xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภูฏาน (9)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมเด็จพระราชาธิบดีชิกเม เซ็งเค วังชุก พระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 2006 (ภาพ : วิกิพีเดีย)
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ภูฏานเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียและของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเปลี่ยนแปลงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับมาจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานมีอายุได้ 15 ปี

ภูฏานเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2551 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ในหมวดที่หนึ่ง ได้แก่มาตรา 1 กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน

ผู้เขียนได้กล่าวถึงที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมืองภูฏานที่บัญญัติไว้ในหมวดที่เจ็ด ที่มีทั้งหมด 23 มาตราไปแล้ว และถ้าเปรียบเทียบหมวดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองของรัฐธรรมนูญภูฏาน พ.ศ. 2551 กับหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จะพบว่า ของภูฏานมี 23 มาตรา ส่วนของไทยมี 25 มาตรา ผู้อ่านน่าจะลองเปรียบเทียบสิทธิเสรีภาพพลเมืองไทยกับของภูฏานดู

ได้กล่าวถึงหมวดหน้าที่พลเมืองในรัฐธรรมนูญภูฏานไปแล้วว่ามีทั้งหมด 11 มาตรา เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญไทยในหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของพลเมือง ของไทยมี 12 มาตรา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า รัฐธรรมนูญภูฏานจะกำหนดไว้ในหมวดที่หนึ่ง มาตรา 1 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน แต่ก็กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการเสนอกฎหมายได้ (มาตรา 2.16 (d)) ขณะเดียวกัน พระมหากษัตริย์จะต้องลงพระปรามาภิไธย หากร่างกฎหมายได้รับการเสนอกลับขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งในแง่นี้ จึงกล่าวได้ว่า ในกระบวนการนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญภูฏานให้อำนาจสภาเป็นอำนาจสูงสุดสุดท้าย นอกจากพระมหากษัตริย์ภูฏานจะมีพระราชอำนาจทางนิติบัญญัติแล้ว ตามมาตรา 2.19 พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ หลายตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว

 นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงสละราชบัลลังก์เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่พระองค์จะต้องสละราชบัลลังก์ไว้ โดยรายละเอียดปรากฎในหมวดสอง ตั้งแต่มาตรา 20-25 ซึ่งรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดให้ รัฐสภาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราๆ ต่างในหมวดที่สองนี้ แต่จะกระทำได้ก็ต้องผ่านการทำประชามติ โดยรัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่จะต้องสละบัลลังก์ไว้ในมาตรา 20-26 ของหมวดที่สอง อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ (The Institute of Monarchy)  

 มาตรา 20  องค์สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงสละราชบัลลังก์หากทรงละเมิดรัฐธรรมนูญโดยตั้งพระทัย หรือ ทรงประชวรไร้ความสามารถทางพระมัตถลุงค์ (สมอง) อย่างถาวร ซึ่งในการนี้ จะต้องมีการลงมติโดยที่ประชุมร่วมของรัฐสภาตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในมาตรา 21, 22. 23. 24 และ 25 ในหมวดนี้

 มาตรา 21  จะต้องมีการจัดอภิปรายญัตติการสละราชบัลลังก์ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา โดยการเสนอญัตติจะต้องได้เสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นญัตติการสละราชสมบัติเพราะการละเมิดรัฐธรรมนูญโดยตั้งพระทัยหรือเพราะอาการประชวรดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 20

มาตรา 22  องค์สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงมีพระราชหัตเลขาตอบญัตติดังกล่าวหรือโดยพระราชดำรัสต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาโดยพระองค์เองหรือตัวแทนของพระองค์ได้

มาตรา 23 ประธานศาลสูงสุดเป็นประธานในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาในกรณีมาตรา 21 ในหมวดนี้

มาตรา 24 หากมีการลงมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้มีการสละราชบัลลังก์ จะต้องมีการนำมติดังกล่าวไปทำประชามติทั่วไปเพื่อรับรองหรือปฏิเสธ

