กรมศิลปากร ประสานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ขอดอกไม้จากดอยตุง ประดับในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พร้อมเปิดตัวสัตว์หิมพานต์ทวิบาท ประดับเชิงบันไดพระเมรุ ส่วนประเภทจตุบาท ประดับสวนโดยรอบ พร้อมขอให้กระทรวงทรัพย์ จัดหาไม้จันทน์หอมเพื่อจัดทำพระโกศ ตั้งคณะทำงาน 13 ชุด เดินงานพระเมรุเต็มที่ ส่วนเว็บไซต์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สามารถเปิดเข้าชมได้แล้ว
นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร แถลงความคืบหน้าการก่อสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ กล่าวว่า ขณะนี้ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานจัดสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ปั้นสัตว์ป่าหิมพานต์ ประดับบริเวณบันไดทางขึ้น พระเมรุทั้ง 3 ด้าน แล้ว โดยได้คัดเลือกสัตว์หิมพานต์ อาทิ กินนร นกทันทิมา คชสีห์ ไกรษรราชสีห์ ทั้งนี้ จำนวน และรูปแบบของสัตวฺหิมพานต์ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ น.อ.อาวุธ และผู้ออกแบบ ว่าจะใช้จำนวนเท่าใด และรูปแบบใด ซึ่งต้องให้เวลาคณะช่าง ในการออกแบบอีกระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ กรมศิลปากร ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ โดยประสานกรุงเทพมหานครขอใช้พื้นที่สนามหลวงฝั่งทิศใต้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขออนุญาตขอไม้จันทน์หอมในการจัดสร้างพระโกศจันทน์ โดย น.อ.อาวุธ ได้กำหนดไว้ว่า ต้องการขนาดไม้เมื่อตัดเป็นแผ่นแล้วมีหน้ากว้าง 4 นิ้ว แต่ไม่จำกัดความยาว
นอกจากนี้ ได้มีภาคเอกชนประสานมายัง น.อ.อาวุธ แจ้งว่า มีไม้จันทน์หอมอยู่ในครอบครอง และจะขอส่งตัวอย่างไม้จันทร์หอมมาให้พิจารณา ว่า สามารถใช้ทำพระโกศได้หรือไม่ ที่สำคัญได้ทำหนังสือถึงมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อจัดส่งดอกไม้จากดอยตุง มาใช้สำหรับประดับตกแต่งในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
นายเกรียงไกร กล่าวว่า จากการที่สำนักช่างสิบหมู่ได้ดำเนินการสำรวจตรวจสอบราชรถ ราชยาน และส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ในส่วนของพระที่นั่งราเชนทยาน พระวอสีวิกากาญจน์ และราชรถน้อยอีก 1 องค์ จะต้องมีซ่อมแซมครั้งใหญ่ เนื่องจากมีสภาพที่ทรุดโทรมมาก โดยการซ่อมแซมราชรถ ราชยาน และส่วนประกอบอื่นๆ นั้น จะเป็นการซ่อมแซมลวดลายที่ชำรุด การแกะสลักไม้เสริมเข้าไปบางส่วน ขณะเดียวกัน สำนักช่างสิบหมู่ได้ดำเนินการจัดทำธง ฉัตร และอาภรณ์ประดับราชรถ สามารถทำขึ้นมาใหม่ได้ทันที
นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้ประสานงานไปยังกรมสรรพาวุธ ทหารบก เพื่อให้เข้ามาซ่อมล้อ เพลา และเกรินบันไดนาคขององค์ราชรถให้มีความแข็งแรง โดยจะมีการคำนวณน้ำหนักให้ใกล้เคียงกับน้ำหนักของพระลองทองใหญ่ (พระโกศ) รวมกับน้ำหนักของพนักงานที่จะขึ้นไปอัญเชิญในการเคลื่อนขบวนพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จากนั้นกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ จะเข้ามาทำความสะอาดราชรถ ราชยานให้มีความแวววาวต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนมีความเป็นห่วงเรื่องงานติดกระจกสี ซึ่งปัจจุบันหาผู้ผลิตกระจกสีที่มีลักษณะโค้งมน เพราะเราต้องนำมาใช้ติดประดับตกแต่งราชรถแทนของเดิมที่หลุดหายไป ดังนั้น จะหารือกับผู้ผลิตกระจกอีกครั้งว่าจะหาวัสดุมาจากแหล่งใดบ้าง
