xs
xsm
sm
md
lg

ครม.และส.ส.แตกแถว : เหตุให้ปรับครม.และยุบสภา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แวดวงการเมืองไทยได้เกิดเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น 2 เรื่อง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วภาพลักษณ์การเมืองโดยรวมได้ตกเป็นเหยื่อแห่งการวิพากษ์ในเชิงลบของบรรดาสื่อมวลชน และนักวิชาการทั้งหลายที่อยากเห็นการเมืองไทยมีมาตรฐานทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายทั้งปวง ทั้งในด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่นักการเมืองจะต้องมี และจะต้องเป็นในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนในระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

สองเรื่องที่ว่านี้ก็คือ

1. ครม.เกิดความขัดแย้งกันในเรื่องการคัดเลือกบริษัทเอกชนเข้ามาทำหน้าที่ระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รัฐบาลรับซื้อไว้ในราคาประกัน โดยมีนางพรทิวา นาคาศัย รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าของเรื่องนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุม ครม.

แต่เมื่อเรื่องนี้ได้ถูกนำเข้าที่ประชุม ปรากฏว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แสดงความเห็นคัดค้านตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นนิติบุคคล ไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมกันนี้ได้ขอให้นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายในชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเซ็นสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรในโครงการรับจำนำเป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์

ถึงตอนนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ถามกลับว่า ถ้าเป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นพร้อมจะรับผิดชอบหรือไม่ ถ้าอยากได้อำนาจก็เอาความรับผิดชอบไปด้วย เนื่องจากการขายข้าวโพดทำอย่างไรก็ขาดทุน แต่นายยรรยง ไม่ตอบ นายกฯ จึงได้ถามว่ามีอะไรชี้แจงอีกหรือไม่ จากนั้นจึงกล่าวขอบคุณ พร้อมกับโบกมือให้ออกไปจากที่ประชุม

2. ในการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ได้เกิดข้อขัดแย้งระหว่าง ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุที่ว่า

เมื่อประธานสภาได้ให้มีการนับองค์ประชุม และได้มี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยขออนุญาตเดินตรวจการเสียบบัตรแสดงตนว่ามีการกดแทนกันหรือไม่ และเมื่อทางผู้ขออนุญาตพูดจบ ทาง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ท่านหนึ่งได้ลุกขึ้นตะโกนด่าโดยใช้นามของสัตว์ขึ้นมาเปรียบเทียบกับคน พร้อมกับกวักมือให้มาตรวจบัตรของตัวเอง จึงเกิดการตอบโต้กันขึ้นและมีความวุ่นวายตามมา

จากทั้ง 2 เรื่องจะเห็นว่าไม่ควรจะเกิดขึ้นถ้าทุกฝ่ายเคารพเหตุผล และมีเจตนาทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

เริ่มด้วยการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะเห็นได้ชัดว่า รมว.กระทรวงพาณิชย์ยึดติดอำนาจและผลประโยชน์ของกระทรวงที่ตนเองเป็นอยู่ โดยไม่ดูว่าการทำงานของรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้ง ครม.ในฐานะเป็นรัฐบาลร่วมกัน จะอ้างเพียงว่ากระทรวงเป็นนิติบุคคล และเจ้ากระทรวงมีอำนาจลงนามอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำงานในฐานะเป็นเจ้ากระทรวง โดยไม่ดูขั้นตอนว่าการลงนามจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน นั่นแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของคนเป็นรัฐมนตรีว่ามองงานไม่ครอบกระบวนการ แต่จับเอาขั้นตอนที่ตนเองเกี่ยวข้องขึ้นมาโต้แย้ง

ครั้นนายกฯ ได้พูดถึงเหตุผลและกระบวนการทำงานร่วมกัน เป็นกระบวนการในฐานะฝ่ายบริหารที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน กลับไม่กล้ายืนยันความผิดของตัวเอง และยังนำเอาข้าราชการประจำเข้ามาเป็นพวกเพื่อหักร้างผู้นำรัฐบาล ในทำนองสอนหนังสือสังฆราช จึงน่าจะเป็นเหตุให้สื่อพากันลงข่าวว่า นายกฯ ตะเพิดอธิบดีกรมการค้าภายในออกจากห้องประชุม

