ศาล รธน.เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย เชื่อไทยได้ประโยชน์ รับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศเจอการเมืองกดดันเช่นเดียวกับไทย เล็งใช้เวทีนี้ปรับทุกข์-แนะนำ-ให้กำลังใจกัน
วันนี้ (1 ก.ค.) นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ นายนพดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวศาลรัฐธรรมนูญเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย หรือ AACC ครั้งที่ 6 วันที่ 17-21 กันยายน 2567 ณ รร.พลาซ่าแอทธินี กรุงเทพ ภายใต้หัวข้อหลัก “Constitutional Courts and Equivalent Institutions in Strengthening Constitutional Justice for Sustainable Society ,: ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” ซึ่งจะมีประธานศาลรัฐธรรมนูญกว่า 10 ประเทศมาเยือนประเทศไทย
นายนพดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมของสมาคมศาลรัฐธรรมนูญฯ ในหลายประเทศ ซึ่งมีสมาชิก 21 ประเทศ สะท้อนว่า ทั่วโลกมีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและศาลเป็นเสมือนหนึ่งการสะท้อนถึงประชาธิปไตย โดยศาลรัฐธรรมนูญรักษาดุลยภาพระหว่างสถาบันบริหารกับสถาบันนิติบัญญัติ เพื่อปกป้องไม่ให้ผู้บริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมายริดรอนสิทธิของประชาชน ศาลจะเช็คว่ากฎหมายที่ออกมาขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักรูออฟลอว์หรือไม่
อีกทั้งการประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเพราะการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ประธานสมาคม AACC และเจ้าภาพการประชุมแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นที่ยอมรับไว้วางใจจากประเทศสมาชิก ในความมีมาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญไทยโดยประธานมีบทบาทสำคัญในการกำหนดหัวข้อการประชุม ให้เป็นในทิศทางต้องการ โดยหัวข้อการประชุมครั้งนี้พูดถึงเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน”
“เราไม่ได้มองการแก้ไขปัญหาไปวันวัน เรามองว่า จะทำอย่างไรให้ศาลรัฐธรรมนูญดำรงไว้ซึ่งหลักนี้ ทำความเป็นประชาธิปไตยและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างยั่งยืนไม่ให้ถูกเปลี่ยนแปลงหรือโค่นล้มโดยอำนาจนิยม ซึ่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ”
นายนพดล ยังคาดหวังว่าจะออกคำประกาศ หรือจุดมุ่งหมายในการจัดประชุม เพื่อให้โลกดำเนินต่อไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก
นายนพดล ยังกล่าวถึงข้อดีที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม AACC ว่า เมืองไทยได้เป็นประธานก็มีสิทธิจะกำหนดหัวข้อการประชุม ซึ่งย่อมไม่เลือกหัวข้อที่จะทำให้เสียประโยชน์หรือเป็นปัญหา ซึ่งทุกประเทศที่เป็นประธานก็จะคิดเช่นกันในการกำหนดหัวข้อ เมื่อไทยไปเข้าร่วมก็อาจจะผูกพันสำนักงาน ถ้าผูกพันในทางบวกก็ดีไปแต่ถ้าผูกพันในทางลบก็ไม่ดี ดังนั้น การเป็นประธานก็ได้สิทธิในฐานะประธานในการวินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้น เมื่อไทยเป็นฝ่ายจัดก็ง่ายที่จะคุม ทั้งนี้ สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญประเทศต่างๆ เผชิญเหมือนกัน คือ การถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง ดังนั้นเวทีนี้จะเป็นการให้คำแนะนำ ปรับทุกข์ ให้ Moral supports ซึ่งกันและกัน แต่ต้องอยู่บนหลักการตุลาการต้องเป็นกลาง มีอิสระ ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน รักษาสิทธิมนุษยชน ยึดหนักนิติรัฐและนิติธรรม
ด้าน นายนครินทร์ กล่าวว่า ตุลาการมีหน้าที่วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ และยอมรับว่าศาลถูกกดดัน ซึ่งได้มีการปรับทุกข์กับตุลาการเรื่องนี้บ่อยมาก และเชื่อว่า ตุลาการของประเทศอื่นก็น่าจะเจอเช่นเดียวกัน
เมื่อถามถึงก่อนการประชุมจะมีคดีสำคัญที่จะต้องพิจารณา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประเทศอื่นๆก็ให้ความสนใจ มีความหนักใจหรือไม่
นายนครินทร์ ตอบว่า ไม่มีอะไรหนักใจ ก็เป็นกระบวนการพิจารณาไปตามกำหนดเวลาที่ได้รับแจ้งมา มีการส่งคำร้องให้คู่กรณีดู ตรวจสอบพยานหลักฐาน หากตุลาการคิดว่าพร้อมก็ตัดสินคดีไปไม่มีอะไรน่าหนักใจเพราะเป็นไปตามกระบวนการปกติ