ข่าวปนคน คนปนข่าว
++ พลเอก Vs ผู้กอง ใครหัวเราะดังกว่า!? ถามไรๆๆ "ลุงป้อม" สะกดอาการช้ำ ไม่ลาหัวหน้าพลังประชารัฐ ขณะที่ "ผู้กอง" ว่า "จบแล้ว"
ช่วงนี้เป็นชีวิตช่วงขาขึ้น...ก่ายหน้าผากจริงๆ สำหรับ "ลุงป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตพี่ใหญ่ 3 ป.
พรรคไม่มีพลัง ล.ลิงหาย กลายเป็น"พัง" หลังวัดพลังกันกับกลุ่มของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า”
ว่ากันว่า ศึกระหว่างพลเอก กับผู้กอง ภาคพิสดาร เดิมพันเก้าอี้รัฐมนตรีครั้งนี้ “ลุงป้อม” นั้นแพ้ตั้งแต่ในมุ้ง!
แม้จะร่อนสารแถลงการณ์ยืนยันในนามพรรคส่งชื่อรัฐมนตรีให้พรรคเพื่อไทย ตามชื่อเดิมก็ไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ได้
ต่อเนื่องจากการศึกก็มีกระแสข่าวสะพัดว่า "เจ้าป่า" ลุงที่บอบช้ำต้องซดน้ำใบบัวบกหนัก เตรียมลาออกจากหัวหน้าพรรค!?
ฟังว่า ภายในป่ารอยต่อ ว้าวุ่นชุลมุน คนที่ยังรักลุงที่เหลืออยู่น้อยเต็มที ก็พยายามคิดอ่านหาทางสื่อสารออกมาจากป่า ต่อสายกับนักข่าวคนคุ้นเคยให้ช่วยกระจายข่าวทีว่า “ลุงป้อม” ยังอยู่ดี มีกำลังวังชาพอที่จะสู้การเมือง แม้การเมืองจะสู้กลับจนมีข่าวลือท่วมบ้านป่า
จากสื่อหนึ่งคน ไปสอง-สามคน งวดนี้ “ลุงป้อม” ยินดีรับทุกสายแต่โดยดี ไม่มีอาการเหวี่ยง สะกดคุมอารมณ์ที่อยาก "หยุมหัว" นักข่าวไว้ได้ดี
ถามไรๆๆๆ ตอบหมด สยบกระแสข่าวลือ เตรียมลาออกจากหัวหน้าพรรคว่า ไม่มี ไม่จริง ไม่ได้ลาออก
พร้อมถามกลับสายที่โทรหาว่า “จะลาออกทำไม” ยืนยัน จะทำหน้าที่ต่อไป
เมื่อถามว่า กำลังใจยังดีอยู่ใช่หรือไม่ พลเอกประวิตร ตอบสั้นๆ ว่า “เออ” และว่า มีคนโทรมาให้กำลังใจเยอะ พร้อมกับหัวเราะเบาๆ ส่งท้ายให้
ตัดภาพไปที่ "ผู้กอง" ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์หลังร่วมประชุมเรื่องอุทกภัย ที่กรมชลประทาน งานนี้ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดเช่นกันว่า จะใช้มติกรรมการบริหารพรรคเพื่อขับตนเองออกจากกรรมการบริหารพรรค ว่า การเมืองอย่าไปพูดเลย จบแล้ว ตัวเองไม่ได้ยุ่งอะไรกับพรรค
นักข่าวไม่ละความพยายามจะได้คำตอบจะขับตัวเอง หรือ ขับ “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรค พปชร. ออกจากพรรค อะไรเป็นไปได้มากกว่ากัน !?
