xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กด้อยโอกาส” กราบพระบาทพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่ทราบกันดีว่า พระกรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่านั้น เป็นอเนกปริยาย และเป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะยังไม่รับรู้ถึงพระกรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ทรงใส่พระทัยเด็กที่ถูกทอดทิ้งในมูลนิธิต่างๆ ดังนั้น เนื่องในโอกาส “วันเด็ก” ที่จะมาถึงในวันที่ 12 ม.ค.นี้ จึงขอนำเสนอพระกรณียกิจเกี่ยวกับเด็กด้อยโอกาสอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาของพระองค์ รวมทั้งความสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่มูลนิธิและเด็กๆ เหล่านี้มีต่อพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้

**เด็กพิการทางสมองเทิดพระเกียรติเหนือเกล้า
“นึกไม่ถึง...คล้ายๆ กับเด็กเหล่านี้ได้อยู่นอกสายตาของคนทั่วไปไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครดูแล ถูกทิ้งจนเหมือนอยู่ในหลืบหนึ่งของโลก แต่พระองค์ได้ชุบชีวิตให้พวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง” ศ.วิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองฯ เล่าถึงความรู้สึกตอนนั้น
เหตุการณ์ที่ว่านั้นเกิดขึ้นในปี 2537 เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระเมตตารับมูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญาไว้ในพระอุปถัมภ์ฯ หลังจากที่เปิดดำเนินงานมา 17 ปี
ศ.วิชา เล่าต่อว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มีพระดำรัสต่อการดูแลเด็กพิการและพยายามทำให้เด็กๆ นั้นช่วยเหลือตัวเองให้ได้ และทรงเน้นถึงกระบวนการการป้องกันแก่ครอบครัวที่เสี่ยงต่อการพิการของเด็ก โดยเจ้าหน้าที่ทางมูลนิธิจะต้องช่วยกันให้ความรู้แก่ครอบครัวอื่นๆ ให้รู้ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร และจะต้องเอาใจใส่เด็กในท้องอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดมาแล้วพิการ
“ทรงประทานเงินมายังมูลนิธิฯ เป็นระยะๆ เพื่อให้ใช้ในการดำเนินงานเลี้ยงดูเด็กพิการทั้งค่าอาหาร เสื้อผ้า และยารักษาโรค นอกจากนี้ ยังทรงให้กำลังใจถึงบุคลากรที่ได้ร่วมกันดำเนินงานอยู่ในมูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญาฯ ว่า อย่าไปท้อเป็นอันขาด กำลังใจจากพระองค์กลายเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้บุคลากรทุกคนในมูลนิธิสงเคราะห์เด็กฯ ดำเนินงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่ทอดทิ้งแม้ในวันนี้มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญาฯ จะสิ้นสมเด็จองค์อุปถัมภ์แต่บุคลากรในมูลนิธิฯ ยังคงมีความแน่วแน่ที่จะตั้งใจสานต่อพระปณิธานของพระองค์ท่านต่อไป”
ศ.วิชา ให้ข้อมูลด้วยว่าโดยปกติแล้ว มูลนิธิฯ จะรับอุปการะเด็กที่พิการทางสมองและปัญญา อายุระหว่าง 7-18 ปี ประมาณ 611 คน ซึ่งเน้นให้เด็กพิการได้รับการกระตุ้นและพัฒนาทักษะจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพื่อให้เด็กได้กลับไปอยู่ในสังคมภายนอกได้อย่างมีความสุขและสามารถประกอบอาชีพได้ตามความรู้ความสามารถและความถนัด เมื่อเด็กอายุเกิน 18 ปี ส่วนหนึ่งจะส่งกลับคืนครอบครัวและบางส่วนจะย้ายไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์อื่น
