xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลส่อเจ๊ง ตะแบงสู้ยุบพรรค!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เมืองไทย 360 องศา

จะเรียกว่าไม่เคยสรุปบทเรียนเลยก็ว่าได้สำหรับพรรคก้าวไกล เพราะหากมองย้อนอดีตที่ผ่านมาไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ คดีซุกหุ้นปล่อยเงินกู้ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค ก่อนมาจะเป็นพรรคใหม่ในปัจจุบัน หรือแม้แต่กรณีถูกร้องเรื่องการปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ บรรดาคนในพรรคก้าวไกล ก็ยังใช้วิธีการแบบเดิมคือ บอกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ” พิจารณาคดี หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้อง และก็ผลออกมาแบบตรงกันทุกครั้ง คือ “แพ้ทุกครั้ง” และแพ้แบบหมดรูป

คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคเมื่อครั้งที่เกิดเหตุจนทำให้ถูกร้องยุบพรรคในครั้งนี้ ก็ยังมาในรูปแบบเดิมๆอีก

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าว แนวทางการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล โดยชี้แจงข้อต่อสู้ทั้งในแง่ของเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ

1) ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ โดย นายพิธา ระบุว่า พรรคก้าวไกลยืนยันในสิ่งที่ต่อสู้มาแล้ว ตั้งแต่คดียุบพรรคอนาคตใหม่ นั่นคือ ขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจเฉพาะ คือ (1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย (2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ และ (3) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ไม่มีข้อใดที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองเลย รวมถึงไม่ได้เปิดช่องให้ออกกฎหมายเพิ่มอำนาจอื่นให้ศาลรัฐธรรมได้อีก การที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยอ้างว่าตนเองมีอำนาจยุบพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น เป็นการอ้างกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

2) กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบที่ตนกำหนดให้ผู้ถูกร้องต้องมีโอกาสได้รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาก่อนแต่อย่างใด

3) ในการพิจารณายุบพรรคก้าวไกลต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ จะอ้างว่าข้อเท็จจริงที่กล่าวหาพรรคล้มล้างการปกครองเป็นที่ยุติแล้วตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่ได้ ทั้งนี้ คำวินิจฉัยในคดีก่อนไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้ เนื่องจากเป็นคดีที่มีข้อหาต่างกันและระดับโทษก็ต่างกัน มาตรฐานในการพิจารณาคดีจึงต้องมีความเข้มข้นแตกต่างกัน

4) แม้โทษยุบพรรคจะมีได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องมีไว้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งพรรคการเมืองมีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น มาตรการยุบพรรคจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ด้วยความอดทนอดกลั้น ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีมาตรการอื่นยับยั้งการกระทำที่เห็นว่าเป็นล้มล้างการปกครองได้แล้วเท่านั้น

นายพิธา ยังระบุด้วยว่า พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า การกระทำที่ถูกกล่าวหานั้นไม่เป็นการล้มล้าง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายหาเสียง การยื่นร่างกฎหมายในสภา การแสดงความเห็นในที่สาธารณะ รวมถึงการที่คนของพรรคเป็นนายประกันหรือ เป็นผู้ต้องหาในคดีตาม มาตรา 112

ที่ผ่านมา การที่ส.ส.ยื่นร่างกฎหมายหรือนำการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นนโยบายหาเสียง รวมถึงการที่ ส.ส.ไปเป็นนายประกันในคดีมาตรา 112 ล้วนเคยมีผู้ร้องไปที่ กกต.ขอให้ยุบพรรคก้าวไกลมาแล้ว แต่ก็ยกคำร้องมาโดยตลอด และกกต.ก็ไม่เคยมีหนังสือเตือนมาที่พรรคก้าวไกลเหมือนกับที่เคยส่งหนังสือเตือนพรรคการเมืองหนึ่งที่ไปหาเสียงที่จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ในการหาเสียง และไม่เคยทักท้วงนโยบายที่ยื่นให้ กกต. ต่างจากนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งที่ กกต.เคยให้ชี้แจงเรื่องการใช้งบประมาณ

หากสังเกตจะเห็นสิ่งที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำมาโต้แย้งแทบทั้งหมดเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เคยนำมาต่อสู้ และก็ล้มเหลวมาทุกครั้ง นั่นคือ ยังย้ำอยู่แบบเดิม คือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีตามคำร้อง และ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำร้อง ไม่ได้อธิบายข้อกฎหมายในแง่มุมอื่น

ทำให้มองการเคลื่อนไหวของ พรรคก้าวไกล ในครั้งนี้ เหมือนกับว่า “รู้ชะตากรรม” ล่วงหน้าอยู่แล้ว จะผลจะออกมาอย่างไร แต่ก็ขอตายแบบ “กามิกาเซ่” ให้ตายหรือสร้างความสั่นสะเทือนไปพร้อมกัน เพราะคำแถลงของ นายพิธา ไม่ต่างจากการดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญ และขัดขืนคำสั่งที่ห้ามแสดงความคิดเห็นชี้นำสังคม

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในเรื่องอำนาจในการพิจารณา นั้นถือว่าน่าจะจบไปแล้วตั้งแต่แรกที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยุบพรรคก้าวไกลตั้งแต่แรกแล้ว เพราะในเวลานั้นไม่ได้โต้แย้งแบบนี้ แต่กลับขอขยายเวลาในการชี้แจงถึงสามครั้ง นั่นก็เท่ากับยอมรับอำนาจของศาลอยู่แล้ว

ส่วนในกรณีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ระบุว่า ไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลนั้น ที่ผ่านมาทาง นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ได้อธิบายว่า การดำเนินการของกกต. ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบสืบสวนไต่สวน แต่เป็นการดำเนินการตามระเบียบว่า ด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

ส่วนที่ว่า ทางพรรคก้าวไกลมีการระบุว่า กกต.ใช้หลักฐาน เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมาเป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียว ในการยื่นขอยุบพรรคก้าวไกล นั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า ขอตอบในนามส่วนตัวว่า ที่จำเป็นต้องส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายมาตราที่เกี่ยวข้องบอกว่า เมื่อกกต. “มีหลักฐานอันควรเชื่อว่า” ซึ่ง หลักฐานอันควรเชื่อว่าตรงนี้ก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งไป ถ้าไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เราอาจจะต้องดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานมากกว่านี้ นี่คือข้อเท็จจริงที่ได้แจ้งให้สาธารณชนทราบไปแล้ว

ดังนั้น ทุกอย่างจึงออกมาชัดเจนอยู่แล้วว่า ทั้งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาหรือไม่ รวมไปถึงคณะกรรมการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ ขณะที่พรรคก้าวไกลก็ยังใช้วิธีการแบบเดิมไม่เคยเปลี่ยนทั้งที่ผลในอดีตที่ออกมาล้วนผิดพลาดยับเยินมาทุกครั้ง และครั้งนี้ก็ผลก็คงไม่ต่างไปจากในอดีต

แต่หากมองอีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนกับรู้ชะตากรรมล่วงหน้า แต่ขอป่วนให้สุดหรือเปล่า !!



กำลังโหลดความคิดเห็น