xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯขยายโอกาสธุรกิจเครื่องปรุงรสไทยให้เป็นที่รู้จักขึ้น หนุนแนะแนวทางพัฒนาตีตลาดในจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ขยายโอกาสทางธุรกิจให้อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสของไทย ผลักดันอาหารและวัตถุดิบไทยให้เป็นที่รู้จักขึ้น หนุนผู้ประกอบการเสนอแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสไทย ตีตลาดสร้างความนิยมในจีน


วันนี้ (9มิ.ย.) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบจากท้องถิ่น สู่การส่งออกในตลาดต่างประเทศ ยกระดับรายได้ผู้ประกอบการอาหารไทย พร้อมสนับสนุนแนวทางให้แก่ผู้ประกอบไทยที่สนใจตลาดจีน พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในจีน ซึ่งตลาดที่มีผู้บริโภคชื่นชอบอาหารและเครื่องปรุงรสไทยจำนวนมาก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันวัตถุดิบและเครื่องปรุงรสไทยได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งระบุว่า มีผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากที่นิยมและชื่นชอบอาหารไทย สะท้อนได้จากร้านอาหารไทยในจีนมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่มักเลือกใช้เครื่องปรุงรสไทยในการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากเครื่องปรุงรสของไทย มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ดีต่อสุขภาพ และมีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย เช่น ในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงตรงกับกระแสแนวโน้มเรื่องการรักสุขภาพในปัจจุบันที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนมีความใส่ใจทางด้านสุขภาพและรสชาติอาหารมากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสของไทย ไปสู่ตลาดจีนเพิ่มขึ้นได้ โดยทาง สคต. ณ เมืองเซี่ยเหมินฯ ได้เสนอแนะแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสของไทยไว้ ดังนี้

1) เน้นรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากเครื่องปรุงรสแต่ละอย่างของไทย มีกลิ่นและรสสัมผัสที่แตกต่างกัน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
2) ควรใช้วัตถุดิบธรรมชาติในการผลิต และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เนื่องจากผู้บริโภคจีนให้ความสำคัญกับสุขภาพ
3) ประชาสัมพันธ์ถึงข้อมูลด้านวัตถุดิบที่นำมาผลิตเครื่องปรุงรส เนื่องจากเครื่องปรุงรสไทยหลายชนิดมีสมุนไพรและเครื่องเทศเป็นส่วนประกอบ ทำให้มีคุณสมบัติทางยา และบำรุงสุขภาพ นอกจากนี้ ควรมีการจำกัดปริมาณของน้ำตาลและโซเดียมในเครื่องปรุงที่ใช้ให้อยู่ในปริมาณต่ำ เพื่อให้ตรงกับเทรนด์การดูแลสุขภาพของผู้บริโภคชาวจีน
4) เน้นทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เช่น บนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าในปี 2566 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสเป็นอันดับ 6 ของโลก มูลค่า 977 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5 ปีที่ร้อยละ 7.6 โดยตลาดส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยอยู่ใน 3 ภูมิภาคสำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ

“นายกรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสของไทย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ด้านอาหาร ที่สามารถขยายตลาดการส่งออกได้มากขึ้น ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องปรุงไทย ทั้งช่วยชูรสชาติ สร้างความกลมกล่อม และเสริมสีสันให้อาหาร รวมทั้ง หลากหลายเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ทั้งนี้ จีนถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการหากได้รับการผลักดันและส่งเสริมให้เติบโต และแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ” นายชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น