กรมศิลปากรตอก “หมุดกึ่งกลาง” สร้างพระเมรุแล้ว เผยตรงกับประตูกลางตึกถาวรวัตถุหน้าวัดมหาธาตุฯ หรือพระที่นั่งทรงธรรมในสมัย ร.5 หันหน้าพระเมรุไปทางทิศตะวันตก พร้อมเผยขณะสำรวจฤกษ์ดีแดดล่มเป็นที่น่าอัศจรรย์
วันนี้ (1 ก.พ.)นายไพบูลย์ ผลมาก ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมเจ้าหน้าที่ได้สำรวจพื้นที่สนามหลวงบริเวณทิศใต้ เพื่อกำหนดจุดกึ่งกลางของพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมทั้งแนวกั้นรั้วสังกะสีสีเขียวกันเป็นพื้นที่หวงห้ามเฉพาะด้วย
นายไพบูลย์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้กำหนดจุดกึ่งกลางของพระเมรุที่แน่ชัดแล้ว รวมทั้งได้ตอกหมุดเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงไว้ด้วย โดยการกำหนดจุดกึ่งกลางของพระเมรุ ทางสำนักสถาปัตยกรรมยึดตามโบราณราชประเพณี โดยจะใช้ประตูกลางของตึกถาวรวัตถุบริเวณหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ หรือพระที่นั่งทรงธรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเกณฑ์กำหนดจุดกึ่งกลางพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยจะหันหน้าพระเมรุไปทางทิศตะวันตกตรงข้ามกับพระที่นั่งทรงธรรมสมัยรัชกาลที่ 5
ทั้งนี้ เมื่อกำหนดจุดกึ่งกลางพระเมรุได้แล้วจะสามารถกำหนดจุดอาคารประกอบต่างๆโดยรอบได้ด้วย อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม จะสร้างบริเวณทิศตะวันตกหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตรงข้ามกับพระเมรุ เป็นต้น
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ยังได้ทำการวัดพื้นที่โดยรอบสนามหลวง ตั้งแต่บริเวณถนนกึ่งกลางสนามหลวงวนรอบไปทางทิศใต้จนถึงหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เพื่อกำหนดจุดล้อมรั้วสังกะสีสีเขียว เพื่อให้เป็นพื้นที่หวงห้ามเฉพาะในการจัดสร้างพระเมรุ ซึ่งขณะนี้บริษัทผู้รับเหมา ได้เตรียมพร้อมวัสดุอุปกรณ์ในการจัดสร้างรั้วมายังพื้นที่สนามหลวงแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 วันจะดำเนินการแล้วเสร็จ ในขณะเดียวกัน ระหว่างที่ช่างกำลังจัดสร้างรั้วสังกะสีนั้น ตนได้ประสานกับ สน.ชนะสงคราม นำรั้วเหล็กมากั้นโดยรอบสนามหลวงไว้ก่อน เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยและป้องกันประชาชนในบริเวณดังกล่าวเข้ามายังพื้นที่ก่อสร้าง
“หลังจากมีการสร้างรั้งสังกะสีแล้ว สำนักสถาปัตยกรรมจะดำเนินการก่อสร้าง อาคารสร้างพระโกศจันทน์ อาคารปั้นหล่อลวดลาย และอาคารขยายแบบพระเมรุ ส่วนเรื่องปัญหานกพิราบในสนามหลวง คิดว่า เมื่อมีการก่อสร้างและมีคนงานเข้ามาทำงาน นกเหล่านี้น่าจะลดลง เพราะมีเสียงรบกวนและคนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงเช้าก่อนที่ผมจะออกมาสำรวจพื้นที่กำหนดจุดกึ่งกลางพระเมรุ ปรากฏว่ามีฝนตกมาโปรยปราย และเมื่อมายังสนามหลวง ปรากฏว่าจากที่แดดแรงอยู่กลับมีเมฆมาบังทำให้แดดล่ม ตลอดที่มีการสำรวจกำหนดจุดพระเมรุ ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีในการทำงาน” ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม กล่าว
ด้านนายปรารพ เหล่าวานิช รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ในเบื้องต้น กรมศิลปากร ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจท้องสนามหลวงด้านทิศใต้ในส่วนที่จะใช้จัดสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว พบพื้นที่บริเวณนี้ ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดกีดขวาง จึงสามารถพร้อมดำเนินการปรับพื้นที่ในการจัดสร้างพระเมรุได้อย่างสะดวก ส่วนรายละเอียดรั้วที่กั้นรอบสนามหลวงนั้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวจะต้องมีการก่อสร้างพระเมรุ รวมทั้งจะต้องมีอาคารขยายแบบซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร นอกจากจะเป็นการรักษาความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ หรือดูแลสิ่งของประกอบการจัดสร้างพระเมรุ ตลอดจนเป็นการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนแล้ว จะต้องไม่บดบังทัศนียภาพการมองเห็นจากข้างนอกของประชาชนด้วย
“เมื่อครั้งการจัดสร้างพระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้มีการเตรียมพร้อมมาตรฐานความปลอดภัยค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการนำรถดับเพลิงและตำรวจ มาประจำในพื้นที่ ซึ่งในครั้งนี้กรมศิลปากรได้เตรียมประสานรถดับเพลิง ตำรวจ มาประจำบริเวณพระเมรุตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนบริเวณท้องสนามหลวงทางด้านทิศเหนือยังคงเปิดให้ใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และพระราชพิธีต่างๆ ตามปกติ”
นายปรารพ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการจัดสร้างพระเมรุทาง น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานออกแบบและจัดสร้างพระเมรุ และนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะมากำหนดตำแหน่งของอาคารต่างๆ ว่า จะมีการวางแผนผังและการจัดวางอย่างไรในพื้นที่ รวมถึงสำรวจความพร้อมของพื้นที่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง คิดว่าเรื่องพื้นที่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะกรมศิลปากรมีความชำนาญและคุ้นชินกับพื้นที่สนามหลวงอยู่แล้ว