือทำงานด้านท่องเที่ยว เป็นมัคคุเทศก์ ให้ข้อมูลตามแหล่งท่องเที่ยว ตามพิพิธภัณฑ์ หรือเปิดบริษัททัวร์ จนกระทั่งกลายเป็นนักวิชาการเฉพาะด้านก็ได้”

นิศาสินี บอกอีกว่า วิชาประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่แล้วในตัวเอง โดยเฉพาะการทำให้รู้จักประวัติศาสตร์ของชาติ เนื่องจากทำให้มีความรู้สึกภูมิใจในตนเอง มีสิ่งที่เป็นข้อเตือนใจ เตือนสติ เข้าใจรากเหง้าของตนเอง ได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตเพื่อนำไปปรับใช้ต่อโลกอนาคต แต่ปัญหาก็คือ ไทยมีสถานศึกษาที่เปิดภาควิชานี้น้อย นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์ในส่วนของภาควิชาก็มีน้อยมากด้วย

“อยากฝากไปถึงคนที่เป็นผู้นำประเทศด้วยว่า ขอให้เห็นความสำคัญต่อเรื่องนี้ ตัวท่านเองก็ควรทำความเข้าใจ และศึกษาประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านไว้บ้าง เพราะหากทราบถึงข้อมูลของมิตรประเทศ เราจะมีพื้นฐานในการติดต่อเรื่องต่างๆ ที่จะไม่ทำให้เราเสียเปรียบเหมือนที่ผ่านมา” นิศาสินี สรุปได้อย่างโดนใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น