xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ตั้งอนุไต่สวนฟันโฆสิตเอื้อบริษัทเหมืองแร่‘ผาแดง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป.ป.ช.ตั้งอนุฯไต่สวน “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม เอื้อบริษัทเหมืองแร่ “ผาแดง” ส่วน “สนธิ” จดทะเบียนสมรสซ้อนไม่รับคำร้องระบุเป็นความผิดอาญาส่วนตัว “อุดม” ยันสั่งฟ้องแก๊งงาบหวยบนดิน 47 รย หากอัยการมีมติแตกต่างต้องตั้ง กก.ร่วมพิจารณา สำหรับคดีรถดับเพลิงฉาย คตส.ยังฟัน “อภิรักษ์” ไม่ลง อ้างผู้ขายให้การกลับกรอกเปิดแอลซี ด้านที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือก “วัฒนชัย-เกรียงชัย” เป็นองค์คณะคดีทุจริตที่ดินรัฐดาฯ “แม้ว-อ้อ”

นายกล้านรงค์ จันทิกโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.)แถลงผลการประชุมวานนี้ (15 ม.ค.) ว่าตามที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะได้มีหนังสือกล่าวหา นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในฐานะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม มีหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแล หรือตรวจสอบหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมทั้ง ในฐานะประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยตำแหน่ง กระทำการช่วยเหลือบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐให้ทำเหมืองแร่ ให้ได้รับการผ่อนผันจาก ครม. ในการใช้พื้นที่ป่าไม้ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่สังกะสี ในอำเภอแม่สอด จ.ตาก และต่ออายุประทานบัตรให้บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ทำเหมืองแร่สังกะสีต่อไปได้

โดยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเห็นว่าคำกล่าวหาดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ประชุมจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป โดยมอบหมายให้ตนเป็นประธานอนุกรรมการ

ไม่รับคำร้อง“สนธิ”จดทะเบียนสมรสซ้อน

นายกล้านรงค์ แถลงอีกว่า ตามที่ตัวแทนกลุ่มพิราบขาว 2006 ได้มีหนังสือกล่าวหา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี ว่าขณะมียศร้อยโท ได้จดทะเบียนสมรสกับ นางสุกัลยา บุญยรัตกลิน และนางวรรณา บุญยรัตกลิน และขณะมียศร้อยเอก ได้จดทะเบียนสมรสกับ นางปิยะดา บุญยรัตกลิน ซึ่งเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน อันเป็นการกระทำผิดกฏหมาย

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นแล้วว่า เรื่องนี้เป็นการกล่าวหา พล.อ.สนธิ กระทำการจดทะเบียน สมรสซ้อน ซึ่งเป็นการกระทำผิดอาญาในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องกล่าวหาว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ ตามกฏหมายอื่น คำกล่าวหาดังกล่าวจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์มาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่กรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการต่อไปได้ ที่ประชุมจึงมีมติไม่พิจารณา

“อุดม”ยังไม่พูดอัยการตัดเอาผิดหวย

นายอุดม เฟื่องฟุ้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่รัฐ (คตส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีการออกสลากพิเศษแบบ เลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คณะทำงานอัยการพิจารณาคดีหวย 3 ตัว 2 ตัว ของอัยการสูงสุด มีความเห็นให้สั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ เฉพาะ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นาย วราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวยงการคลัง ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่า คตส. คงยังให้ความเห็นอะไรไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับทราบความเห็นของฝ่ายอัยการอย่างเป็นทางการว่า เห็นชอบกับข้อพิจารณาของ คตส. ในคดีนี้อย่างไร

"เรื่องนี้ผมคงให้ความเห็นอะไรไม่ได้ เพราะขณะนี้อัยการยังไม่ได้มีมติอะไรอย่างเป็นทางการ และหากพูดไปจะกลายเป็นว่า คตส.ชี้นำศาล แต่ผมจะพูดเรื่องนี้หลังจากที่ทราบมติ ของอัยการอย่างเป็นทางการแล้ว ดังนั้นจึงต้องรอผลสรุปของอัยการสูงสุดที่จะส่งให้ คตส.ในวันที่ 18 ม.ค.นี้อย่างเป็นทางการก่อนจากนั้นจะมีการนำ ผลสรุปเข้าสู่ที่ประชุม คตส.ใหญ่อีกครั้งในวันที่ 21 ม.ค.ว่า คตส.เสียงส่วนใหญ่จะเห็นด้วยตามข้อสรุปของอัยการสูงสุดหรือไม่ หากเห็นตรงกันเรื่องก็เดินหน้า แต่หากไม่ตรงกันก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมกรร่วมเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป โดยมีระยะเวลาทำงานภายใน 30 วัน"