ต่อมาในปี 2547 มูลนิธิฯ ได้เริ่มโครงการพัฒนาทักษะขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพระชนมายุ 80 พรรษา โดยจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติด้วยการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้โอกาสและเสริมสร้างทักษะแก่เด็กพิเศษทางสมองและปัญญาจำนวน 80 กองทุน กองทุนละ 2,000 บาท ด้วยการคัดเลือกเด็กพิการจำนวน 80 คนที่เป็นตัวอย่างในการพัฒนาทักษะทางสมอง ประสบการณ์และสติปัญญาที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่น่าเป็นห่วงอยู่และยังไม่สามารถแก้ไขได้ คือเรื่องของการทอดทิ้งเด็กพิการ ซึ่งครอบครัวไม่สนใจและเอาใจใส่เมื่อเห็นว่าเด็กพวกนี้เป็นภาระแก่ครอบครัวและส่งมายังสถานสงเคราะห์ฯ แล้วก็ทิ้งให้เป็นภาระต่อเจ้าหน้าที่ ตรงนี้แท้จริงพ่อแม่ควรเข้ามาเยี่ยมเยียนและดูพัฒนาการความก้าวหน้าโดยจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กมากขึ้น จึงอยากผลักดันให้ครอบครัวหรือชุมชนเป็นผู้ดูแลเพื่อช่วยส่งเด็กกลับไปสู่ครอบครัว

**มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ยกไว้เหนือเกล้าฯ
เช่นเดียวกับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 ถัดจากนั้น 2 ปีก็ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรับมูลนิธิฯไว้ในพระอุปถัมภ์ฯ ด้วยความห่วงใยและทรงมีพระเมตตาต่อเด็กที่ด้อยโอกาสในชุมชนแออัด โดยมีพระดำรัสถึงเจ้าหน้าที่ในมูลนิธิฯ ไว้ว่า “การเริ่มต้นชีวิตที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”
“ครูต้อ” ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ เล่าว่า มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานมาตลอดระยะเวลา 25 ปี มุ่งเน้นการทำงานโดยให้เด็กได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ โดยผ่านบ้านเด็กอ่อน 4 หลัง ได้แก่ บ้านสมวัย (ชุมชนคลองเตย) บ้านศรีนครินทร์ (ชุมชนกองขยะหนองแขม) บ้านแห่งความหวัง (ชุมชนกองขยะอ่อนนุช) บ้านเสือใหญ่ (ชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ) และเนิร์สเซอรีคนจน ประมาณ 200 คนต่อวัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวในสลัมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ พระองค์ได้ทรงประทานคำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงาน ความว่า “การสอนเด็กควรปลูกฝังจริยธรรม โดยเริ่มจากผู้ใหญ่ทำเป็นแบบอย่างให้แก่เด็กและสอนให้เด็กเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกหก และสอนให้เด็กมีจิตสำนึกข้างในว่าฉันต้องทำดีและการสอนให้เด็กสามารถทำกิจวัตรประจำวัน อีกทั้งผู้รับเลี้ยงเด็กต้องเป็นมืออาชีพจริงๆ ทั้งเรื่องอนามัยและจิตวิทยาเด็ก”
นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังได้ทรงอนุญาตให้คณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ได้กราบทูลถวายรายงานการดำเนินอย่างต่อเนื่อง และทรงมีพระวินิจฉัยต่อการดำเนินงานของมูลนิธิฯ อย่างสนพระทัย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานได้น้อมนำพระดำรัสของพระองค์มาใช้เป็นแนวทางในการทำงานอย่างต่อเนื่อง