มาตรา 25 หากผลการทำประชามติ เสียงข้างมากธรรมดาที่นับจากทุกเขต (Dzongkhags) ในราชอาณาจักรรับรองมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภา องค์สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงสละราชบัลลังก์แก่องค์รัชทายาท (heir apparent)

มาตรา 26 รัฐสภาแก้ไขกฎหมายใดๆ หรือใช้อำนาจในการแก้ไขมาตราต่างๆ ในหมวดนี้และมาตรา 2 ในหมวดที่หนึ่งได้โดยผ่านการทำประชามติ
สำหรับมาตรา 2 ในหมวดที่หนึ่ง คือ มาตราที่กำหนดให้ราชอาณาจักรภูฏานปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic Constitutional Monarchy)

จากข้างต้น จะพบว่า การสละราชบัลลังก์จะต้องผ่านการลงมติของที่ประชุมร่วมของรัฐสภา (joint sitting of Parliament) ดังนั้น ผู้เขียนจะขออธิบายเกี่ยวกับรัฐสภาของภูฏานเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพขององค์ประกอบของรัฐสภาภูฏาน
ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐสภา รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดไว้ในหมวดที่สิบ เป็นหมวดที่ว่าด้วยรัฐสภา (Parliament) สามารถประมวลสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้

รัฐสภาภูฏานมีอำนาจนิติบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ องค์ประกอบของรัฐสภา คือ องค์สมเด็จพระราชาธิบดี สภาแห่งชาติ (National Council) และสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) 

-สมาชิกรัฐสภา (Parliament) มาจากการเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้งแห่งราชอาณาจักร เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ แต่จะต้องไม่เป็นสมาชิกสภาแห่งชาติหรือสมาชิกสมัชชาแห่งชาติในเวลาเดียวกัน และจะต้องไม่เป็นสมาชิกในการปกครองท้องถิ่น จำนวนสมาชิกรัฐสภาที่กำหนดไว้ตามเกณฑ์ของกฎหมายเลือกตั้งภูฏานปัจจุบันคือ 47 ที่นั่ง

-ส่วนสมาชิกสภาแห่งชาติกำหนดไว้หมวดที่สิบเอ็ด (The National Council) มีจำนวนทั้งสิ้น 25 ที่นั่งประกอบไปด้วย

สมาชิกจำนวน 20 คนที่จะมาการเลือกตั้งจากแต่ละเขตยี่สิบเขต (Dzongkhags) เขตละหนึ่งคน
บุคคลที่มีคุณสมบัติโดดเด่นจำนวน 5 คน เสนอชื่อโดยองค์สมเด็จพระราชาธิบดี
สมาชิกสภาแห่งชาติจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง
-สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (the National Assembly) กำหนดไว้ในหมวดที่ 12 มีจำนวนทั้งสิ้น 55 ที่นั่งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติมาจากการเลือกตั้งจากแต่ละเขตเป็นสัดส่วนตามจำนวนประชากร แต่จะต้องมีไม่น้อยกว่าสองคนหรือมากกว่าเจ็ดคนในแต่ละเขต และผู้ลงคะแนนเสียงแต่ละคนจะเลือกสมาชิกสมัชชาแห่งชาติได้เพียงหนึ่งคน

 ดังนั้น จากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหมวดที่สองที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญภูฏาน องค์สมเด็จพระราชาธิบดีจะต้องสละราชบัลลังก์ด้วยเสียงข้างมากสามในสี่จากที่ประชุมร่วมรัฐสภา อันได้แก่ รัฐสภา สภาแห่งชาติ และสมัชชาแห่งชาติ นั่นคือ จำนวนสมาชิกสามในสี่ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา (47 + 25 + 55 = 127) สามในสี่ก็คือประมาณ 95 เสียง  

หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของไทย พ.ศ. 2560 เราไม่ได้มีมาตราที่กำหนดเงื่อนไขให้พระมหากษัตริย์จะต้องสละราชบัลลังก์จากกรณีละเมิดรัฐธรรมนูญโดยตั้งพระทัยหรืออาการประชวรถาวรทางสมอง
(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น