ผู้สื่อข่าวถามว่า คตส.ยืนยันดำเนินการสั่งฟ้องกับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 47 รายใช่หรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า ในส่วนของ คตส.ได้ตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริง รวมถึงพยานเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้ว จึงเห็นควรให้สั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 47 คน ส่วนอัยการจะพิจารณาอย่างไร ก็เป็นสิทธิ์ของอัยการสูงสุด คตส. คงไปก้าวล่วงอะไรไม่ได้ ถือเป็นอิสระในการทำหน้าที่

คตส.ยังไม่ฟัน“อภิรักษ์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกันมีการประชุมคณะอนุกรรมการ ไต่สวนกรณีการจัดซื้อเรือแลถรถดับเพลิง กทม. โดยมีนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นประธาน

ภายหลังการประชุม นายนาม เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณา ในส่วนที่เกี่ยว ข้องกับนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เพียงรายเดียว โดยนำข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดมาพิจารณา โดยเฉพาะหลักฐาน การเปิดแอล/ซี ว่านายอภิรักษ์ มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องและมีความผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะจากการให้ ถ้อยคำของผู้ขายรถ-เรือดับเพลิงจำนวน 2 ครั้ง ยังให้ข้อมูลกลับไปกลับมาไม่ตรงกัน เช่นเรื่องของการเปิดแอล/ซี ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาว่าส่วนไหนเป็นข้อเท็จจริงกันแน่ และจะส่งผลต่อนายอภิรักษ์ อย่างไรบ้าง แต่ที่ประชุมต้องคำนึงถึง“เถยจิต” คือจิตเป็นโจรหรือไม่ อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการไม่อย่ากเร่งรีบพิจารณา โดยถือคติว่าช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม

นายนาม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้พิจารณา ในส่วนของคุณหญิงณฐนนท ทวีศิลป์ อดีตปลัด กทม.จนได้ข้อสรุปชี้มูลเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเสนอต่อที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ได้ เนื่องจากต้องรอผลสรุปกรณี นายอภิรักษ์ และนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อน โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุม คตส.ในคราวเดียวกัน

ทั้งนี้ในวันที่ 17 ม.ค. คณะอนุกรรมการฯ ได้นัดพยานในส่วนที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาอ้างถึง เข้าให้ถ้อยคำ เพิ่มเติมจำนวน 6 ปาก โดยหนึ่งในนั้นจะมี พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ประธานคณะกรรมการสอบสวนคดีดังกล่าวของดีเอสไอ

ตั้งวัฒนชัย- เกรียงชัยองค์คณะที่ดินรัชดา

ที่ศาลฎีกา สนามหลวง เมื่อ 09.30 น. วันเดียวกัน นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา และผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา จำนวน 2 คน เป็นองค์คณะผู้พิพากษา เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก มูลค่า 700 ล้านบาทเศษ

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 13 และ ม.14 (2) ด้วยวิธีลงคะแนนลับ โดยผู้พิพากษาในองค์คณะเดิม 2 คน คือ นายวสัตน์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในศาลฎีกา และนายสุรชาติ บุญศิริพันธ์ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในศาลฎีกา ซึ่งทั้งสองพ้นจากตำแหน่ง โดยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์

ทั้งนี้ ผลการลงคะแนนเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ปรากฏว่า นายวัฒนชัย โชติชูตระกูล รองประธานศาลฎีกา และนายเกรียงชัย จึงจตุรพิธ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ได้รับเลือก

ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาจะปิดประกาศรายชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาแทนองค์คณะผู้พิพากษาเดิมไว้ที่หน้าศาลฎีกาให้คู่ความทราบ เพื่อยื่นคำร้องคัดค้านตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 4 ต่อไป ทั้งนี้องค์คณะผู้พิพากษานัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 23 ม.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น