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ทรงประทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จากกองทุน “การกุศล กว.” และทุนทรัพย์จากกองทุน “การกุศลสมเด็จย่า”ให้มูลนิธิฯ นำมาจัดตั้งเป็น “กองทุนนมและอาหาร” โดยทางมูลนิธิฯ นำดอกผลมาจัดซื้อนมเพื่อช่วยเหลือเด็ก พร้อมกับรณรงค์ให้ความรู้แก่แม่เพื่อให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อยแรกเกิด-6 เดือน ในขณะเดียวกันเมื่อเด็กมารับนมนั้นพ่อแม่จะต้องพาเด็กมาชั่งน้ำหนักเพื่อดูการเจริญเติบโตและให้ความรู้ในการดูแลเด็กไปพร้อมกัน
“ประทานกองทุนเงินทั้งสองนี้ปีละ 1 ล้านบาทและยังทรงประทานทุนทรัพย์เพื่อจัดตั้งกองทุนงบฉุกเฉินสงเคราะห์พิเศษแก้ผู้ที่ประสบปัญหา เช่น ประสบอัคคีภัย อุบัติภัย รวมไปถึงเรื่องนม อาหารและเสื้อผ้า อุปกรณ์ของใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็ก และเลี้ยงอาหารแก่ผู้ประสบภัย ซึ่งทุกๆ ปี มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมในพระอุปถัมภ์ฯ ได้รับทุนทรัพย์เพิ่มเติมตลอดมา”

นอกจากนี้ พระองค์ยังสนพระทัยต่อการพัฒนาผู้รับเลี้ยงเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัดต่างๆ ให้มีความรู้ในการเลี้ยงเด็ก มีความรักความเอาใจใส่ โดยทรงประทานชื่อ “บ้านร่วมพัฒนาเด็ก” ขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีบ้านที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ กว่า 108 หลัง มีผู้ดูแลกว่า 200 คน ซึ่งบ้านรับเลี้ยงเด็กเหล่านี้สามารถให้การดูแลเด็กได้วันละ 2,000 คน
“ครูต้อ” เล่าด้วยว่า ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทุกครั้งที่เสด็จเยี่ยมมูลนิธิฯ ในสลัม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเสด็จส่วนพระองค์อย่างเรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองมากมาย ในช่วงที่เสด็จ พระองค์ทรงใช้เวลาในการไต่ถามทุกข์สุขของเด็กๆ และชาวบ้าน เมื่อทอดพระเนตรเห็นเด็กคนไหนที่มีปัญหาพระองค์ก็รับไว้เป็นคนไข้ส่วนพระองค์ ขณะเดียวกันก็ทรงประทานของเล่นให้แก่เด็กๆ โดยจะเลือกของเล่นและตุ๊กตาให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน
“พระองค์ได้เอาใจใส่ดูแลมูลนิธิฯ มาก ครั้งหนึ่งดิฉันทำแผ่นพับขึ้นมาและใส่รายละเอียดเข้าไปทุกอย่างเพื่อให้คนอ่านได้รับรู้หมด แต่พระองค์ทรงมองว่าคนไม่ค่อยสนใจอะไรเยอะๆ น่าจะมาย่อให้สั้นลงและกระชับ พระองค์จึงทรงทำแผ่นพับนั้นเอง ทรงออกแบบ เลือกรูปเอง ซึ่งรูปเหล่านั้นสื่ออารมณ์และวิถีชีวิตของเด็กในสลัมได้เป็นอย่างดี พระองค์ทรงทำแผนที่ตั้งของมูลนิธิฯ ขนาดย่อแต่เห็นชัดเพื่อที่คนอ่านจะได้เข้าใจชัดเจนขึ้น”
แม้ว่าในวันนี้มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ จะสิ้นสมเด็จองค์อุปถัมภ์ แต่คณะบุคลากรในมูลนิธิฯ ยังมีปณิธานที่แน่วแน่ที่จะขยายการช่วยเหลือเด็กๆ ต่อไปและตั้งใจทำให้งานของมูลนิธิฯ ช่วยเด็กได้มากขึ้นต่อไป
สำหรับวันเด็กที่จะถึงนี้ “ครูต้อ” บอกว่า ทางมูลนิธิฯ จะจัดกิจกรรมที่เรียบง่าย โดยมอบของขวัญให้แก่เด็ก และที่สำคัญคือจะพูดให้เด็กฟังถึงพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ว่าทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อพวกเขาอย่างไรบ้าง เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้และซึมซับต่อผู้มีบทบาทต่อชีวิตในการพัฒนาเด็กอ่อนที่อยู่ในสลัมตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น