xs
xsm
sm
md
lg

Quantum Mechanic อนุสรณ์ทางปัญญาของ ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภายหลังลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อปลายปีที่แล้ว ชื่อของ ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ก็เงียบหายไปจากข่าวสารแวดวงการเมืองไทย หลายคนสงสัยว่า อดีตรัฐมนตรีที่มาจากสายวิชาการแบบฮาร์ดคอร์ผู้นี้กำลังทำอะไรอยู่ บ้างเป็นห่วงว่า เขาจะเข็ดขยาดกับบทบาทนักการเมืองสมัครเล่นจนหันหลังให้ถนนสายการเมืองอย่างสิ้นเชิง และพลอยกระทบต่อผลงานวิจัยทางวิชาการที่เขาเชี่ยวชาญไปด้วย

แต่ตัวตนของ ศ.ดร.สิทธิชัย ที่เรามีโอกาสได้พบและพูดคุย ณ ห้องผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครนั้น ยังคงบุคลิกลักษณะของนักวิชาการที่ยัง “มีไฟ” อย่างครบถ้วน โต๊ะทำงานที่เป็นระเบียบเต็มไปด้วยเอกสารและตำรับตำราทางวิศวกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ หลังม่านควันซิการ์และถ้วยกาแฟดำร้อน คือบรรยากาศที่เขาเคี่ยวกรำผลงานทางวิชาการอยู่เป็นประจำทุกวัน จนสำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง...

“อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำสำหรับวงจรรวมยุคใหม่” และ “วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์” คือชื่อตำราวิชาการเล่มล่าสุด จากความทุ่มเทเวลาและสติปัญญาของ ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ใช้ช่วงเวลาหลังลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไอซีทีมาสานต่อความฝันวิชาชีพวิศวกร เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ทางปัญญาแก่ผู้ที่ศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และอิเล็กทรอนิกส์รุ่นต่อมา

แม้ว่าชื่อหนังสืออาจจะดูฟัง “ยาก” และ “หนัก” สำหรับคนทั่วไป แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่เนื้อหาที่อยู่ภายใน แต่เป็น “ราคา” ที่นับว่าถูกจนน่าตกใจเมื่อเห็นขนาดรูปเล่มและความประณีตในการจัดทำ

เฉพาะตำรา “อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำสำหรับวงจรรวมยุคใหม่” ที่มีจำนวน 676 หน้า พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์อย่างดี ปกแข็งเข้าเล่มด้วยวิธีเย็บกี่ ราคาเพียง 215 บาท ขณะที่อีกเล่มอย่าง “วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์” นั้นมีความหนากว่าถึง 984 หน้าเลยทีเดียว!

เพราะอะไร วิศวกรนักวิจัยคนหนึ่งจึงลงทุนเขียนตำราวิศวกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นภาษาไทยอย่างยากลำบาก แต่กลับขายในราคาถูกเมื่อคำนึงถึงต้นทุนอย่างภาษีกระดาษ ฯลฯ ที่ขึ้นเอาๆ ตามราคาน้ำมัน มิพักต้องเอ่ยถึงความเหนื่อยยากในการรวบรวมองค์ความรู้มาจัดเรียงขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทอดในภาษาไทย มิใช่แค่การ “แปล” ตามตัวอักษรอย่างตำราที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์หลายเล่มในอดีตเคยทำมาเท่านั้น

วันนี้ ผู้เขียนเจ้าของรางวัล "IEEE Fellow" จากสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ ผู้ที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “รักและภูมิใจในอาชีพวิศวกรของเขามากยิ่งกว่าตำแหน่งรัฐมนตรี!” เปิดใจเป็นครั้งแรกถึงผลงานทางด้านวิชาการที่เขาตั้งใจฝากเป็นอนุสรณ์แด่อนุชนรุ่นหลัง

ตำราวิศวกรรมศาสตร์และอิเล็กทรอนิกส์ภาษาไทยสองเล่มนี้มีที่มาอย่างไร?

