xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอบุก ก.พาณิชย์ “รับไม่ได้” ผลสรุปแอ็บบอตฯ ถอนขึ้นทะเบียนยาเอดส์‏ไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอ็นจีโอเอดส์ บุก ก.พาณิชย์ “รับไม่ได้” คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าสรุป แอ็บบอตฯ ถอนขึ้นทะเบียนยาเอดส์ใหม่กับ อย.ไม่ผิด เตรียมฟ้องศาลปกครองอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ด้านอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุ คำตัดสินถึงที่สุดแล้ว พิจารณาไปตามกฎหมายทุกประการ ท้าไม่พอใจฟ้องร้องเอา

วันนี้ (17 ม.ค.) ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และคณกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ราว 80 คน เดินทางมายังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี เพื่อยื่นหนังสือและขอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาทบทวนผลการพิจารณากรณีที่บริษัทยาแอ็บบอตลาบอแรตอรีส จำกัด ถอนการขึ้นทะเบียนยาจำนวน 7 ราย รวมถึงยาต้านไวรัส อลูเวีย กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาที่ สธ.ได้ประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) เมื่อช่วงต้นปี 2550 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการการแข่งขันการค้าลงความเห็นการกระทำของแอ็บบอตฯ ไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การยกเลิกคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาของบริษัท แอ็บบอตฯ ถือเป็นการใช้สิทธิและมีเจตนาโดยไม่สุจริต เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายบังคับทางตรงหรือทางอ้อมอย่างไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่เป็นลูกค้าต้องจำกัดบริการ หรือจำหน่ายสินค้า หรือต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อ และการที่บริษัทแม่ห้ามบริษัทลูกในประเทศไทยจัดจำหน่ายก็เข้าข่ายการกระทำที่เป็นอิทธิพล ซึ่งถือว่าผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดตามมาตรา 25(3) ใน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 จึงต้องการให้คณะกรรมการทบทวนคำพิจารณาดังกล่าว เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ

“ความเป็นจริงแล้วการกระทำของบริษัท แอ็บบอตฯ เป็นการตอบโต้ไทยหลังจากที่ สธ.ประกาศใช้ซีแอลกับยาต้านไวรัสอลูเวีย แต่คณะกรรมการการแข่งกันทางการค้า กลับตัดสินว่าแอ็บบอตฯไม่ผิด ดังนั้น ในอีก 2 สัปดาห์หน้ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรทางด้านเอดส์จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองด้วย” น.ส.สารี กล่าว

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่กรมการค้าภายในออกประกาศ ว่า ธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องเป็นธุรกิจที่มีส่วนแบ่งการตลาด 50% ขึ้นไป และมียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทขึ้นไป ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ในหลายประเทศใช้กัน รวมถึงไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างมาก และประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ดังกล่าวยังถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญไทยในมาตรา 84 วรรค 5 เรื่องการแข่งขันการค้าอย่างเป็นธรรม

“ดิฉันรู้สึกอายมากที่นักกฎหมายของไทยเองกลับตีความเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งที่ได้นำกรณีดังกล่าวไปให้นักกฎหมายประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา ตีความว่า การกระทำดังกล่าวของบริษัท แอ็บบอตฯ เข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ กลับเห็นตรงกันว่า เข้าข่าย ซึ่งผิดต่อกฎหมายของไทย แต่นักกฎหมายของไทยเองกลับเห็นอีกอย่าง ไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้ว่าตีความตามกฎหมายแล้วยังไม่เข้าข่าย แต่ถ้าเป็นด้านมนุษยธรรม หรือความถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องพูดถึง” น.ส.สารี กล่าว

ขณะที่ นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การพิจารณาดังกล่าวของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าถือเป็นที่สิ้นสุด และการพิจารณาล้วนเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ หากฝ่ายที่เรียกร้องไม่พอใจสามารถนำไปฟ้องร้องตามกระบวนการของกฎหมายได้ ส่วนข้อเสนอของฝ่ายเรียกร้องต่างในการให้แก้ไขระบบการพิจารณาเรื่องยานั้น ในฐานะกรมการค้าภายในเป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ ยินดีที่จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาฯพิจารณา แต่ทั้งนี้ ไม่รับปาก ว่า คณะกรรมการจะเห็นด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการ

“การที่บริษัทยามาถอนการขึ้นทะเบียนยาจาก อย.นั้น เป็นสิทธิของเขา ซึ่ง อย.ไม่ได้บังคับว่าหากขึ้นทะเบียนยาแล้วจะต้องออกจำหน่าย เป็นสิทธิของเขาว่าจะขึ้นทะเบียนไว้ แต่ไม่จำหน่ายก็ได้ เหมือนกับยื่นเรื่องขอจดทะเบียนสมรส แต่ไม่ยอมไปจด ทำให้ตอนนี้พวกลูกๆ ที่เสียผลประโยชน์ออกมาเรียกร้อง และการถอนคำขอนั้นก็ไม่ได้เป็นการจำกัดโอกาสของผู้บริโภคแต่อย่างใด เพราะยานั้นยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว” นายยรรยง กล่าว

นายยรรยง กล่าวอีกว่า ในส่วนที่ฝ่ายเรียกร้องได้เสนอให้มีการปรับเกณฑ์ของธุรกิจที่เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดนั้น เพราะปัจจุบันระบุว่า ธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดจะต้องมีส่วนแบ่งการตลาด 50% และมียอดขาย 1 พันล้านบาทขึ้นไปนั้น เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันได้ ซึ่งเตรียมเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอาจมีการแยกสินค้าแต่ละชนิดที่มีความจำเป็นต่อสังคม สาธารณสุข คุณภาพชีวิตในการสร้างหลักเกณฑ์เฉพาะด้าน แต่ส่วนที่มีความเห็นต่อตัวคณะกรรมการที่มาจากภาคธุรกิจก็คงไม่สามารถก้าวล่วงได้ เพราะจริงๆ แล้วคณะกรรมการนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลสินค้าที่ส่วนใหญ่เป็นอุปโภคบริโภคทั่วไป

“ในอนาคตเร็วที่สุดอาจจะมีการพิจารณาให้ยามีหลักเกณฑ์การพิจารณาธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดต่างจากสินค้าอื่น แต่ในเมื่อธุรกิจยาทุกชนิดมีทั้งสิ้น 7.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มียาต้านไวรัสเอดส์ทุกสูตรเพียง 2.7 พันล้านบาท และในจำนวนยาต้านไวรัสเอดส์ทั้งหมดมียาต้านไวรัสเอดส์สูตรสำรองเพียง 1.3 พันล้านบาท ดังนั้น การจะแยกให้พิจารณาว่าธุรกิจใดมีอำนาจเหนือตลาดเฉพาะยาต้านไวรัสเอดส์สูตรสำรองนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะเหมือนกับว่าจะแยกได้อย่างไรว่า เหล้า เบียร์ ไวน์ เมาแตกต่างกันอย่างไร” นายยรรยง กล่าว

ทั้งนี้ ระหว่างที่ นายยรรยง กำลังชี้แจงกลุ่มผู้เรียกร้องว่า การขอขึ้นทะเบียนขอบริษัท แอ็บบอตฯไม่ใช่การขัดการจำหน่ายการนำเข้ายาแต่อย่างใด เพราะเป็นการถอนการขอขึ้นทะเบียน ไม่ใช่การถอนทะเบียนยาแต่อย่างใด หลังที่นายยรรยงพูดจบ น.ส.สารี สวนทันทีว่า รับไม่ได้

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวเสริมว่า กรมการค้าภายในมองว่าธุรกิจจะมีอำนาจเหนือการตลาดได้ต่อเมื่อมีเรื่องส่วนแบ่งการตลาด และยอดจำหน่ายมาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เครือข่ายด้านองค์กรเอดส์ไม่ได้มองเรื่องมูลค่า ไม่ได้มองเรื่องการตลาด แต่มองเรื่องของชีวิต ทั้งนี้ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคได้ระบุว่า หากดื้อยาต้านไวรัสเอดส์สูตรพื้นฐานแล้วจำเป็นต้องทานยาสูตรสำรองอลูเวีย ถ้าไม่กินยาก็ตาย และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีงบประมาณ 3 พันล้านบาท จะให้มาซื้อยานี้เพียงอย่างเดียวก็คงไม่พอ
กำลังโหลดความคิดเห็น