xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลังยุบก้าวไกล ตัดสิทธิ์ยกก๊วน !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ล้มเจริญรัตน์  - ชัยธวัช ตุลาธน  นำแถลง
เมืองไทย 360 องศา

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคมว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรค และพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และได้สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดการกระทำดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

จากนั้นก็เป็นไปตามคาดหมาย เพราะมีผู้ร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล และให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกับ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอให้แก้ไข มาตรา 112

โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายธีรยุทธ สุววรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองฯ เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ขอให้พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

นายธีรยุทธ กล่าวว่า จากการศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า การกระทำของนายพิธาในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เห็นว่า นอกจากคำวินิจฉัยของศาลนี้มีผลผูกพันกกต.ด้วยแล้ว น่าจะเป็นเรื่องผูกพันที่ตนให้ต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญจึงได้ทำคำร้องพร้อมเอกสารกว่า 100 หน้านำมายื่นต่อกกต.

เพื่อดำเนินการกับพรรคก้าวไกลให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และตามพ.ร.ป.ว่า ด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าเมื่อกกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการ(1)กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลพิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง

เมื่อถามว่า หากมีการยื่นยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของประเทศไทย พรรคก้าวไกล หรือสมาชิกพรรค หรือผู้สนับสนุน หรือผู้นิยมชื่นชอบพรรคก้าวไกล อยู่ในฐานะที่จะต้องปฏิบัติและยึดถือบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทยซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตนก็เชื่อว่าหลักการนี้ก็ปรากฏอยู่ในข้อบังคับของพรรคก้าวไกลด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นการที่จะมีผลกระทบหรือจะกระทบกระทั่งกันอย่างไรก็เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ที่คนนั้นควรจะพิจารณาระลึกถึงบ้าง

นายธีรยุทธ ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 2 ก.พ. เวลา 10.00 น. ตนจะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และสส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 รวมถึงนายพิธา ด้วย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เชื่อว่า จะเหมือนกับกรณีของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน

ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองจากการเสนอแก้ไขและมีนโยบายหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นายเรืองไกร กล่าวว่า ที่มาวันนี้ เนื่องจากเมื่อวาน (31 ม.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยระบุชัดเจนว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 และสั่งให้เลิกการกระทำ ซึ่งตนเข้าใจว่า ห้ามยกเลิกมาตรา 112 และการจะตรากฎหมายใหม่แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก สามารถทำได้ แต่ต้องชอบด้วยกฎหมาย

เขากล่าวว่า คำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว จะผูกพันถึง กกต. ที่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะถือเป็นความปรากฏ ส่วนองค์กรที่ 2 คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ถูกร้องเป็น ส.ส. 44 คน ว่าใช้สิทธิและเสรีภาพ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนได้เคยยื่นเรื่องไปแล้วเมื่อปี 2564

“นี่เป็นการตรวจสอบตามข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน ไม่ได้มีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ หรือนำความเห็นส่วนตัวมาร้องแต่อย่างใด”

แน่นอนว่ากว่าเรื่องราวหรือคดีจะสิ้นสุดคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ หรืออาจนานเป็นปี ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุชัดเจนว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ มันก็ย่อมต้องมีดาบสองตามมา นั่นคือ การร้องให้ยุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางการเมือง ซึ่งหากพิจารณาจากตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาก็มักถูกตัดสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งกรณีนี้ถือว่า “คอพาดเขียง” เริ่มนับถอยหลังกันได้แล้ว

แม้ว่าก่อนหน้านั้น เมื่อทราบผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว บรรดาแกนนำพรรคก้าวไกล จะยังแสดงท่าทีฮึดฮัด อ้างว่าเป็นการวินิจฉัยคลุมเครือ กระทบต่อองค์กรนิติบัญญัติ รวมไปถึงจะกระทบต่อสถาบันฯอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรนับจากนี้ เอาเป็นว่าเป็นเพียงแสดงท่าทีแบบปากกล้า ขาสั่น แค่ฮึดฮัด แต่ก็ไม่กล้าขยับอะไรมากกว่านี้

ทางหนึ่งอาจรู้แล้วว่า ยิ่งขยับก็ยิ่งดิ้นไม่หลุด เพราะในเมื่อในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมได้ “สั่งให้หยุด” พฤติกรรมที่จะแก้ไข หรือยกเลิก มาตรา 112 ดังนั้น หากไม่หยุดทันทีมันก็ต้องโดน

ดังนั้น ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ถือว่ามีน้ำหนักอย่างมากที่จะส่งผลต่อ “ดาบสอง” ที่กำลังตามมา นั่นคือ คำร้องยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์การเมืองแบบยกก๊วน กับบรรดา ส.ส.ที่เคยเสนอขอแก้ไข มาตรา 112 ก่อนหน้านี้ ตามที่สำรวจรายชื่อมีจำนวน 44 คน ก็ต้องเตรียมใจรอไว้ล่วงหน้า เพียงแต่ว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะ แต่ก็คงไม่นานเกินไป เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงทางกฎหมาย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น