ในชีวิตผมเป็นอาจารย์มาตลอด ผมเป็นอาจารย์ตั้งแต่กลับมาจากต่างประเทศปี 2519 เป็นต้นมา ก็เจอปัญหาว่านักศึกษาไทยขาดแคลนตำราเรียนมาก ตำราความรู้ส่วนใหญ่ปัจจุบันนี้อยู่ในลักษณะภาษาอังกฤษ ทีนี้ประเทศไทยเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครมาก่อน เพราะฉะนั้น เราก็ใช้ภาษาไทยกัน ในระยะหลังมีการเห่อให้คนไทยใช้ภาษาอังกฤษขึ้น ซึ่งก็ถูกต้อง แต่เราจะหวังไม่ได้ว่าจะให้คนไทยมีภาษาอังกฤษดีเหมือนอย่างประเทศที่เขาใช้ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เกิด มันไม่มีทางเป็นไปได้ ผมเคยลองคำนวณดูว่า ถ้าจะให้นักเรียนไทยหนึ่งคนมีความรู้ภาษาอังกฤษดีแตกฉานพอที่จะอ่านตำราภาษาอังกฤษได้เข้าใจ ต้องใช้เงินพิเศษประมาณ 3 ล้านบาทต่อหนึ่งคน เพราะว่าของอย่างนี้มันต้องสอนทีละคน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นไปไม่ได้ แต่เราจะต้องพัฒนาประเทศไง แล้วมันก็มีตัวอย่างประเทศในโลกนี้เยอะแยะเต็มไปหมด ที่ประชากรไม่ค่อยมีความรู้ภาษาอังกฤษดี แต่ว่าพัฒนาประเทศได้ ยกตัวอย่าง ประเทศจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี อิตาลี บางประเทศที่ประชากรพูดภาษาอังกฤษได้ดีก็เพราะเป็นเมืองขึ้นเท่านั้นเอง เลยพูดได้สองภาษาโดยทั่วไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือต้องแปลความรู้ หรือเขียนเป็นตำราใหม่ก็ได้ อย่างของผม ผมไม่ได้แปล ผมมาเรียบเรียงใหม่ทำเป็นภาษาไทยซึ่งมีคุณภาพดี เด็กจะได้ได้ประโยชน์

ในชีวิตผมพบว่า เด็กโดยเฉพาะเด็กในต่างจังหวัดนี่น่าสงสารมาก ความรู้ภาษาอังกฤษเขาจะแย่กว่าเด็กที่เรียนหนังสือในกรุงเทพ แต่เขามีความพยายามไขว่คว้าหาความรู้เยอะมาก แต่ตำราที่เขาพอจะไขว่คว้าหาความรู้ได้ในท้องตลาด เป็นตำราที่คุณภาพมันแย่เต็มที ส่วนใหญ่เป็นตำราที่เขียนขึ้นมาเพื่อเอาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ ซึ่งเขียนลวกๆ แปลลวกๆ ไม่ได้เนื้อความครบถ้วน ใส่แต่สมการเข้าไปเยอะๆ เพราะการใส่สมการนี่มันง่าย แล้วก็ทำให้เนื้อกระดาษมันเยอะขึ้น ฉะนั้น ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ผมก็พยายามที่จะส่งเสริมให้มีการแปลตำราหรือเรียบเรียงตำราที่ดีมานาน แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ พอผมเป็นรัฐมนตรีที่ไอซีที ผมก็ได้ของบประมาณ 500 ล้าน เพื่อเอามาทำโครงการแปลตำรา ได้มา 100 ล้าน ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำกันยังไงนะ ไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว แต่งบประมาณได้มา มันต้องทำต่อเนื่อง ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลให้งบประมาณ 2 พันล้าน เป็นเวลา 20 ปี เราจะได้ตำรามาหลายหมื่นเล่ม แต่ละเล่มจะได้ประโยชน์ต่อเยาวชนไทยหลายแสนคนต่อปี

ทำไมถึงตั้งราคาได้ถูกขนาดนั้น?

