“ไชยา” ความจำเสื่อมกำเริบ ลั่นไม่ล็อบบี้ “หมอพินิจ” นั่งเลขาฯ สปสช.แต่กลับทำหนังสือถามกฤษฎีกาโดยตรง
นายไชยา สะสมทรัพย์ กล่าวถึงการสรรหาตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ขอยืนยันว่า ตนจะไม่ล้วงลูก ขอให้สบายใจได้ เพราะหลายคนกังวลว่า ตนจะเข้าข้าง นพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม ซึ่งการ นพ.พินิจ ลงสมัครครั้งนี้ เนื่องจากครั้งที่ผ่านมาลงสมัครแต่ไม่ได้รับเลือกจึงอยากมาล้างตาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากในการประชุมคณะกรรมการบริหาร สปสช.เปิดเผยว่า มีการตั้งกระทู้ถามในที่ประชุมบอร์ดกับนายไชยา เกี่ยวกับกระแสข่าวที่นายไชยาต้องการให้ นพ.พินิจได้รับตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.ซึ่ง นายไชยา ได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่า จะไม่มีการล็อบบี้ หรือล้วงลูกใดๆ หากใครเป็นคนเก่ง คนดีมีความสามารถ และมีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นเลขาธิการ สปสช.ก็ยินดีด้วย
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า หนังสือของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เลขที่ สธ.0100.2/614 เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ลงนามโดย นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการขอความเห็น2 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นเกี่ยวกับการมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับ สปสช.ของแพทยสภา 2.ประเด็นเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มิอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในแพทยสภาในการสมัครเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.ตามมาตรา 32(12) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการของ สปสช.ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับสปสช.ภายในเวลา 1 ปี
นอกจากตีความกฎหมายตามตัวอักษรแล้ว การคำนึงถึงความมุ่งหมายของกฎหมายก้มีความสำคัญต่อการตีความกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง แพทยสภาจึงขอความเห็นว่า กรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแพทยสภา ต้องถูกจำกัดสิทธิดังกล่าวด้วยหรือไม่อย่างไร และ สธ.จึงใคร่ขอความกรุณามายังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อโปรดพิจารณาให้ความเห็นด้วย จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ลงนามท้ายหนังสือ
หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า เนื่องจากแพทยสภาเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มีฐานะเป็นนิติบุคคล และจากการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2550 เกี่ยวกับโครงการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยาและการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยา ประสานความร่วมมือกับภาคีสาธารณสุข ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา สภาการพยาบาล ภาคประชาชน ฯลฯ และเห็นควรของบประมาณสนับสนุนจาก สธ.และ สปสช.จึงได้ออกประกาศแพทยสภา วันที่ 9 สิงหาคม 2550 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยาจำนวน 22 ท่าน
“จนในวันที่ 28 ก.ย.แพทยสภา และ สปสช.ได้ทำข้อสัญญาทางวิชาการในนาม”สัญญาโครงสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยา และในวันที่ 24 ต.ค.สปสช.ได้ส่งเช็คงวดที่ 1 จำนวน 1.5 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อเกิดความชัดเจนและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น” หนังสือระบุ
แพทยสภาจึงขอหารือ 1.ในการขอความเห็นเกี่ยวกับการมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับ สปสช.ของแพทยสภา ว่า การที่แพทยสภาทำโครงการดังกล่าว โดยมีการทำสัญญาวิชาการเพื่อสนับสนุนโครงการถือว่ามีประโยชน์ได้เสียและเกี่ยวข้องกับมาตรา 32(12) หรือไม่ 2.ขอความเห็นเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของกรรมการ หรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจ ในการจัดการหรือมีส่วนได้ในแพทยสภาในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.ตามมาตรา 32 (12)
“ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 7 เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของแพทยสภา ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนได้ส่วนเสียกับอำนาจหน้าที่ของสปสช. ดังนั้นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในแพทยสภา จึงไม่ควรถูกตัดสิทธิโดยมาตรา 32 (12)”
อนึ่งนี้ในจำนวนผู้ลงสมัครตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.จำนวน 21 คน เมื่อพิจารณาด้านคุณสมบัติพบว่า มี 3 รายที่ยังไม่มีความชัดเจน ประกอบด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อายุ 52 ปี เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และอดีต รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นพ.พินิจ หิรัญโชติ อายุ 59 ปี ผู้อำนวยการ รพ.นครปฐม และกรรมการแพทยสภา และ นพ.อำนวย กาจีนะ อายุ 51 ปี ที่ปรึกษาระดับกระทรวงด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.แต่นายไชยากลับทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความ นพ.พินิจ เพียงผู้เดียว