“กมธ.ป.ป.ช.” เรียกสอบโครงการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนของ “สกสค.“ หลังพบความผิดปกติ “รองประธาน กมธ.“ รับมีเค้าลางส่อทุจริต เหตุเปลี่ยนทีโออาร์จนบาง บ.ได้ประโยชน์ ทำรัฐเสียหาย เผย กมธ.บี้ประเด็น “ก.บัญชีกลาง“ อนุญาตเปลี่ยนวิธีประกวดราคา “เอกชน“ แย้งไม่เคยอนุญาตให้แบ่งการประกวดราคาออกเป็น 30 กลุ่ม ซัดเชิญ บ.เยอะ แต่ไม่ได้เปิดกว้างจริง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.ป.ป.ช.เป็นประธานในที่ประชุม มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 และปีการศึกษา 2567 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยมี นายภกร รงค์นพรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ในฐานะผู้ถูกร้อง และตัวแทนบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด ในฐานะผู้ร้อง เข้าร่วมชี้แจง
นายปรีติ เจริญศิลป์ ส.ส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ. เปิดเผยภ่ยหลังการประชุม ว่า ในการประชุม กมธ.ได้มีการขอเอกสารหลักฐานของฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง พร้อมสอบถามถึงที่มาที่ไปในเบื้องต้น แต่ก็พบว่า ข้อมูลและข้อชี้แจงของ องค์การค้าของ สกสค. กับ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด นั้น ไม่ตรงกันในหลายประเด็น ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอีกซักระยะ และจะมีการเชิญหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กรมบัญชีกลาง มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งของข้อมูลจาก องค์การค้าของ สกสค. และ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด เพิ่มเติม ก่อนเชิญมาร่วมชี้แจงอีกครั้ง
“ความชัดเจนคงต้องเชิญ กรมบัญชีกลาง มาให้ข้อมูลก่อน เพราะเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกวดราคา และการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ ซึ่งก็มีเค้าลางที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการทุจริต เนื่องจากทีโออาร์ผิดปกติทำให้บางบริษัทได้ประประโยชน์ และบางบริษัทเสียประโยชน์ และรัฐก็มีความเสียหาย” นายปรีติ ระบุ
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า กมธ.หลายคน ให้ความสนใจในประเด็นที่ องค์การค้าของ สกสค.อ้างว่า กรมบัญชีกลาง อนุญาตให้ใช้รูปแบบคัดเลือก ในการประกวดราคาโครงการพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2567 ตามที่เสนอไป โดยอ้างเหตุว่า ไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์และอาจมีข้อผิดพลาดได้ ทั้งที่กำหนดการเปิดภาคเรียนกำหนดในเดือน พ.ค.ของทุกปี จึงมีข้อสังเกตว่า เหตุใดถึงไม่เปิดการประกวดราคาล่วงหน้า เช่นเดียวกับข้ออ้างที่ว่าทุกๆ ปี อาจมีการเปลี่ยนหลักสูตร ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนหลักสูตรในทุกปี และทางองค์การค้าของ สกสค.ก็เคยระบุว่า หากจัดพิมพ์แบบเรียนไม่ทัน ก็สามารถนำแบบเรียนค้างสต็อคออกมาจำหน่ายแทนได้
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ทาง บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด ได้เปิดเผยด้วยว่า กรมบัญชีกลาง ไม่เคยอนุญาตให้แบ่งการประกวดราคาออกเป็น 30 กลุ่มๆ ละ 5-6 รายการ ตามที่องค์การค้าของ สกสค.ดำเนินการในโครงการพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2567 ส่วนที่ องค์การค้าของ สกสค.อ้างว่า ในการประกวดราคาได้มีการเปิดกว้าง โดยเชิญถึง 19 บริษัทเข้าร่วมนั้น ก็พบว่า ในข้อเท็จจริงมีแค่ 6 บริษัทรวม บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด เท่านั้นที่มียอดขายเกิน 200 ล้านบาทต่อปี และจะมีศักยภาพพิมพ์แบบเรียนหลักร้อยล้านบาทในเวลาอันสั้น ซึ่งส่อให้เห็นว่า อาจมีเจตนาให้เกิดการฮั้วประมูลระหว่าง 5 บริษัท ที่เป็นคู่ค้าดั้งเดิมขององค์การค้าของ สกสค.