ตำราภาษาอังกฤษแพงมาก เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งสำหรับผมเท่าที่จะทำได้ ผมขายโดยไม่เอากำไรเลย ผมไม่ต้องการเอากำไร ราคานี้เป็นราคาออกจากโรงพิมพ์เลย บวก vat แค่นั้นเอง แล้วก็ขาดทุนด้วย เพราะผมแจกไปตามห้องสมุดต่างๆ หลายร้อยเล่มแล้ว ผมต้องการทำเพื่อเป็นวิทยาทานจริงๆ ไม่ได้หวังจะหาเงินหรืออะไร ถ้าจะหาเงิน หาวิธีอื่นง่ายกว่าเยอะ วิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่คุ้มเลยถ้าจะหาเงิน

ตำราที่คนไทยเขียนต่างจากตำราที่เขียนโดยคนต่างชาติไหมในแง่คุณภาพเชิงวิชาการ?

อาจารย์ต่างประเทศที่เขาเขียนตำรา แต่ละคนเขาใช้เวลาหลายปีในการเขียนต่อเล่ม เขียนทุกวัน อ่านทุกวันหาความรู้และคิดทุกวัน เป็นงานฟูลไทม์เลยการเขียนตำราแต่ละเล่ม ต้องเขียนเต็มเวลา ไม่ใช่งานเขียนนิยาย ต้องอ่านวันละ 3-4 ชั่วโมง เขียนวันละ 4-5 ชั่วโมง อย่างเล่มสามผมใช้เวลาอ่านมา 6 เดือนแล้ว เพิ่งเริ่มลงมือเขียนไปได้แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น เราต้องใช้เวลาอย่างนี้ ถ้าไม่ใช้เวลาอย่างนี้ไม่ว่าเป็นภาษาอังกฤษหรือไทย เราไม่มีทางได้ตำราที่ดี

การเขียนตำราทางวิชาการ ก่อนอื่น คนเขียนต้องรู้เรื่องก่อน ไม่ใช่ไปแปล มีตำราวิชาการในเมืองไทยเป็นจำนวนมากที่ผมว่าคนเขียนไม่รู้เรื่อง แต่ว่าแปลเอาเลย ถ้าอย่างนั้นคนอ่านก็ไม่มีทางรู้เรื่อง เพราะฉะนั้น คนเขียนต้องรู้เรื่องในสิ่งที่ตัวเองเขียนอย่างดี เพราะฉะนั้นมันต้องใช้เวลา การเขียนตำราอย่างนี้อย่างน้อยต้องใช้เวลาฟูลไทม์วันหนึ่ง 10 ชั่วโมง ปีหนึ่งเต็มๆ ถึงจะได้ ไม่อย่างนั้นไม่มีทาง ต้องทุ่มเท เพราะอย่างนั้นตำรามันถึงออกมาน้อยมาก อันนี้ผมเข้าใจเลย เพราะว่านักวิชาการเมืองไทยพอจบปริญญาเอกมา เริ่มที่จะทำงาน เริ่มที่จะเป็นผู้บริหาร ก็ไม่มีเวลาที่จะเขียนตำรา ตำราของเมืองไทยที่เขียนออกมา จะเห็นได้ว่าตำราวิชาการมีน้อย ทุกๆ สาขาขาดแคลนหมด เทียบกับต่างประเทศไม่ได้เลย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสำหรับอ่านเล่น บางคนเป็นรัฐมนตรีก็ไปเขียนไดอารี่ประสบการณ์ชีวิต ซึ่งมันง่ายและมันไร้ประโยชน์ ผมว่ามันไม่ค่อยสร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคม”

คุณเคยบอกว่า คุณค่าของวิศวกรนักวิจัยอยู่ที่การคิดค้นสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมา

