เมืองไทย 360 องศา
นาทีนี้ไม่ต้องพูดกันมากก็เข้าใจกันดีแล้วว่า ในสถานการณ์การเมืองแบบที่เป็นอยู่ ถือว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตนักโทษคดีทุจริต ได้กุมทุกอย่างอยู่ในมือเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว เพียงแต่ว่าหนทางข้างหน้าใช่ว่าจะราบรื่น เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงทางด้านกฎหมาย และฝ่ายตรงข้ามที่กำลัง “ถูกกำจัด” พร้อมกัน ต้องหาโอกาสเอาคืนอย่างสาสมเช่นเดียวกัน
แน่นอนว่า สำหรับใครที่ติดตามการเมืองย่อมสรุปตรงกันว่า นายทักษิณ ได้ “ครอบครอง” ทั้งรัฐบาล และพรรคการเมือง รวมไปถึงกลุ่มการเมืองแทบทั้งหมดเอาไว้ในมือแล้ว
การเคลื่อนไหวฟอร์มรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำล่าสุดมีการ “เขี่ย” พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกไป แล้วเลือกดึงกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้ามา ขณะเดียวกันก็มีการเรียกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เปิดรออ้าซ่าเข้ามาเสียบแทน ถือว่างานนี้ “โหดแบบเลือดเย็น” มาก
แม้ว่าการผลักพรรคพลังประชารัฐออกไปในแบบ “ทั้งพรรค” แต่ในรายละเอียดถือว่าเป็นการ “แบ่งแยก” เพราะแม้ว่าหลังจากไม่ให้เข้าร่วมรัฐบาลแล้ว ทำให้รายชื่อรัฐมนตรีจำนวน 4 คนที่เสนอไปต้องตกไปทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงกลายเป็นแบ่งโควตารัฐมนตรีให้เฉพาะกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จำนวน 2 เก้าอี้ ตามจำนวน ส.ส.ในมือ ขณะที่อีก 2 ตำแหน่งคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เคยเป็นของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คาดว่าจะโอนไปให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอีกตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ก็น่าจะเป็นของ นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค
เมื่อเป็นแบบนี้ หากมองกันแบบเข้าใจก็เท่ากับว่า “แผนกำจัด” ได้สำเร็จแล้ว แม้ว่าบางเรื่องอาจมีรายละเอียดซับซ้อนยืดยาว แต่ก็มองเห็นได้ไม่ยาก เพราะเวลานี้ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ได้แตกแยกยับเยิน อาจเลวร้ายถึงขั้น “ล่มสลาย” กันเลยก็มี
เริ่มจาก “แผนกำจัด” ก่อน โฟกัสที่ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งที่ผ่านมารับรู้กันมานานแล้วว่า กับ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยมานาน มีการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันมาหลายปี ล่าสุด นายทักษิณ ก็อ้างว่า “ลุงป้อม” เคยขอตำแหน่งประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองเลยโกรธ และที่ผ่านมา ก็ไม่โหวตให้ ทั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งระบุอีกว่าอยู่เบื้องหลัง 40 ส.ว.ยื่นถอดถอน นายเศรษฐา จนพ้นจากตำแหน่งนายกฯ
ขณะเดียวกันยังมีความพยายามเคลื่อนไหว “ดูด” ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย และจากอดีตพรรคก้าวไกลในช่วงที่ถูกยุบพรรค เพื่อหวังช่วงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสักครั้งในชีวิต แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งนำไปสู่เงื่อนไข “ถูกถีบ”ออกจากการร่วมรัฐบาล ขณะที่ ฝ่ายของ ร.อ.ธรรมนัส ที่นายทักษิณ เคยกล่าวทำนองว่า ต้องเลือกฝ่ายที่ทุ่มเททำงานให้กับรัฐบาลมากกว่า และที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส ก็ทำกิจกรรมร่วมกันกับพรรคเพื่อไทยมานานแล้ว และ น้องชายคือ นายอัครา พรหมเผ่า และเป็นตัวเต็งรัฐมนตรี คราวนี้ก็เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปพักหนึ่งแล้ว ดังนั้นนี่คือการ “กำจัดที่หนึ่ง” คือ “กำจัดลุงป้อม” ออกไปได้อย่างเจ็บแสบที่สุด
