xs
xsm
sm
md
lg

พุทธธรรมบำบัด (ตอนที่2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

• อารมณ์ทำให้เกิดโรค

วิถีชีวิตของคนทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก เราดำเนินชีวิตอย่างเร่งรีบ มีการแข่งขันสูงทั้งในด้านการเรียน การทำงาน การหางานทำยากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมไม่สู้ดี ค่าครองชีพสูงขึ้น เราต้องใช้เวลา ในการทำงานมากขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ทำ ให้เกิดความเครียดขึ้นอย่างมาก

ปัจจุบันเรามีเวลาออกกำลังกายกันน้อยลง รับประทานอาหารเนื้อสัตว์มากขึ้น รับประทานผักและผลไม้น้อยลง ทานอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลมาก อาหารมีสารเคมีเจือปนมาก การใช้ยาฆ่าแมลง การใช้สารกันบูดในการถนอมอาหาร การที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี อากาศมีมลภาวะสูง เสียงดังเกินไป มีความแออัดมาก รวมทั้งการใช้ยาต่างๆ ในการรักษาโรค ซึ่งอาจจะแพ้ยาได้หรือเป็นพิษต่อตับและไตได้

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนในยุคปัจจุบัน เป็นโรคต่างๆกันมาก ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าไปอย่างมากก็ตาม แต่โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็ยังไม่มีทีท่าจะลดน้อยลง
เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระเพาะอาหาร โรคหอบหืดและภูมิแพ้ต่างๆ โรคลำไส้อักเสบ โรคเครียด นอนไม่หลับ บางครั้งก็ถึงกับเป็นโรคจิต โรคประสาท อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมทั้งโรคเอดส์ และการใช้ยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้

อารมณ์ทำให้เกิดโรคได้
ร่างกายและจิตใจของคนเรา มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกกันไม่ออก เวลาที่ใจของเรามีความเครียด ความโกรธ หรืออารมณ์ในทางลบก็จะมีผลต่อร่างกายของเรา จิตใจของ เราจึงมีอิทธิพลมากต่อการเกิดโรคทางกาย

นพ. บรุซ แมคอีแวน (Bruce McEvan) จิตแพทย์แห่ง มหาวิทยาลัยเยล ได้รวบรวมงานวิจัยจำนวนมากพบว่า ความเครียดทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลงเป็นเหตุให้มะเร็ง
แพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้น ติดเชื้อไวรัสได้เร็วขึ้น เกิดไขมัน
อุดตันในเส้นเลือดที่หัวใจ เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มาเลี้ยง ทำให้อาการของเบาหวานเกิดขึ้นและอาการของโรคหอบหืดเลวลง เกิดอาการลำไส้อักเสบ(Ulcerative Colitis) นอกจากนี้ความเครียดที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานๆ ยังทำให้เซลล์สมองเสื่อมลง เป็นเหตุให้ความจำเสื่อมลง


เซลดอน โคเฮน (Shel- don Cohen) จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ได้ทำงานร่วมกับหน่วยวิจัยเกี่ยว กับไข้หวัดแห่งเมืองเชฟฟิลด์ (Sheffield) ประเทศอังกฤษ เขาพบว่าคนไข้ที่ได้รับเชื้อไข้หวัดทุกคน ไม่ได้เป็นไข้หวัดทุกคน ถ้าเขามีภูมิต้านทานดี และยังพบ ว่าคนที่มีความเครียดเล็กน้อยจะติดหวัดได้ร้อยละ 27 ในขณะที่ผู้ที่มีความเครียดมากจะติดเชื้อเป็นร้อยละ 47 เช่นเดียว กับคู่สมรสที่มีเรื่องทะเลาะเบาะ-แว้งกันบ่อยๆ เขาพบว่า ถ้าช่วงไหนที่มีการทะเลาะกันติดต่อกัน 3-4 วัน แล้วได้รับเชื้อหวัดก็จะติดหวัดทันที โดยเขาให้คู่สมรสเหล่านั้นจดบันทึกไว้ติดต่อ กัน 3 เดือน

