xs
xsm
sm
md
lg

“โรงพิมพ์รุ่งศิลป์” ฉะ “องค์การค้า สกสค.” แจงมั่ว ทำบริษัทเสียภาพลักษณ์ ชำแหละซ้ำจ้างพิมพ์แบบเรียนปี 66-67 ขัด กม.อื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รุ่งศิลป์การพิมพ์” ลากไส้ “องค์การค้าของ สกสค.” ยิบ ย้ำจ้างพิมพ์แบบเรียนปี 66-67 ขัด กม. แฉปี 66 ลักไก่ตัดแต้มบริษัท ทำองค์การค้าฯเสียหาย 61 ล้าน บี้ เกณฑ์แบ่ง 30 กลุ่มแบบเรียน เอื้อ 5 โรงพิมพ์ใหญ่ ส่อฮั้วประมูลชัดเจน จี้ เปิดข้อมูลเสนอราคาแต่ละรายการ ลั่นขอสู้ถึงที่สุดเพื่อประโยชน์เด็กนักเรียน-ผู้ปกครอง

จากกรณีที่ องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) โดย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. แถลงข่าวยืนยันว่า โครงการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียน ประจำปี 2567 จำนวน 151 รายการ ขององค์การค้าของ สกสค.มีความโปร่งใส และไม่มีการล็อกสเปก หรือฮั้วประมูล ตามที่ถูกร้องเรียน นั้น

วันนี้ (27 มี.ค.) บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด (บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์) ในฐานะผู้ร้องเรียน โดย นายอภิชาติ จิวัจฉรานุกูล กรรมการผู้จัดการ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ได้ออกแถลงการณ์โต้แย้ง องค์การค้าของ สกสค. ในหลายประเด็น โดยสาระสำคัญระบุว่า บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค. ในส่วนของปี 2566 และปี 2567 โดยในปี 2566 เป็นการวิจารณ์ร่างการประกวดราคา (ทีโออาร์) 3 ข้อ และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อกำหนดทีโออาร์ดังกล่าว ซึ่งต่อมาศาลสูงสุดได้มีคำสั่งตามศาลปกครองกลางในการทุเลาการบังคับใช้ข้อกำหนดทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ตามที่ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ยื่นฟ้อง โดยที่ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ไม่ได้ร้องให้ยกเลิกประกาศทีโออาร์ ขณะที่ปี 2567 ได้ร้องเรียนให้ยกเลิกประกาศทีโออาร์ เพียง 4 ครั้ง แต่มีการสำเนาถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

“ที่ องค์การค้าของ สกสค. ได้แจ้งต่อสื่อมวลชน ว่า ปี 2566 ได้มีการส่งหนังสือร้องเรียนให้ยกเลิกทีโออาร์ทั้งหมด 7 ฉบับ และในปี 2567 มีหนังสือร้องเรียนยกเลิกทีโออาร์ ทั้งหมด 17 ฉบับ จากผู้ร้องจาก
โรงพิมพ์เดียวกัน ในระยะเวลา 17 วันนั้น จึงไม่เป็นความจริง ทำให้ภาพพจน์ของ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก” แถลงการณ์ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุ

บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุด้วยว่า การพิจารณาราคาจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียนปี 2566 มีการพิจารณาราคาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องด้วยทางองค์การค้าของ สกสค. มีการกำหนดหลักเกณฑ์การให้คะแนน โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้เข้าประกวดราคารับทราบ โดยมากำหนดหลักเกณฑ์ในวันที่ 9 ธ.ค. 65 ทั้งที่ร่างประกวดราคาประกาศตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 65 โดยในร่างทีโออาร์ระบุเพียงผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีเอกสารยืนยันรับรองจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และกระดาษต้องมีคุณสมบัติตามที่ทีโออาร์กำหนด แต่ในเอกสารวันที่ 9 ธ.ค. 65 ได้มีการระบุถึงคุณสมบัติของผู้รับรองกระดาษ ซึ่งทาง บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ไม่ทราบมาก่อนว่ามีการกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ถูกตัดคะแนนไป 6 คะแนนในข้อนี้ เนื่องจากทาง บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ได้ยื่นเอกสารรับรองจากผู้นำเข้า ทำให้รายการที่ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะ จะต้องเสนอต่ำกว่าผู้เสนอรายอื่น 12% ทำให้ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะ จาก 12 รายการ จาก 96 รายการที่ยื่นเสนอราคาต่ำสุด ส่งผลให้องค์การค้าของ สกสค.เสียหายเป็นมูลค่า 61,851,180.00 บาท

บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุอีกว่า ในปี 2566 บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ไม่มีการร้องเรียนให้องค์การค้าของ สกสค. ยกเลิกทีโออาร์ มีเพียงการวิจารณ์ร่างทีโออาร์ และอุทธรณ์ผลการพิจารณาราคากับองค์การค้าของ สกสค.เท่านั้น ส่วนปี 2567 บริษัทคิดว่าการกำหนดทีโออาร์ โดยแบ่งเป็น 30 กลุ่ม และเลือกได้เพียงกลุ่มละ 1 เล่ม เป็นการกีดกัน บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ให้รับงานได้ไม่เกิน 5 ล้านกว่าเล่ม ทั้งที่ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ สามารถที่รับงานผลิตได้มากกว่านี้ อันจะเห็นได้จากผลงานที่ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ รับงานพิมพ์จากสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2563 ซึ่งได้รับงานพิมพ์ประมาณ 8 ล้านเล่ม และสามารถ
ดำเนินการผลิตได้แล้วเสร็จประมาณ 50 วัน และในปัจจุบันบริษัทได้ขยายกำลังการผลิตมากกว่าปี 2563
จำนวนมาก แต่สาระสำคัญในการขอให้ยกเลิกทีโออาร์ เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการฮั้วประมูลอันจะทำให้รัฐเสียหาย และทำให้เด็กผู้ปกครองต้องจ่ายเงินเกินความเป็นจริง

บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุอีกว่า ประเด็นที่องค์การค้าของ สกสค. ได้ระบุว่า องค์การค้าของ สกสค. ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องซื้อกระดาษมาจากแหล่งใด ทุกโรงพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกสามารถซื้อกระดาษจากแหล่งใดก็ได้ เพียงแต่ใช้ใบรับรองกระดาษจากผู้ขายหรือผู้ผลิต แต่ในปีการศึกษา 2566 ตามทีโออาร์ระบุว่าต้องมีใบรับรองกระดาษตามทีโออาร์เท่านั้น แต่คณะกรรมการพิจารณาราคาได้ตั้งเกณฑ์ในการให้คะแนนผู้รับรองกระดาษให้กับโรงพิมพ์ ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจไม่เป็นไปตามทีโออาร์

ในส่วนของการร้องเรียนโครงการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค. ปี 2567 นั้น บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ได้ร้องเรียนจำนวน 4 ครั้ง และมีการสำเนาถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย (จากที่องค์การค้าของ สกสค.ระบุว่าร้องเรียน 17 ฉบับใน 17 วัน) โดยครั้งแรกร้องเรียนเกี่ยวกับการให้ยกเลิกทีโออาร์ เนื่องด้วยทีโออาร์มี
การแบ่งกลุ่ม หนังสือเรียนเป็น 30 กลุ่ม จาก 151 รายการ และให้โรงพิมพ์ยื่นข้อเสนอได้เพียง 1 รายการ จาก 5 รายการในแต่ละกลุ่ม และมีเพียงกลุ่มเดียวที่มี 6 รายการ แต่ทางองค์การค้าของ สกสค. ได้เชิญ 19 โรงพิมพ์ แต่มีเพียง 6 โรงพิมพ์ (รวม บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์) ที่มีศักยภาพในการผลิต ตามที่ได้ปรากฎในประกาศผู้ชนะปี 2567 ซึ่ง 6 โรงพิมพ์ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะมากกว่า 95%

“บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทอื่นๆ ที่ทางองค์การค้าของ สกสค. ได้เชิญเข้ามา เป็นการเชิญเพื่อให้หน่วยงานดูโปร่งใส หรือเป็นเพียงไม้ประดับ ไม่สามารถผลิตงานจำนวนมากได้ และตั้งข้อสังเกตว่าทางองค์การค้าของ สกสค. ออกข้อกำหนด เอื้อให้เอกชนทั้ง 5 รายใหญ่ฮั้วประมูลกัน” แถลงการณ์ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุ

แถลงการณ์ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุอีกว่า จากการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาพิมพ์แบบเรียนปี 2567 ปรากฏว่า บริษัทเหล่านี้ได้มีการเสนอราคาที่แทบจะไม่ชนกันเลย ยกเว้นกลุ่มสุดท้ายที่ บริษัทฯ เหล่านี้น่าจะมีการเสนอราคาซนกันในรายการที่ 150 และรายการที่ 151 กลับไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หากรายการใดชนกับ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ บริษัทนั้น ก็จะไม่ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะ เนื่องจากเสนอราคาต่ำกว่าราคากสางเพียง 2-5% ซึ่งความน่าจะเป็นในการเสนอราคาแบบนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ หากไม่มีการพูดคุยกันระหว่างโรงพิมพ์เหล่านั้น

“หากคำนวนความน่าจะเป็นไปได้ที่จะเสนอราคาออกมาแบบนี้ยังน้อยกว่าหนึ่งในล้านล้านล้านล้านล้านล้าน (ใน 3 ปีที่ผ่านมามีเพียง 4-5 บริษัทที่ยื่นข้อเสนอ)” แถลงการณ์ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุ

แถลงการณ์ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุถึงการร้องเรียนครั้งที่ 2 ว่า เป็นกทรร้องเรียนต่อ รมว.ศึกษาธิการ ให้ทราบถึงปัญหาในองค์การค้าของ สกสค. และแจ้งผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ทางเอกชนทั้ง 4 รายรับงานไปผลิตเมื่อปี 2566 พิมพ์แบบเรียนในกระดาษอาร์ตที่ต่ำกว่าทีโออาร์กำหนด รวมถึงปกหนังสือบางรายที่ไม่เคลือบลามิเนตด้าน ไม่ตรงตามที่ทีโออาร์กำหนด และที่ทางสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการคำนวนราคาหน้าปก ได้มีการแจ้งว่าจะมีการเคลือบลามิเนตด้าน จึงทำให้ราคาปกหนังสือเรียนขององค์การค้าของ สกสค.สูงเกินจริง ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบนักเรียน และผู้ปกครอง เป็นอย่างมาก หาก สพฐ.ไม่ดำเนินการลงโทษต่อองค์การค้าของ สกสค. จะทำให้สำนักพิมพ์อื่นๆ เอากรณีนี้ไปใช้ อันจะทำให้ระบบการศึกษาไทยเสียหายเป็นอย่างมาก และราคาปกหนังสือจะสูงเกินจริงอย่างที่องค์การค้าของ สกสค.ได้ปฏิบัติมาเมื่อ 3 ปีผ่านมา ขณะที่การร้องเรียนครั้งที่ 3 เป็นการส่งผลนิติวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมจากครั้งที่ 2 ว่า ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของทีโออาร์ แต่ก็ยังมีการตรวจรับงานกัน ทั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในส่วนการร้องเรียนครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการประกาศผลประกวดราคา บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุว่า เป็นการร้องเรียนให้ตรวจสอบการยื่นข้อเสนอราคาของแต่ละโรงพิมพ์ เนื่องจากการเสนอราคาของ 5 โรงพิมพ์ มีลักษณะที่ทำให้เห็นว่ามีการฮั้ว หรือสมยอมในการยื่นข้อเสนอราคาครั้งนี้ ซึ่งทำให้หน่วยงานรัฐได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก และมิหนำซ้ำบางโรงพิมพ์ในปีที่ผ่านมา มีการส่งมอบงานที่ไม่ถูกต้องตามทีโออาร์ แต่ก็ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ขนะในการเสนอราคาครั้งนี้ด้วย

“ที่องค์การค้าของ สกสค.ชี้แจงว่า โรงพิมพ์มีการยื่นข้อเสนอชนกันบ้าง ซึ่งหมายถึงมีการเสนอราคาแข่งกันบ้าง
ในบางกลุ่ม บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ขอให้ องค์การค้าของ สกสค. ชี้แจงในประเด็นนี้ว่าทั้ง 5 โรงพิมพ์ใหญ่ มีการเสนอกันแข่งกันทุกกลุ่มหรือไม่ หรือมีการเสนอราคาแข่งกันเพียงไม่กี่กลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนน้อย และการเสนอราคาแข่งขันทั้ง 5 โรงพิมพ์ในกลุ่มหนังสือที่ไม่มีการเสนอแข่งกันเลย แต่จะไปเสนอราคาแข่งขันกับโรงพิมพ์เล็กเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ดูโปร่งใสหรือไม่” บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุ

บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุอีกว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าการเสนอราคาของเอกชนทั้ง 4 ราย ในปีการศึกษา 2565 และ 2566 มีความผิดปกติเป็นอย่างมาก โดยปี 2565 ในแต่ละรายการ จะมี 3 โรงพิมพ์ที่เกินราคากลางและอีก 1 บริษัท ต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย และในปี 2566 ทั้ง 4 รายมีการเสนอราคาเกินกว่าราคากลางเฉลี่ยประมาณ 6% เกือบทุกรายการ และการเสนอราคาก็เป็นรูปแบบเดิมตลอดมา ประเด็นดังกล่าวส่อให้เห็นถึงการแบ่งงานกันมาล่วงหน้า น่าจะมีการสมยอมในการเสนอราคาอย่างชัดเจน ซึ่งการกระทำของเอกชนทั้ง 4 รายเป็นการเอาเปรียบนักเรียน และผู้ว่าจ้างเป็นอย่างมาก แต่องค์การค้าของ สกสค.ก็มิได้ดำเนินการตรวจสอบแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ ในปีการศึกษา 2567 องค์การค้าของ สกสค. ยังออกทีโออาร์เอื้อประโยชน์ให้เอกชน 4 ราย บวกกับเอกชนรายใหม่กระทำการเช่นนี้อีก

“บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ จะขอสู้เพื่อผลประโยชน์อันสูงสุดของเด็กนักเรียนไทยได้ใช้หนังสือตรงตามสเปกที่
สพฐ.กำหนด และหน่วยงานสามารถจัดจ้างพิมพ์ได้ในราคาที่เป็นธรรม บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ขอสงวนสิทธิ์ในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป กับผู้อนุมัติ ผู้สั่งการ และผู้สนับสนุน ในการกระทำความผิดที่กล่าวมาข้างต้นอย่างถึงที่สุด เนื่องจากทางหน่วยงานไม่มีความยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง มีการกระทำที่น่าจะขัดกฎหมายหลายครั้ง” บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ระบุในตอนท้าย








กำลังโหลดความคิดเห็น