“องค์การค้าฯ สกสค.” ดึง “สสวท.-สวนดุสิต” ติดตาม-ประเมินจัดส่งแบบเรียน ยันถึงมือ นร.ก่อนเปิดเทอม 16 พ.ค.67 เผย คกก.สอบข้อเท็จจริงจ้างพิมพ์แบบเรียน 2567 ที่ถูกร้อง สรุปแล้วทีโออาร์โปร่งใส ยันไม่มีล็อกสเปก-ฮั้วประมูล พร้อมกางรายละเอียดหากไม่กระทบสิทธิ์ผู้อื่น
วันนี้ (26 มี.ค.67) ที่กระทรวงศึกษาธิการ องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าขอฃ สกสค.) แถลงข่าวลงนามความร่วมมือกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในการติดตามและประเมินผลการผลิต จัดจำหน่ายและขนส่งหนังสือเรียนขององค์การค้าของ สกสค. ประจำปี 2567
นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. เปิดเผยว่า องค์การค้าฯของ สกสค.ได้มอบนโยบายให้แต่ละโรงพิมพ์ไปจัดทำแผนการผลิต โดยกำหนดเป้าหมายให้โรงพิมพ์ผลิตหนังสือให้ได้ร้อยละ 45 หรือประมาณ 11.5 ล้านเล่ม ให้เสร็จก่อนช่วงวันสงกรานต์ และผลิตหนังสือเรียนตามยอดที่โรงเรียนได้สั่งจองไว้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 พ.ค.67 เพื่อกระจายไปยังโรงเรียนให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 โดยเชื่อมั่นว่า โรงเรียนที่สั่งซื้อหนังสือตามปฏิทินการศึกษาจะได้รับหนังสือทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 14 พ.ค.อย่างแน่นอน
ส่วนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ประจำปี 2567 ขององค์การค้าของ สกสค.ที่ถูกร้องเรียนว่าไม่โปร่งใส เข้าข่ายล็อกสเปกและฮั้วประมูล นายพัฒนะ กล่าวยืนยันว่า หลังจากที่ได้รับการร้องเรียนจากเอกชนรายหนึ่ง ทั้งในส่วนของ สกสค.ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้มีการตั้งผู้ตรวจสอบจากภายนอกเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้มีการ
รายงานในทุกประเด็นที่มีการร้องเรียนถึง รมว.ศึกษาธิการ แล้ว ผลสรุปพบว่า กระบวนการจัดซื้อจ้างขององค์การค้าของ สกสค. มีความโปร่งใสทุกขั้นตอน ถือว่าขั้นตอนการตรวจสอบต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว และได้ชี้แจงทางผู้ร้องไปแล้วด้วย
ด้าน นายภกร รงค์นพรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา เราได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้มาตลอด ให้เหตุผลที่ต้องกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก เนื่องจากมีระยะเวลาดำเนินการจำกัด จากการที่ สพฐ. มีการปรับปรุงต้นฉบับเปลี่ยนแปลงหนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 คาดว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 78 วัน แต่หากใช้วิธี e-bidding จะทำให้ผลิตไม่ทันเวลาการเปิดภาคเรียน รวมถึงการแบ่งแบบเรียนออกเป็น 30 กลุ่มเพื่อกระจายความเสี่ยงในการผลิตให้ทันเปิดภาคเรียน และเปิดให้มีการแข่งขันราคากันอย่างโปร่งใส
นายภกร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ร้องเรียนได้มีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน เฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างแบบเรียนปี 2567 มีการร้องเรียนมาถึง 17 ฉบับในระยะเวลา 18 วัน ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-15 มี.ค.67 ทุกครั้งจะขอให้ยกเลิกประกาศทีโออาร์ ซึ่งองค์การค้าของ สกสค.ก็ไม่เข้าใจว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และไม่สามารถยกเลิกทีโออาร์ได้ เพราะจะทำให้จัดพิมพ์แบบเรียนไม่ทัน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับนักเรียน ครู โรงเรียน สถานศึกษาและระบบบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนการร้องให้ยกเลิกทีโออาร์นั้นจะมีผู้ใดได้รับประโยชน์หรือไม่ ตนไม่สามารถตอบได้
