xs
xsm
sm
md
lg

หมดเวลายื้อ เดินเครื่องยุบก้าวไกล!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เมืองไทย 360 องศา


หลังจากเงียบหาย ลดกระแสไปพักหนึ่ง สำหรับคดียุบพรรคก้าวไกล หลังจากมีการขยายเวลาการพิจารณาออกไปตามคำร้องของฝ่ายผู้ถูกร้อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม มีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการอภิปรายในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคและห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567

โดยศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีให้รอฟังผลการตรวจพยานหลักฐานของคู่กรณีในวันอังคารที่ 9 ก.ค.67 และนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 17 ก.ค.67 เวลา 9:30 น.

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามกรอบเวลาในการพิจารณาจากคำพูดของ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า การวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนนับจากนี้ คือ ราวเดือนกันยายน ซึ่งตามความหมายนี้อาจเร็วกว่านั้นก็ได้ คือ อาจใช้เวลาแค่เดือน หรือสองเดือนก็ได้

ก่อนหน้านี้ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ มีหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงกรณีคำร้องที่ขอให้ยุบพรรคก้าวไกล และกรณี 40 สว. ยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หลังแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติ ว่า เอกสารพยานหลักฐานที่ส่งมาครบถ้วนหรือไม่

ส่วนจะมีการไต่สวนหรือไม่ขอให้มีการคุยกันในองค์คณะก่อน ถึงตนจะเป็นประธานก็ยังตอบไม่ได้ ไม่สามารถไปแทรกแซงความเป็นอิสระของท่านอื่นได้ ดังนั้นขอให้รอฟังผลการประชุม อย่างไรก็ตามทั้ง 2 คดีน่าจะเสร็จก่อนเดือน ก.ย.นี้แน่นอน แต่เรื่องไหนจะเสร็จก่อนตนไม่ทราบ ทั้งนี้ในคดีของพรรคก้าวไกลเป็นเพียงแค่การขอเอกสารหลักฐานจากคู่กรณีเท่านั้น

เมื่อถามว่ามีความกดกัน หรือกังวลอะไรหรือไม่ นายนครินทร์ กล่าวว่า การทำงานเรา มีการกดดันตัวเอง สังคมก็กดดันเรา เป็นที่เข้าใจได้เพราะเป็นคดีสำคัญ อย่างไรก็ตามเราต้องมีความเที่ยงธรรม ดูให้พอเหมาะพอควร ให้เขาชี้แจงข้อสงสัย แล้วไปประชุมวินิจฉัยกันอีกครั้ง ย้ำว่า การตัดสินใจของศาลเป็นการตัดสินใจโดยองค์คณะ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งองค์คณะก็มีความเห็นเป็นอิสระ ส่วนผลก็จะแสดงออกมาอย่างชัดเจนในใบแถลงข่าว ใคร เสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ตัดสินใจอย่างไรมีการเปิดเผยหมด

ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลมีการแถลงข่าว จะถือว่าผิดคำสั่งศาลที่ให้หยุดเคลื่อนไหวหรือไม่ นายนครินทร์ กล่าวว่า เป็นคำแนะนำ และคำเตือนของศาล ต้องดูความพอเหมาะพอดีพอควร ขอย้ำว่าศาลไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ตนเป็นหนึ่งในฐานะองค์คณะตุลาการจึงไม่ขอตอบโต้อะไร ส่วนเขาจะออกมาอธิบายอะไรได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับองค์คณะที่จะพิจารณา

หากพิจารณาจากรายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น ทำให้เข้าใจว่า การพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลจะเริ่มเป็นจริงเป็นจังตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคมเป็นต้นไป หลังจากมีการพิจารณาตรวจหลักฐานของคู่กรณี วันที่ 9 กรกฎาคม และเมื่อฟังจากคำพูดของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่บอกวว่าไม่เกิน สามเดือน ซึ่งก็ไม่น่าเกินเดือนกันยายน หรืออาจเร็วกว่านั้น คือหนึ่งถึงสองเดือนก็ได้ เพราะจะว่าไปแล้วคดีดังกล่าวน่าจะเป็นการพิจารณาตามข้อกฎหมายเป็นหลัก มากกว่าการพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ทางพรรคก้าวไกล โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล มีการหยิบยก 9 เหตุผล เป็นข้อต่อสู้เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกยุบพรรค 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 2. กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3. คำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 67 ไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้ 4. การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ 5. การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 67 ไม่ได้เป็นมติพรรค 6. โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น 7. ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด 9. การพิจารณาโทษ ต้องสอดคล้อง กับชุดกรรมการบริหารในช่วงที่ถูกกล่าวหา

หากสังเกตจะเห็นว่า ข้อโต้แย้งส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปที่เรื่อง “ศาลไม่มีอำนาจ” ในการพิจารณา ทั้งเรื่องการยุบพรรค และการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ซึ่งที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล รวมไปถึงก่อนหน้านี้ในช่วงที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่มีการตัดสินยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคในคดีเงินกู้แบบ “อัฐยายซื้อขนมยาย” โดยพรรคก้าวไกล ก็ยกเอาเรื่องดังกล่าวมาโต้แย้ง และก็พ่ายแพ้ โดยศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์มาแล้ว

คราวนี้ก็เช่นเดียวกันพวกเขาก็ยกเรื่องดังกล่าวมาโต้แย้งมาโต้แย้งคดียุบพรรคก้าวไกลอีกครั้ง ทำให้พอมองเห็นแนวโน้มอีกว่า ผลน่าจะออกมาแบบเดิมนั่นคือน่าจะ “พลาด” ซ้ำรอยเดิม

อย่างไรก็ดี สุดท้ายปลายทางย่อมขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาแบบ “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” แต่เมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ที่มีมติเอกฉันท์ในเรื่อง “การล้มล้างการปกครอง” แล้ว มันก็น่ารอดยาก เพราะนี่คือ “ภาคต่อ” เป็นไฟต์บังคับ” ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง จำเป็นต้องดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาล !!


กำลังโหลดความคิดเห็น