ส่วนทางด้านนายกฯ และรองนายกฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ ก็มีประเด็นที่น่าจะได้หยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ที่ว่า เมื่อมีการจัดตั้งกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใหม่ ทำไมจึงไม่มีการออกมติยกเลิกกรรมการชุดเก่าที่จัดตั้งในรัฐบาลชุดก่อน และปล่อยให้ทำงานซ้ำซ้อนกัน และน่าจะมีประเด็นข้อกังขาทางกฎหมายว่า เมื่อไม่มีการยกเลิกกรรมการชุดเก่า กรรมการชุดใหม่ที่ตั้งขึ้นจะเป็นโมฆะหรือไม่ ถ้าเปรียบเทียบกับนิติกรรมเดียวกับการจดทะเบียนสมรส ที่ระบุให้การจดทะเบียนภายหลังต้องเป็นโมฆะเมื่อมีการฟ้องร้องกันถึงขั้นศาล

ด้วยเหตุนี้ ประเด็นขัดแย้งในเรื่องข้าวโพดที่เกิดขึ้นถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องทั้งในแง่กฎหมาย และในแง่บริหารที่ควรจะได้มีผู้รับผิดชอบดูแลแก้ไข และป้องกันให้รอบคอบกว่านี้

ส่วนประเด็นข้อขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎรถือได้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย และเป็นพฤติกรรมปัจเจกบุคคลของคนสองคนที่กระทำลงไปโดยขาดการไตร่ตรองให้ดีก่อน

แต่เรื่องเล็กที่ว่านี้จะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะจะนำไปสู่การแบ่งพวกแบ่งกลุ่มแล้วเผชิญหน้ากันทุกครั้งที่มีการประชุมร่วมกัน

เหตุเกิดทั้ง 2 ประการดังกล่าวแล้วข้างต้น ถ้าดูในแง่ของการเมืองโดยรวมแล้วจะเป็นสัญญาณบ่งบอกทิศทางการเมืองบ้างหรือไม่?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเชื่อว่ามีและน่าจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ด้วย

ส่วนว่าจะมีอย่างไรนั้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูภาวะแวดล้อมทางการเมืองต่อไปนี้

1. การต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาลของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจเก่าในช่วง 8-15 เมษายนที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลว และค่อนข้างจะพูดได้ว่าการต่อสู้ในทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกได้ยาก และนี่เองที่จะเป็นจุดเปลี่ยนจากการต่อสู้ด้วยการจัดกิจกรรมขับไล่บนท้องถนน มาเป็นการตีรวนในสภาโดยอาศัยกำลัง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และมีแนวร่วมจากพรรคอื่นบางส่วนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบีบให้รัฐบาลยุบสภา อันเป็นการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ต่อสู้ทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง ถ้าชนะก็เท่ากับว่าโอกาสที่กลุ่มอำนาจเก่าจะคืนชีพเกิดขึ้นได้

2. ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ โอกาสที่คนกลุ่มเสื้อแดงจะหาประโยชน์จากนายทุนที่หนุนการเลือกตั้งก็มีขึ้นได้อีกครั้ง

ด้วยเหตุที่ว่ามานี้การตีรวนในสภาจึงเกิดขึ้น และเชื่อว่าจะเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ และในขณะเดียวกันพรรคร่วมรัฐบาลก็จะเริ่มหาทุนเพื่อการเลือกตั้ง โดยการเริ่มทำโครงการที่เห็นว่าได้ทั้งเงินและกล่อง เพื่อเป็นทุนในการเลือกตั้ง

ถ้าแนวคิดที่ว่ามานี้ถูกต้อง โอกาสที่รัฐบาลจะปรับ ครม.และยุบสภาก็อยู่ไม่ไกลแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น