xs
xsm
sm
md
lg

อภ.ได้ผู้รับเหมา รง.ยาเอดส์ ตอกเสาเข็ม มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภ.ได้ผู้รับเหมาสร้างโรงงานยาเอดส์แล้ว เริ่มตอกเสาเข็มมีนาคมนี้ เตรียมหาผู้รับเหมาอีก 3 บริษัท ทำระบบ เครื่องมืออุปกรณ์ คาดเสร็จสิ้นทุกกระบวนการได้รับ WHO GMP ถูกต้อง ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง

วันนี้ (17 ก.พ.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ว่า ขณะนี้ อภ.ได้บริษัทรับเหมาก่อสร้างโรงงานแล้ว คือ บริษัท เอ็มแอนด์ดับเบิลยูแชนเดอร์ (ไทย) จำกัด ซึ่งชนะการประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยได้เสนอราคา 148 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลางกำหนดไว้ที่ 160.7 ล้านบาท โดยขณะนี้ อภ.อยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติว่าจ้าง คาดว่า ผู้รับเหมาจะเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในเดือนมีนาคมนี้

นพ.วิทิต กล่าวต่อว่า สำหรับบริษัท เอ็มแอนด์ดับเบิลยู เป็นบริษัทที่จะรับผิดชอบในส่วนของโครงสร้างโรงงานเท่านั้น โดยจะก่อสร้างอาคาร 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร มีพื้นที่ 4 ตารางปิด (โมดูล) แบ่งเป็น 1.ส่วนผลิตยา ประกอบด้วย ผงเคมีผสม ตอกเม็ด เคลือบยา การประกันคุณภาพ 2.คลังเก็บยาเม็ดที่ผลิตเสร็จแล้ว 3.พื้นที่เก็บวัตถุดิบผลิตยา และ 4.พื้นที่ซ่อมบำรุง โดยโรงงานจะมีกำลังการผลิตสูงถึง 1,700-2,000 ล้านเม็ดต่อปี

“สำหรับการก่อสร้างจะใช้เวลานาน 10 เดือน ติดตั้งเครือจักรจนเริ่มผลิตได้อีกประมาณ 5 เดือน และหลักจากดำเนินการผลิต 3 เดือน จะเชิญเจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตรวจรับรองมาตรฐานต่อไป ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวจะเป็นโรงงานที่ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ชนิดเม็ด แคปซูล และยาอื่น รวม 36 รายการ โดยกำลังการผลิตจะสามารถผลิตได้กำละ 1,735 ล้านเม็ดต่อปี และขยายกำลังการผลิตในกรณีทำงาน 2 กะ ได้ผลผลิตประมาณ 3,470ล้านเม็ดต่อปี รวมระยะเวลาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนขอรับรอง WHO GMP เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน” นพ.วิทิต กล่าว

นพ.วิทิต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 950 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 4 เฟส ทั้งนี้ นอกจากการก่อสร้างโรงงานแล้วรวมถึงงานสถาปัตยกรรม และงานระบบภายใน ทั้งน้ำ ไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในโรงงาน ประมาณ 100 กว่าล้านบาท ซึ่งจะสามารถเปิดประกวดราคาได้ภายใน 2-3 เดือน สำหรับเทคโนโลยีการผลิตได้รับการถ่ายทอดมาจากประเทศอินเดีย ดังนั้น อภ.จะต้องเสาะหาผู้รับเหมา และเปิดให้มีการประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อีก 3 บริษัท รับผิดชอบในแต่ละส่วน

กำลังโหลดความคิดเห็น