“ร.อ.ธรรมนัส” ยิ้มไม่ได้ตอบคำถาม พร้อมกับขึ้นรถ ก่อนจะเปิดกระจกรถมากล่าวว่า ..เดี๋ยวไปขับน้ำก่อนนะครับ” พร้อมกับเสียงหัวเราะ
บทสรุปของพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อ
แต่ระหว่างนี้ คอการเมืองที่ช่างสังเกต ก็ลองไปเพลย์คลิปย้อนหลังดูอากัปกิริยาของ “พลเอกลุงป้อม” กับ “ผู้กองธรรมนัส” ที่จบบทสนทนาด้วยเสียงหัวเราะทั้งคู่ ดูว่าใครกันที่หัวเราะดังกว่า!? บางทีจะได้คำตอบเลยพลันนะจ๊ะ
++ โผครม. อุ๊งอิ๊ง 1 ลงตัว ประชาธิปัตย์เข้าร่วม ได้ส่วนแบ่ง 2 เก้าอี้รัฐมนตรี
การฟอร์มคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี รอบนี้มีอะไรแปลกๆ สิ่งที่ไม่เคยเกิดก็เกิด สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น
เพราะพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับเก้าอี้รัฐมนตรีมาเป็นอันดับ 1 ด้วยข้ออ้างสวยหรูว่า จะได้มีโอกาสเข้าไปทำประโยชน์เพื่อพี่น้อง ประชาชน ส่วนเรื่องศักดิ์ศรี จุดยืน หรืออุดมการณ์ทางการเมือง เอาไว้ทีหลัง
อย่างเช่น พรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดการแตกหัก ระหว่าง “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค กับ “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค
โดยกลุ่มของผู้กองธรรมนัส เคลมว่ามีเสียงสส.อยู่ในกลุ่ม 26 เสียง ขณะที่กลุ่มลุงป้อม มี 14 เสียง ...ต่อมากลุ่มสส.เพชรบูรณ์ ในมุ้งของ “สันติ พร้อมพัฒน์” รองหัวหน้าพรรค ที่เล่นบท “เหยียบเรืองสองแคม” เคยยืนอยู่ข้าง ร.อ.ธรรมนัส ก็ย้ายไปยืนกับ“ลุงป้อม” ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีเสียงสส.ฝ่ายละ 20 เสียงเท่ากัน
ทั้งสองกลุ่มจึงต่างคนต่างส่งโผครม.ไปให้ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นำไปตรวจสอบ โผครม.จากพรรคพลังประชารัฐจึงมี 2 โผ
โดยทางกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ได้ไปชวนพรรคประชาธิปัตย์ที่มี สส.อยู่ 25 เสียง ให้มาร่วมรัฐบาล โดยแบ่งโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีกันคนละครึ่ง ร.อ.ธรรมนัส จะยังคงนั่ง รมว.เกษตรฯ และ “อรรถกร ศิริลัทธยากร” นั่งรมช.เกษตรฯ เหมือนเดิม ส่วนเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายลุงป้อมเคยนั่งอยู่ กับเก้าอี้ รมช.สาธารณสุข ของ “สันติ พร้อมพัฒน์” นั้นยกให้ประชาธิปัตย์ไป
ท่าทีของประชาธิปัตย์ ก็เด้งรับทันที ทั้งที่ข้อบังคับพรรคระบุว่า การจะเข้าร่วมรัฐบาลต้องได้รับความเห็นชอบ จากที่ประชุมสส.และกรรมการบริหารพรรคเสียก่อน
แต่ประชาธิปัตย์ในยุคที่ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค และ “เดชอิศม์ ขาวทอง” เป็นเลขาธิการพรรค มั่นใจว่าสส.ส่วนใหญ่ และกรรมการบริหารพรรคเห็นด้วยที่จะเข้าร่วมรัฐบาล
จะมีคัดค้านก็เพียง 4 คนเท่านั้น คือ ชวน หลีกภัย- บัญญัติ บรรทัดฐาน -จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ สรรเพชญ บุญญามณี
เพราะคนเก่าคนแก่ของพรรคประชาธิปัตย์เหล่านี้ถือว่าเป็น “คู่แค้น” กับระบอบทักษิณ มากว่า 20 ปี
“เดชอิศม์ ขาวทอง” กล่าวถึงปัญหาความเห็นต่างในพรรคว่า กระแสข่าวการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องเสียอุดมการณ์ของพรรค ที่เคยอภิปรายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ... วันนี้ต้องรีเซตประเทศไทย ไม่ใช่รุ่นปู่ของตนทะเลาะกับปู่ของสื่อมวลชน แล้วมารุ่นของตนต้องโกรธกันด้วย ไม่ใช่ ขอให้มองที่ประเทศชาติ และประชาชน เพราะวันนี้เราเสียโอกาสไปเยอะมาก ถ้ามีโอกาสเราก็อยากช่วยเหลือ
ทั้งนี้ หาก“ประชาธิปัตย์”ร่วมรัฐบาล “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ก็จะนั่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วน “เดชอิศม์ ขาวทอง”เป็น รมช.สาธารณสุข
ตอนนี้สิ่งที่เห็นคือ พรรคพลังประชารัฐ แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ส่งโผครม. 2 โผ ส่วนประชาธิปัตย์ แบ่งเป็น 2 ฝ่ายเหมือนกัน แต่มีโผเดียว เพราะอีกฝ่ายที่เป็นผู้อาวุโสของพรรค ไม่เห็นด้วยที่จะร่วมรัฐบาลกับคู่แค้นตลอดกาล อย่างเพื่อไทย