นอกจากนั้นเขาพบว่า คนไข้ที่เป็นเริมบ่อยๆ ที่ริมฝีปากหรือ อวัยวะเพศ มักจะเป็นเริมในเวลาที่มีความเครียด โดยเขาวัดระดับแอนติบอดีในเลือด ซึ่งแสดงถึงภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสเริม (Herpes Virus) เขายังพบว่านักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะสอบปลายปี หญิงที่หย่าร้าง ใหม่ๆ หรือผู้ที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (Alzheimer diseases) มักจะมีเริมขึ้นบ่อยๆ เพราะเป็นช่วงที่มีความเครียดสูง

คราวนี้ เรามาดูผลของอารมณ์โกรธบ้าง ดร. จอห์น แบร์ฟูด (Dr. John Barefoot) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทคาร์โลไรนา ได้ศึกษาในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคหัวใจรุนแรง โดยทดสอบทางจิตใจเพื่อดูว่าคนไข้เป็นคนมีอารมณ์โกรธมากน้อยแค่ไหน และศึกษาความตีบแคบของเส้นเลือดหัวใจเปรียบเทียบกันดู เขาพบว่าผู้ป่วยที่มีอารมณ์โกรธมาก จะมี ขนาดเส้นเลือดตีบมาก คนที่เป็นคนใจเย็นเส้นเลือดจะตีบน้อยเป็นสัดส่วนโดยตรง

ดร. เรดฟอร์ด วิลเลี่ยม (Dr. Redford Willium) แห่งมหาวิทยาลัยดุกซ์ ได้ศึกษานักเรียนแพทย์ ในปี ค.ศ. 1950 โดยให้ทดสอบคะแนนความก้าวร้าว (Hostillity test) เพื่อจะคัดเอากลุ่มที่มีอารมณ์โกรธเรื้อรัง แล้วติดตามนักศึกษา แพทย์เหล่านี้ไป 20 ปี เขาพบว่า กลุ่มที่มีอารมณ์โกรธน้อย เสียชีวิตไป 3 คนในจำนวน 136 คน ส่วนในกลุ่มที่เป็นคน โกรธเรื้อรังตายไป 16 คน เขาพบว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเหล่านี้ตายก่อนอายุ 50 ปี ก็คือความเป็นคนมักโกรธนั่นเอง

เช่นเดียวกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาด พบว่า ปัจจัยที่เกิดขึ้นก่อนที่คนไข้โรคหัวใจจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกก่อนมาโรงพยาบาล 2 ชั่วโมง คือ ความโกรธ และจากการศึกษาคนไข้โรคหัวใจของมหาวิทยาลัยเยล และสแตนฟอร์ด พบว่า คนไข้ที่มีอาการทางหัวใจครั้งแรก (First
heart attact) ติดตามต่อไปอีก 10 ปี พบว่าคนไข้ที่มีอารมณ์โกรธง่าย จะมีอัตราตายสูง กว่าในกลุ่มที่ไม่โกรธง่าย ถึง 3 เท่า
และคนไข้โรคหัวใจที่ได้รับการเกื้อกูลทางจิตใจ (Emotional Support) จะมีอัตราตายลดลง 2 เท่าของ ผู้ที่ไม่มีการเกื้อกูลทางอารมณ์

เรามาดูเรื่องของโรคซึมเศร้าบ้าง การศึกษาผู้ป่วยสูงอายุ ที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก เนื่องจากข้อสะโพกหักจากการหกล้มของโรงพยาบาลเมาซ์ไซนาย นิวยอร์ค พบว่า ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการซึมเศร้า จะสามารถกลับมาเดินได้อีก เป็นปกติมากกว่ากลุ่มที่มีอาการซึมเศร้า 3 เท่า และสามารถ ฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตได้ตามเดิมเหมือนเมื่อกระดูกข้อสะโพกยังไม่หักถึง 9 เท่า

จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมอลทรีออล แคนาดา พบว่าโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการทางหัวใจครั้งแรก เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญถึงอัตราตายของคนไข้ในช่วง 6 เดือนแรก

ผลของอารมณ์ทางด้านดี
คราวนี้เรามาดูอารมณ์ในด้านที่ดีบ้าง เช่น อารมณ์ร่าเริง มีความสุข นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด พบว่า เมื่อให้อาสาสมัครดูภาพยนตร์ตลกสนุกสนานแล้ว เจาะเลือดดู พบว่าฮอร์โมนคอร์ติซอลลดลง เซลล์ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่า เมื่อให้อาสาสมัครดูภาพยนตร์ตลกแล้วเกิดหัวเราะขึ้น เมื่อเจาะเลือดดูจะพบว่า มีเซลล์ต้านทานชนิด ที-เซลล์ (T-cell) เพิ่มขึ้น

หรือการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม (Bresat cancer) จำนวน 36 คน พบว่า 7 ปีผ่านไป ผู้ป่วยเสียชีวิตไป 24 ราย พวกที่เหลือได้รับการตรวจสภาพทางจิตใจ พบว่า เป็นคนที่มีความสุขในการใช้ชีวิต

นพ.เดวิท สปีเจล (David Spiegel M.D.) แห่ง มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มหนึ่งให้การรักษาทางการแพทย์ตามปกติ อีกกลุ่มหนึ่งให้การรักษาตามปกติด้วยและจัดให้มีการพบปะรวมกลุ่ม (Group support) สัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ผู้ป่วยได้ มาพูดคุยกันเกี่ยวกับความรู้สึกถึงโรคที่เป็นอยู่ เกี่ยวกับการ ดูแลในครอบครัว ทำให้มีความรู้สึกว่าเป็นญาติมิตรกัน และเรียนรู้เรื่องการสะกดจิตตัวเอง (Self Hypnosis) เพื่อรักษาอาการปวดที่เกิดขึ้นและได้ศึกษาอัตราการตายของคนไข้ทั้งสองกลุ่มนี้พบว่า ใน 2-3 ปีแรก พวกที่ทำกลุ่มบำบัดเสียชีวิตช้ากว่าอีกกลุ่มหนึ่ง ติดตามต่อไปอีก 10 ปี พบว่า อัตราตายของกลุ่มที่มีกลุ่มบำบัดน้อยกว่าอีกกลุ่ม 2 เท่า

นอกจากนี้ ในเรื่องความรักความเมตตากรุณา (Loving kindness) นั้น ดร.เดวิท แมคคลีแลนด์ (Dr. David McClelland) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาด ได้ศึกษาโดยให้อาสาสมัครดูภาพยนตร์เกี่ยวกับแม่ชีเทเรซ่ากำลังดูแลคนยากจน อีกกลุ่มหนึ่งให้ดูภาพยนตร์เกี่ยวกับความโหดร้ายของนาซีเยอรมันสังหารชาวยิวในช่วงสงครามโลก ทำให้ผู้ชม เกิดอารมณ์โกรธแค้น ในกลุ่มที่ดูภาพยนตร์ที่ทำให้เกิดความรัก ความเมตตา เมื่อเจาะเลือดดูพบว่า มีการเพิ่มขึ้นของเซลล์ภูมิต้านทานชนิด ที-เซลล์ ในช่วงสั้นๆ และถ้าให้อาสาสมัครแผ่เมตตาต่อไป หรือทำเมตตาภาวนาต่อไปอีก 1 ชั่วโมง พบว่า ระดับ ที-เซลล์ จะเพิ่มอยู่นาน แสดงให้เห็นว่าอารมณ์ที่ดีมีผลต่อสุขภาพโดยตรง ทำให้ภูมิต้านทาน แข็งแกร่งขึ้น

มีการศึกษาในแง่ของคนที่มองโลกในแง่ดี (Optimism) กับคนที่มองโลกในแง่ร้าย (Pessimism) เป็นการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาดในปี 1940 นักศึกษาที่ฮาร์วาด ถูกแบ่ง เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มองโลกในแง่ดีกับกลุ่มที่มองโลกในแง่ร้าย โดยให้เขียนเรียงความอธิบายเหตุการณ์ในชีวิต หลังจากนั้นอีก 30 ปี นักศึกษาเหล่านั้นได้ถูกนำประวัติความเจ็บป่วยมาดู นักเรียนอายุเริ่มเข้า 50 ปี พวกที่มองโลกในแง่ร้ายจะเป็นโรคร้ายแรง หรือปัญหาทางสุขภาพมากกว่า พวกที่มองโลกในแง่ดี

ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน มีการศึกษาในผู้ป่วยทำผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ (Bypass Surgery) พบว่าคนที่มองโลกในแง่ดีมักไม่ค่อยมีอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดและฟื้นตัวได้ดีกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า อารมณ์มีผลต่อการเกิดโรค การหายของโรค และอัตราตาย ไม่โดยทางตรงก็โดยทางอ้อม ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์ได้แสดงให้เราเห็นอย่างเป็น รูปธรรม

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดยนพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น