ผู้จัดการรายวัน 360 - เนสท์เล่สานต่อแนวทางธุรกิจสู่ความยั่งยืน ภายใต้ 2 กลยุทธ์สำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ล่าสุดพร้อมขับเคลื่อนอนาคตอุตสาหกรรมอาหารไทย ร่วมโครงการ SPACE-F หนุนนวัตกรรมฟูดเทคและสตาร์ทอัพ จับมือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป
นายวิคเตอร์ เรียห์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เปิดเผยว่า เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป อุตสาหกรรมอาหารต้องปรับตัวเช่นกัน เนสท์เล่จึงมุ่งเน้นแนวทางธุรกิจสู่ความยั่งยืน ภายใต้ 2 กลยุทธ์ คือ 1. การขับเคลื่อนสิ่งดีๆ เพื่อผู้บริโภค : เป็นกลยุทธ์สำคัญในการเสริมสร้างโภชนาการเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้บริโภค มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่อร่อยขึ้นและดีต่อสุขภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. ขับเคลื่อนสิ่งดีๆ เพื่อโลกของเรา : เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์และการดําเนินงานของเนสท์เล่มีความยั่งยืน โดยมีหนึ่งกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนสิ่งดีๆ เพื่อโลกของเรา (Good for the Planet) เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050
เนสท์เล่ได้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะส่งเสริมเจตนารมณ์ของบริษัทที่วางไว้ เชื่อว่าโครงการ SPACE-F จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยสู่อนาคต สร้างสรรค์อาหารที่ทั้งดีต่อผู้บริโภค และดีต่อโลก สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท
ปัจจุบันเนสท์เล่มีเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนา 25 แห่ง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ 10 แห่งทั่วโลก และได้จัดสรรงบลงทุนกว่า 1,700 ล้านสวิสฟรังก์ (หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท) ในแต่ละปี เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนในทุกช่วงวัย สตาร์ทอัพจากโครงการ SPACE-F จะช่วยเสริมจุดแข็งของบริษัท และช่วยให้เนสท์เล่สามารถสร้างประโยชน์ให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ อว. คือ การยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ เน้นส่งสริมการใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่า ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ
ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกในปี 2566 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีสถานประกอบการกว่า 1.36 แสนราย และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 9.73 แสนตำแหน่ง โครงการ SPACE-F จึงเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของ อว. ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ให้สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งและนำนวัตกรรมมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากลช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น "ชาตินวัตกรรม" และก้าวสู่อันดับที่ 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ภายในปี 2573
ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีเป้าหมายในการยกระดับระบบนวัตกรรมของประเทศ โดยอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายสำคัญที่ NIA มุ่งขับเคลื่อน จากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Global Startup Ecosystem Index) โดย StartupBlink พบว่าระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 52 ของโลก อันดับที่ 11 ของเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 4 ของอาเซียน กรุงเทพฯ มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด โดยขยับขึ้นมา 25 อันดับ สู่อันดับที่ 74 ของโลก อันดับที่ 3 ในอาเซียนในฐานะหนึ่งในเมืองชั้นนำด้านระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ
"โครงการ SPACE-F จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการที่พัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตโปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอัจฉริยะ เป็นต้น ทำให้สตาร์ทอัพสามารถเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับสากลได้”
ปีนี้เนสท์เล่ได้เข้าเป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ที่จะเข้าร่วมโครงการ และเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพทั้งในไทยและจากต่างประเทศทั่วโลกสามารถมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของนวัตกรรมอาหารในอนาคต“ ดร.กริชผกากล่าว
สำหรับโครงการ SPACE-F เริ่มตั้งแต่ปี 2562 โดยมีสตาร์ทอัพทั้งในประเทศและทั่วโลกเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 ราย และปัจจุบันได้ระดมเงินทุนไปแล้วมากกว่า 63 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการ SPACE-F เตรียมเปิดรับสมัครรุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2567