ขณะที่ “กำจัดที่สอง” คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกดึงเข้ามาเสียบแทน แม้ว่าจะดูเหมือนว่า การได้เป็นรัฐบาลเที่ยวนี้จะถือเป็นความสำเร็จ แต่นั่นหมายถึงความแตกแยกและคาดหมายว่าน่าตกต่ำของพรรคนี้กำลังดำดิ่งลงไปอีก ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรคงคาดเดาได้ไม่ยาก
ที่ต้องบอกว่า “ถูกกำจัด” เพราะพิจารณาจากแบ็กกราวด์ นานนับยี่สิบปี พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคไทยรักไทยเรื่อยมา ถือว่าถึงขั้นเป็น “ศัตรู” ทางการเมืองอย่างชัดเจน มีการล้มล้างกันอยู่ตลอดเวลา ไล่มาตั้งแต่ยุคของ นายชวน หลีกภัย จนกระทั่งมาถึงยุค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค เรียกว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามแบบ “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” มาช้านาน
แต่คราวนี้เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ถูกยึดอำนาจเบ็ดเสร็จโดยกลุ่มของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และ นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค เข้ามาบริหารพรรคและต้องการเข้าร่วมรัฐบาล และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีกันอีกครั้งสำหรับ นายเฉลิมชัย ส่วน นายเดชอิศม์ ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก แต่ขณะเดียวกันก็เกิดแรงกระเพื่อมอย่างหนัก มีความขัดแย้งกับกลุ่ม “ผู้อาวุโส” ของพรรค ที่นำโดย นายชวน หลีกภัย และส.ส.อีก 3 คน เช่น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค และ นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา ที่ยืนกรานว่าไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกันก็มีปฏิกิริยาคัดค้านจากสมาชิกพรรคหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับท่าทีใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ จนหลายคนประเมินว่าในการเลือกตั้งคราวหน้าในภาคใต้ที่เป็นฐานเสียงหลัก น่าจะกระทบหนัก อาจถึงขั้นอาจสูญพันธุ์กันเลยทีเดียว
แต่ถึงอย่างไรนี่คือความ “หายนะ” โดยรวมของพรรคประชาธิปัตย์ และโอกาสจะฟื้นกลับมานั้นยากเต็มทน หรือต้องใช้เวลานานมาก และนี่คือการ “กำจัดศัตรู” และทำลายพรรคการเมืองอย่างเจ็บแสบในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้การร่วมรัฐบาลครั้งนี้ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงอีกพรรคคือ “รวมไทยสร้างชาติ” โดยเฉพาะการดึงเอา นายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ จากอดีตกลุ่ม กปปส. เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ตามข่าวบอกว่าจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้เรียกเสียงตำหนิจากบรรดาผู้ที่เคยสนับสนุนทั้ง กปปส. และพรรครวมไทยสร้างชาติ มาก่อน ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาลงไปมาก ซึ่งยังส่งผลสะเทือนไปถึง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยปลุกปั้นพรรคนี้มาก่อน แม้ว่ากรณีนี้อาจยังดูไม่ชัด แต่ก็เข้าเค้า
แต่อีกด้านหนึ่งแม้ว่า ตอนนี้จะมองตรงกันว่า นายทักษิณ ชินวัตร จะสามารถควบคุมทุกอย่างอยู่ในมือแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วก็ตาม แต่หนทางข้างหน้ารับรองว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องไม่ลืมว่า “คนที่ถูกกำจัด” พร้อมกันหลายคนเที่ยวนี้ รับรองว่า “ไม่อาจดูเบา” ได้เลย เพราะทุกคนก็ไม่ธรรมดา บางคนก็ “กำความลับ” สำคัญของ นายทักษิณ ไว้ไม่น้อย และเชื่อว่าเป็น “ทีเด็ด” แน่นอน และเชื่อว่านับจากนี้จะมีแง่มุมทางกฎหมายพรั่งพรูออกมา ระวังเอาไว้ให้ดีก็แล้วกัน !!