** ตั้งคณะทำงาน 13 ชุดเดินงานพระเมรุ
นายเกรียงไกร กล่าวว่า กรมศิลปากร ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ประกอบด้วย คณะทำงานฝ่ายก่อสร้างพระเมรุมาศ อาคาร และสิ่งประกอบพระเมรุมาศ ราชรถ พระยานมาศ โดยมี นายสุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานที่ปรึกษา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายอารักษ์สังหิตกุล หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงวัฒนธรรม อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และนายจำลอง สมวงศ์ ที่ปรึกษา น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วย ผู้อำนวยการ ผู้เชี่ยวชาญ จากสำนักต่างๆ รวม 15 คน
ทั้งนี้ ได้แบ่งกลุ่มการปฏิบัติงานออกเป็น 13 กลุ่มย่อย ดังนี้ 1.กลุ่มเขียนฉากบังเพลิง 2.กลุ่มปั้นลวดลายและหล่อ 3.กลุ่มสร้างพระโกศจันทน์และส่วนประกอบพระเมรุ 4.กลุ่มซ่อมราชรถ พระยานมาศ และส่วนประกอบพระเมรุ 5.กลุ่มวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ 6.กลุ่มออกแบบและเขียนแบบ สถาปัตยกรรมและวิศวกรรม 7.กลุ่มเขียนแบบ ขยายแบบ เขียนลวดลายด้านศิลปกรรม 8.กลุ่มประเมินราคา 9.กลุ่มงานวิศวกรรม 10.กลุ่มควบคุมและก่อสร้าง 11.กลุ่มปั้นลวดลายและหล่อ12.กลุ่มราชรถ พระยานมาศ และส่วนประกอบ และ 13.กลุ่มช่างพระโกศจันทน์ และส่วนประกอบพระเมรุ
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังได้จัดทำข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในครั้งนี้ เช่น เรื่อง การประโคมย่ำยาม รวมถึงนำพระประวัติ พระกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ พระเกียรติคุณ พระกรุณาธิคุณ พระกรณียกิจสถิตศิลปากร ด้านประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ วิชาการ จดหมายเหตุ และบรรณารักษศาสตร์ ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ด้านสถาปัตยกรรม สังคีตศิลป์ และหัตถศิลป์ โดยนำข้อมูลและภาพถ่ายที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เสด็จเยี่ยมสถานที่ต่างๆ และทรงทอดพระเนตรโบราณสถาน ตั้งแต่ ปี 2515 รวมถึงเส้นทางเสด็จ และจะนำสมุดลงพระนามเยี่ยมชมมาลงแสดงไว้ในเว็บไซต์กรมศิลปากร www.finearts.go.th เพื่อให้ผู้ที่สนใจ รวมถึงสื่อมวลชนสามารเข้ามาศึกษาข้อมูล พร้อมทั้งดาวน์โหลดข้อมูลต่างๆ ไปเผยแพร่ได้ นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมการแถลงความคืบหน้าต่างๆ ในการดำเนินงานของกรมศิลปากรในแต่ละครั้ง มาเก็บไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวด้วย
**เปิดตัวสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุ
นายธนะชัย สุวรรณวัฒนะ ผอ.สำนักช่างสิบหมู่ เปิดเผยว่า น.อ.อาวุธ ได้แจ้งว่า สัตว์หิมพานต์ 3 คู่ที่จะประดับอยู่หน้าบันไดทางขึ้นพระเมรุจะเป็นสัตว์หิมพานต์ประเภททวิบาท คือ สัตว์ 2 เท้า เช่น นกกันทิมา กินนร กินรี นรนารี เป็นต้น ส่วนสัตว์ที่จะใช้ประดับในสวนรอบๆ พระเมรุจะเป็นสัตว์หิมพานต์ประเภทจตุบาท คือ สัตว์ 4 เท้า เช่น ม้าลี่ คชวารี นรสิงห์ โดยสัตว์หิมพานต์ที่ใช้ประดับทางขึ้นบันไดนั้น หากเลือกสัตว์ชนิดใดก็จะต้องประดับด้วยกันเป็นคู่ โดยแต่ละตัวช่างฝีมือจะปั้นแตกต่างกัน
ด้านคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ จำนวน 22.5 ล้านบาท เพื่อทำการออกแบบและปรับปรุงอาคารบริเวณสะพานพระราม 8 ในการจัดตั้งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ตามที่ วธ.เสนอ จากนี้ วธ.และมหาวิทยาลัยศิลปากรจะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวในการรองรับการเป็นสถาบันดนตรีของประเทศให้ดีที่สุด เพื่อสานต่อพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงประทานนามของพระองค์ให้เป็นชื่อของสถาบันด้วย
ส่วนการก่อสร้างด้านอื่นๆ อาทิ หอพัก อาคารเรียน คาดว่า จะต้องใช้อีกประมาณ 800 ล้านบาท ทาง วธ.จะเสนอขอแบบงบประมาณผูกพันดำเนินการก่อสร้างเป็นช่วงๆ คาดว่า ใช้ระยะเวลา 3-5 ปี