เห็นนักการเมืองวิ่งเข้าหาเก้าอี้รัฐมนตรี แล้วอดนึกถึงอีกคนหนึ่งไม่ได้ นั่นคือ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ คนนี้เป็นอดีตแกนนำ กปปส. เป็นลูกเลี้ยงของ “สุเททพ เทือกสุบรรณ” หัวหน้าใหญ่ กปปส. ที่เป่านกหวีด ตั้งเวทีปราศรัยโจมตีแบบสาดเสีย เทเสีย ขับไล่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
แต่วันนี้ “เอกนัฏ”กลับละทิ้งอุดมการณ์ทางการเมืองที่เคยอวดโอ่ แล้ววิ่งมาขอเก้าอี้รัฐมนตรีจากรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร”
อย่างไรก็ตาม การจัดครม.ครั้งนี้ “นายใหญ่” ได้สั่งให้สกรีนคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอย “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ต้องตกเก้าอี้เพราะแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี จนทำให้ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ถึงกับออกปากว่า พรรคร่วมส่งชื่อบุคคลมาเกินจำนวนเก้าอี้
สำหรับโผครม.ล่าสุด ที่ผ่านตา “หมอมิ้ง”แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบคุณสมบัติ มีดังนี้
พรรคเพื่อไทย (17 คน : รมว.8-รมช.9) “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ , “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี ควบรมว.คมนาคม, “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม, “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รมช.คมนาคม, พิชัย ชุณหวชิร รมวคลัง, “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง, “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง , “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข, “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รมว.กลาโหม, “พล.ท.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ”รมช.กลาโหม
“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, “สรวงศ์ เทียนทอง” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา,
“มาริษ เสงี่ยมพงษ์” รมว.การต่างประเทศ, “ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” รมช.มหาดไทย, “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล”รมว.วัฒนธรรม, “จิราพร สินธุไพร” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พรรคภูมิใจไทย (8 คน : รมว.4 - รมช.4) “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย, “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย, พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ, “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” รมช.ศึกษาธิการ, “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงาน, “ศุภมาส อิศรภักดี” : รมว.การอุดมศึกษาฯ, “นภินทร ศรีสรรพางค์” รมช.พาณิชย์ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย
พรรครวมไทยสร้างชาติ ( 4 คน : รมว.2-รมช.2) “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน,
“เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม, “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมช.คลั., “สุชาติ ชมกลิ่น” รมช.พาณิชย์
สส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส (2 คน : รมว.1 รมช.1) “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมว.เกษตรและสหกรณ์, “อรรถกร ศิริลัทธยากร” รมช.เกษตรและสหกรณ์
พรรคประชาธิปัตย์ (2 คน : รมว.1-รมช.1) “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , “เดชอิศม์ ขาวทอง” รมช.สาธารณสุข
พรรคชาติไทยพัฒนา “วราวุธ ศิลปอาชา” รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พรรคประชาชาติ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม
ต้องติดตามกันต่อไปว่า รายชื่อเหล่านี้ จะมีใครบ้างที่ผ่านการสกรีน และได้นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร