เมืองไทย 360 องศา
ในที่สุดก็ถึงเวลาลุ้นได้เสียกันแล้ว เพราะล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญได้นัดวินิจฉัยคดีที่พรรคก้าวไกลถูกร้องยุบพรรคในวันที่ 7 สิงหาคม โดยยุติการไต่สวน โดยระบุว่าเป็นการวินิจฉัยด้านกฎหมาย มีข้อมูลและพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว
วันที่ 17 กรกฎาคม เอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอังควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคก้าวไกลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หากคู่กรณีประสงค์จากแถลงการปิดคดีให้ยื่นเป็นหนังสือสอบถามรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรามนูญ 2561 มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ 2562 ข้อ 24 ภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567
ส่วนคำร้องที่คู่กรณียื่นให้รับรวมไว้ในสำนวนคดีเพื่อประกอบพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 7 สิงหาคม เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น.
อย่างไรก็ดีหากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว เมื่อออกมาแบบนี้ ก็ย่อมหมายความว่า ได้เวลาชี้ขาดกันแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ทางฝ่ายผู้ถูกร้องได้พยายามยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติม รวมทั้งร้องขอให้มีการไต่สวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งหากพิจารณาแล้วทางหนึ่งมันก็คือ “แท็กติก” ทางกฎหมาย นอกเหนือจากการยำข้อต่อสู้ในเรื่องที่ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ” ในการพิจารณาเรื่องนี้ แต่ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ “การยื้อ” คดีให้ทอดเวลาออกไป พร้อมๆกับการกดดัน
ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันวินิจฉัยคดีออกมาแบบนี้ พร้อมกับไม่เปิดการไต่สวนหาข้อเท็จจริง โดยให้เหตุผลว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานพร้อมแล้ว จึงนัดวินิจฉัยดังกล่าว มันก็เหมือนกับการ “นับถอยหลัง” สำหรับพรรคก้าวไกลแล้ว เมื่อออกมาแบบนี้ทำให้คาดการณ์ได้ล่วงหน้าได้ว่าน่าจะออกมา “เป็นลบ” มากกว่าบวกค่อนข้างแน่
ขณะเดียวกันจะว่าไปแล้วการร้องยุบพรรคก้าวไกลของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นถือว่าเป็น “ช็อตต่อเนื่อง” ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว หลังจากก่อนหน้านั้นมีคนร้องให้ศาลฯวินิจฉัยว่า กรณีการแก้ไข มาตรา 112 และการรณรงค์แก้ไขหรือยยกเลิกมาตรา 112 โดยเป็นนโยบายหาเสียงของพรรค เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งศาลฯวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ตามคำร้อง ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า “ไม่ใช่เป็นคำร้องให้ยุบพรรค” จนต้องมาถึง “ขยักที่สอง” จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ต้องดำเนินการ เป็น “ไฟต์บังคับ”
สำหรับพรรคก้าวไกลย่อมมองออกตั้งแต่ต้นแล้วต้อง “โดนแน่” เพียงแต่ว่าก็ต้องดิ้นรนให้เต็มที่ อย่างน้อยก็ต้องสร้างพลังทางการเมือง สร้างแรงกดดันกลับไปบ้าง พยายามสร้างกระแสความไม่ยุติธรรม หรือ “ถูกกระทำ” พร้อมๆกับการสร้างกระแสท้าทายทำให้นองว่า “ตายสิบเกิดแสน” ความหมายก็คือ หากมีการยุบจริงก็จะทำให้พรรคก้าวไกลเติบโตก้าวกระโดด ซึ่งก็คงได้พิสูจน์กันในเร็วๆนี้ว่าจะเป็นแบบนั้นหรือไม่
เพราะหากพิจารณากันแล้ว หากมีการยุบพรรคจริง ก็ต้องมีการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งในจำนวนนั้น มี นายชัยธวัช ตุลาธน และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งระหว่างเกิดเหตุเขาทั้งสองเป็น เลขาธิการพรรคและ หัวหน้าพรรคตามลำดับ โดยเฉพาะเวลานี้หากมองกันตามกระแสแล้ว นายพิธา กำลังได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ซึ่งคนพวกนี้เมื่อถูกตัดสิทธิ์แล้ว คนอื่นที่เหลือจะได้รับความนิยมเท่าเขาหรือไม่
โดยคนที่รอดก็มีชื่อของ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล และคนอื่นๆ บางคน ที่พอคุ้นชื่อ เช่น นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ นายรังสิมันต์ โรม เป็นต้น คนพวกนี้จะกลายเป็นแม่เหล็กในการเลือกตั้งคราวหน้าได้แค่ไหน เพราะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย คำถามก็คือพวกเขามีศักยภาพน่าเชื่อถือว่าสมควรเป็นนายกฯ ได้หรือไม่
แต่ถึงอย่างไรในเมื่อยังไม่ถึงวันที่ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น ยังสรุปไม่ได้ ผลออกมาอาจเป็นตรงกันข้ามก็ได้ เพียงแต่ว่าแนวโน้มสูงมาก ถึงมากที่สุดว่าน่าจะออกมาเป็นลบมากกว่าบวก เพราะแม้แต่คนในพรรคก้าวไกลเองก็ยอมรับว่า “รอดยาก”
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลมีจุดยืนมาโดยตลอด คือเราคิดว่าการเปิดไต่สวน จะนำข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งพยานหลักฐาน พยานบุคคล เข้าสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การที่จะทำให้คดีนี้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด ซึ่งเมื่อวานนี้ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้แถลงข่าวว่า มีความไม่ชอบมาพากลอย่างไรในเรื่องพยาน และเรามีข้อโต้แย้งอย่างไรในปัญหาของพยานหลักฐานที่ได้ตรวจมา ซึ่งเราพบว่ามีกระบวนการในการเร่งรัด และมีความสุ่มเสี่ยงมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการเร่งรัดนี้ก็ทำให้พรรคก้าวไกลไม่มีสิทธิ์ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
“จากที่เห็นเอกสารข่าวในวันนี้ แน่นอนว่าเราเองคงต้องบอกตรงๆ ว่า การต่อสู้คดีของเราที่ต้องการจะนำพยานหลักฐานเข้าไปสู่กระบวนการการพิจารณาของศาล คงทำไม่ได้ ยอมรับว่า คงทำให้การต่อสู้คดีของเรายากขึ้น”
ดังนั้น เมื่อพิจารณากันทุกมุมแล้ว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 สิงหาคม โดยยุติการไต่สวนพยาน เนื่องจากเห็นว่า เป็นปัญหาด้านกฎหมาย มีพยายนหลักฐานพร้อมแล้ว มันก็เหมือนกับการนับถอยหลัง และเริ่มการพิสูจน์กันว่า “ตายสิบเกิดแสน” หรือจะโตแบบก้าวกระโดดจริงหรือไม่ !!