ใช่ และผลิตภัณฑ์หรือความรู้ใหม่ๆ นั้นต้องมีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ทั้งโลก ผมเองเป็นผู้บริหารก็ไม่เคยชอบงานบริหาร ผมเป็นรัฐมนตรีผมก็ไม่ชอบงานรัฐมนตรีเลย แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ ทุกอย่างผมจะไม่ทิ้งคือเรื่องการทำวิจัยให้มีผลงานทางวิชาการ ถ้าทิ้งไปชีวิตผมก็จะไม่มีความหมายไปเลย ฉะนั้น ต้องมีใจตั้งมั่น กัดไม่ปล่อย เป็นเวลาตั้งแต่เรียนจบมาจนกระทั่งวันนี้ก็เกือบ 60 แล้ว ต้องทำแบบนี้ ซึ่งมันยากที่จะทำ หลายๆ คนเพื่อนผมพออายุสัก 30-40 ก็เริ่มไม่มีงานวิจัยแล้ว ตอนอายุเท่าผมก็เริ่มไปเลี้ยงหลานแล้ว ผมเองหนุ่มๆ ก็กินเหล้าเยอะ ทำอะไรเยอะแต่ว่าผมก็ไม่ยอมทิ้งงานพวกนี้ สุดท้ายก็กลับมาทำ

หากดูจากคำนำในหนังสือแล้ว ตำราเล่มหนึ่งของคุณน่าจะใช้เวลาเขียนช่วงระยะที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

ตอนนั้นผมเหลืออยู่ครึ่งบท ท่านนายกโทรมา ไปเป็นรัฐมนตรีเลยไม่ได้เขียนเลย พอลาออกมากว่าจะเริ่มได้เป็นเดือน เพราะยังขี้เกียจอยู่ ตอนเริ่มได้ก็พยายามเอาให้เสร็จ แล้วก็มานั่งรีไวส์ อีก

จริงๆ แล้วผมก็ได้เขียนมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้มันมีงานประจำเยอะแยะไปหมด พอผมเป็นอาจารย์อยู่ที่ลาดกระบัง ผมก็เป็นผู้บริหาร งานก็มีเยอะ พอลาออกมาตั้งมหาวิทยาลัยในระยะก่อร่างสร้างตัว งานก็เยอะแยะไปหมด เวลาน่ะมีแต่ไม่มีจิตใจที่จะเขียน มันไม่มีสมาธิจะเขียน พอระยะหลังผมก็ให้อาจารย์ท่านอื่นเข้ามาช่วยบริหาร ผมก็ไม่ได้บริหารแล้ว ก็เริ่มมีจิตใจมีสมาธิจะเขียน ก็เริ่มเขียน ตำราเล่มแรกที่เขียนก็ใช้ในการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ของผมด้วย ซึ่งผมเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนคนแรกที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เล่มแรกมันก็หนาพอสมควรและเป็นผลงานของผมครึ่งเล่ม แต่เล่มแรกก็อาจจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาน้อยหน่อย เพราะว่ามันค่อนข้างที่จะเป็นกรณีสำหรับนักวิจัยเป็นส่วนใหญ่ เล่มที่สองก็เป็นเรื่องที่วิศวกรทุกคนต้องใช้ ต้องมีความรู้ แต่ตำราในประเทศไทยที่ดีไม่มีเลย ก็ใช้เวลาเขียนอยู่เกือบสองปี จริงๆ ปีหนึ่ง เสียเวลาไปเป็นรัฐมนตรีปีหนึ่ง ตอนเป็นรัฐมนตรีไม่ได้จับเลย พอลาออกมาผมก็มาเขียนต่อให้เสร็จ ตอนนี้กำลังเขียนเล่มที่สามอยู่ ซึ่งเป็นเล่มที่มีความสำคัญมาก เกี่ยวกับ Quantum Mechanic ทุกอย่างในโลกนี้ถูกควบคุมโดย Quantum Mechanic หมด

งานเขียนชิ้นที่กำลังทำอยู่นี้ถือเป็น Master piece ของคุณเลยได้ไหม?

หวังว่าอย่างนั้น เป็นอนุสรณ์ชีวิตผมด้วยและเป็นวิทยาทานที่ดีด้วย ผมว่าการให้ทานแบบนี้ คือการให้ทานโดยการให้ความรู้ น่าจะเป็นการให้ทานที่ดีที่สุด

ความรู้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเข้าฌานมาได้ ต้องสะสม อย่างเล่ม 3 ผมก็สะสมตำราไว้เยอะเรื่อง Quantum Mechanic พอผมเริ่มเขียนผมก็ต้องเริ่มสั่งตำราเพิ่มเติมมาจากทั่วโลก ผมสั่งเข้ามา 300-400 เล่ม แล้วกว่าผมจะไปไล่อ่านทั้ง 300-400 เล่มหมด ว่ามีอะไรใหม่ มีมุมใหม่ที่จะพิจารณา มีอะไรที่น่าสนใจ มันต้องใช้เวลา ต้องมีสมาธิ ซึ่งผมก็อยู่ในสถานภาพที่ได้เปรียบคนอื่นแล้วตอนนี้ เพราะผมไม่ต้องทำงานประจำ

การเขียนตำราจะต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ สำหรับตัวผมเองเคล็ดลับอยู่ที่ว่า จะต้องเขียนทุกวัน วันไหนเขียนไม่ออก หน้าหนึ่งก็ยังดี เขียนทุกวันมันเหมือนน้ำหยดลงในถัง ลืมไปแป๊บเดียวน้ำก็เต็มถังแล้ว แต่ถ้าเราเอาประเภทที่ว่าขยัน 3-4 วัน เขียนอุตลุด หลังจากนั้นก็ขี้เกียจไม่เขียนเลย ก็เหมือนกับว่าเทน้ำลงถังแบบเป็นถังๆ ถังหนึ่งนี่เทไปเยอะแยะเลย หลังจากนั้นหยุดไปอย่างนั้นน้ำก็ไม่มีวันเต็มถัง ที่สำคัญคือต้องทำสม่ำเสมอ ให้เหมือนน้ำหยดลงถัง อันนั้นคือเคล็ดลับของผม

นอกจากผู้ที่ศึกษาทางด้านนี้โดยตรงแล้ว ตำรานี้คนทั่วไปที่มีความสนใจเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์สามารถอ่านได้ไหม?

ช่างทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ก็อาจจะอ่านได้ แต่ผมยอมรับว่าอ่านยาก อย่างที่ผมเขียนไว้ในอารัมภบทว่ามันค่อนข้างที่จะอ่านยาก ไม่ใช่นิยาย ผมเขียนก็เขียนยาก สมการแต่ละสมการบางทีเราเคยรู้ แต่ต้องมานั่งวิเคราะห์ใหม่ ผมเองก็ต้องใช้เวลาบางที เพราะฉะนั้น ถ้าความรู้คณิตศาสตร์น้อยหน่อย ก็จะไม่สามารถวิเคราะห์ได้ ต้องยอมรับข้อสรุปจากหนังสือ อย่างน้อยก็ยังมีประโยชน์อยู่

ทราบมาว่าคุณเป็นคนรักอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ แล้วรู้สึกขัดแย้งไหมเมื่อต้องมารับบทผู้บริหารที่ต้องวางกฎระเบียบให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตาม

ผมไม่ค่อย.. กฎระเบียบผมมักเป็นแบบประชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างงานที่กระทรวงล่าสุด ผมไปที่กระทรวงวันแรกผมก็บอกว่าห้ามเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่จำเป็น ตัวผมๆ ไม่ยอมไปต่างประเทศเลย ยกเว้นถูกบังคับไปเขมรวันหนึ่ง ห้ามผู้บริหารระดับสูงนั่งเครื่องบินชั้นหนึ่ง เพราะมันเปลืองโดยใช่เหตุ ต้องนั่งชั้นประหยัด ที่จอดรถที่มีป้ายของรัฐมนตรี ที่ปรึกษาอะไรเอาออก ทิ้งหมด ให้ทุกคนมาจอดได้หมด ผมวางเอาไว้เลย แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนหมดแล้วล่ะ มาพบผมไม่ต้องนัดล่วงหน้า ถ้าผมอยู่เดินเข้ามาได้เลย บอกเลขาหน้าห้องหน่อยแค่นั้นเอง แล้วงานรัฐมนตรีนี่น้อยมากเพราะผมมอบอำนาจให้หมด แล้วผมไม่เคยไปประชุมกับเขาเลย จะดูเฉพาะงานนโยบายเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า มาที่นี่ไม่มีที่จอดรถของผมเลย ทั้งที่ผมเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย ผมไม่ต้องการเรื่องพิธีรีตอง ทุกคนที่ผมมองมีอยู่ที่ผลงานเท่านั้น

ขออนุญาตถามเรื่องการเมืองบ้าง มีหลายคนอยากทราบว่าหลังลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไอซีที คุณใช้เวลาส่วนใหญ่ทำอะไร?

ก็เขียนหนังสือ ตีกอล์ฟ ยิงปืน ดื่มไวน์ มีอะไรอีกล่ะ...ไม่มีแล้ว (หัวเราะ)

จากประสบการณ์การเป็นรัฐมนตรีช่วงสั้นๆ อยากทราบว่าระหว่างวงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ กับการเมืองไทยอะไรซับซ้อนกว่ากันในสายตาคุณ

มันคนละแบบกัน วงการเมืองเมืองไทย จริงๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีอะไรแปลกใหม่ มันเป็นเรื่องของความโลภเป็นส่วนใหญ่ จริงๆ แล้วถ้าเราไปอ่านประวัติศาสตร์หรือนิยายโรมันดู ตอนผมเป็นรัฐมนตรีผมอ่านนิยายโรมันไป 7-8 เล่ม คือเป็นชีวประวัติแต่เขียนเป็นนิยายของจูเลียส ซีซาร์ ตั้งแต่เด็กจนโตจนเขาตาย มันเหมือนการเมืองไทยไม่มีผิด การหักหลังกัน การโกหก การโลภอะไร มันเหมือนกันไม่มีผิด มนุษย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง มนุษย์เหมือนกันหมดทุกเชื้อชาติ

หมายถึงอำนาจเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา?

แต่มันก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการ เหมือนอย่างผม ผมไม่ต้องการนะ ไม่ต้องการจริงๆ มันจะต้องมีคนซึ่งมีคำว่าพอ ไม่ใช่ว่าต้องการหาไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด แล้วอำนาจนี่ผมไม่ต้องการ เพราะการใช้อำนาจที่ได้มามันไม่สบายใจ ผมคงเป็นนักการเมืองที่ใช้ไม่ได้

ก้าวสู่ปีที่ 18 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ในฐานะผู้ก่อตั้งคุณตั้งเป้าหมายจะนำพาสถาบันไปสู่ทิศทางใด

ให้อยู่รอด ไม่เจ๊ง เพราะช่วงนี้สถานการณ์มันแย่ๆ การแข่งขันสูง มหาวิทยาลัยรัฐเกิดขึ้นเยอะแยะเป็นดอกเห็ด แต่ผมไม่ได้หวังอะไร ผมไม่เคยหวังว่ามันจะต้องเป็น...คืออยากทำให้ดีที่สุดน่ะครับ มันจะเป็นอะไรก็ไม่สำคัญ อยู่ได้ก็ได้ อยู่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อีกหน่อยผมก็ตายแล้ว ไม่กี่ปี จะไปเป็นห่วงอะไร ลูกผมก็ต้องทำมาหากินต่อไป ต้องสร้างของเขาเอง ผมก็ทำหน้าที่เลี้ยงดูเขาให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง เขาจะเป็นอะไรเป็นเรื่องของเขา ผมไม่เป็นห่วงหรอก ตายไปแล้วไม่ห่วงอะไร ตายไปแล้วไม่มีอะไรนะ ไม่มีวิญญาณ ทุกอย่างเป็นเรื่องไร้สาระหมดไม่มีอะไร




กำลังโหลดความคิดเห็น