“โรงพิมพ์ที่ร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ได้งานไปทั้ง 30 รายการจาก 30 กลุ่มที่ยื่นเสนอราคา รวมกว่า 5 ล้านเล่ม และก็ได้เข้ามาทำสัญญากับองค์การของ สกสค. เมื่อวัน 20 มี.ค.67 โดยยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดเช่นเดียวกับโรงพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกอื่นๆ แต่ผู้ร้องก็ยังมีการยื่นอุทธรณ์เข้ามา ซึ่งตามหลักแล้วผู้ชนะการคัดเลือกจะไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ก็ไม่เข้าใจเหตุผลเหมือนกัน โดยเราจะทำหนังสือตอบกลับไปยังผู้ร้องเร็วๆนี้” นายภกร ระบุ
นายภกร กล่าวต่อว่า องค์การค้าของ สกสค. ดำเนินการโดยวิธีคัดเลือก และได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ) และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมทั้งได้ผ่านการหารือกับทางกรมบัญชีกลางแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้เชิญชวนสำนักพิมพ์ทั้งภาครัฐและเอกชนถึง 19 แห่ง มาร่วมในการคัดเลือก ทั้งนี้การกำหนดแบ่งกลุ่มแบบเรียน 151 รายการเป็น 30 กลุ่มนั้นก็ไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีผู้ยื่นใยทุกรายการหรทอไม่ แต่ก็มีความเชื่อมั่นลึกๆว่า การแบ่งกลุ่มเช่นนี้จะทำให้การผลิตหนังสือได้ทันตามกำหนด
“สำหรับปีต่อๆไป ได้มีนโยบายขากเลขาธิการ สกสค.ว่า เราต้องเริ่มกระบวนการต่างๆให้เร็วขึ้น เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกลับไปใช้วิธี e-bidding ให้ได้ ส่วนการแบ่งกลุ่มแบบเรียนด้วยที่ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะครั้งนี้ปรากฎว่ามี 1 รายการที่ไม่มีผู้เสนอราคา ซึ่งองค์การค้า สกสค.ก็จะแก้ปัญหาโดยการจัดพิมพ์แบบเรียน 1 รายการนั้นเอง” นายภกร กล่าว
เมื่อถามว่า ทางผู้ร้องเรียนระบุว่า การแบ่งกลุ่มแบบเรียนเป็น 30 กลุ่มๆ ละ 5-6 รายการ โดยให้แต่ละบริษัทสามารถยื่นประกวดราคาได้เพียง 1 รายการต่อกลุ่ม เข้าข่ายการกีดกัน และอาจมีการฮั้วประมูล เนื่องจากมีกลุ่มบริษัทที่ยื่นเสนอราคาแบบไม่ชนกันเลย รงมทั้งยื่นราคาต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นายภกร กล่าวว่า การแบ่งกลุ่มเป็นการกระจายความเสี่ยงในการผลิต เพื่อไม่ให้แต่ละโรงพิมพ์ต้องผลิตเกินกำลัง ไม่ใช่การกีดกันแต่อย่างใด ส่วนในเรื่องราคา หรือบริษัทไหนจะยื่นรายการใดบ้างนั้น องค์การค้าของ สกสค.ไม่อาจเข้าไปแทรกแซงได้ เป็นสิทธิ์ของทางผู้ยื่นเสนอราคา ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบจากคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ก็มีการยื่นเสนอราคาเป็นปกติ โดยมีการยื่นในรายการที่ตรงกัน ไม่ได้ไม่ชนกันเลยอย่างที่ถูกกล่าวหาว่า ฮั้วกันแต่อย่างใด ทั้งนี้รายละเอียดต่างๆยินดีที่จะเปิดเผยทั้งหมด แต่ขอไปตรวจสอบข้อกฎหมายให้แน่ชัดก่อนว่า เปิดเผยได้หรือไม่ และจะกระทบสิทธิ์ของผู้เข้าร่วมเสนอราคาหรือไม่ด้วย
ส่วนข้อกล่าวหากรณีการล็อกสเปกกระดาษนั้น นายภกร ชี้แจงว่า องค์การค้าของ สกสค. ไม่ได้กำหนดสเปกเอง แต่การเลือกใช้กระดาษของแบบเรียนที่ได้รับการอนุมัติจาก สสวท. ซึ่งเป็นเจ้าของต้นฉบับ และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสังกัด สพฐ. ได้อนุมัติให้ใช้และกำหนดราคาจำหน่ายหนังสือเรียนมาให้ องค์การค้าของ สกสค. ไม่ได้เป็นผู้กำหนดสเปกของกระดาษโดยพลการ และก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องซื้อจากแหล่งใด ทุกโรงพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกสามารถซื้อกระดาษจากแหล่งใดก็ได้ เพียงแต่ต้องใช้ตรงตามสเปกที่กำหนดตามทีโออาร์.