จันทบุรี - ล้งส่งออกเมืองจันท์มั่นใจตลาดทุเรียนไทยไปจีนปี 67 ยังสดใสแม้เพื่อนบ้านปลูกทุเรียนแข่ง มั่นใจคุณภาพดียังขายได้ ชี้ล้งเกิดใหม่ไม่ใช่ปัญหาแต่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการส่งออกได้มากขึ้น เผยตลาดจีนยังมีพื้นที่ให้ทำเงินอีกมากหากทุกภาคส่วนช่วยกันเข้มงวดควบคุมทุเรียนด้อยคุณภาพ
นายนครินทร์ วนิชย์ถนอม เจ้าของแผงทุเรียน “คุณนนท์ เนินสูงจันทบุรี” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เผยถึงสถานการณ์ทุเรียนจันทบุรีในปี 2567 ว่าแม้จะเริ่มฤดูกาลเก็บเกี่ยวล่าช้ากว่าปีก่อนประมาณ 1 เดือนจากสภาพอากาศที่แปรปรวน แต่เชื่อว่าตลาดส่งออกไปจีนจะยังสดใสในแง่ของราคาเพราะแค่เริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยว ราคาทุเรียนพันธุ์กระดุม ที่จะออกสู่ตลาดในเดือน มี.ค.นี้เปิดราคาสูงถึง 320 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ซึ่งจะทำให้ราคาทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่กำลังจะออกในช่วงต่อไปสูงตามไปด้วย
ส่วนกรณีที่มีการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการล้งหน้าใหม่ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้ที่คาดว่าน่าจะมีประมาณ 200-300 ล้งไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาแต่เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยในการกระจายผลผลิตทุเรียนไปประเทศจีนได้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคปลายทาง
“เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของคู่แข่งทางการค้าที่ขณะนี้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันมาปลูกทุเรียนแข่งกับไทยมากขึ้น แต่เรายังมั่นใจว่าศักยภาพของทุเรียนจันทบุรีที่มีคุณภาพดี กลิ่น รสชาติและผลทุเรียนที่สวยงามจะยังมั่นใจตลาดปลายทางไว้ได้ หากทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกันรักษาคุณภาพตั้งแต่สวน มือตัด มือคัดและผู้ส่งออกในพื้นที่”
เจ้าของแผงทุเรียน “คุณนนท์ เนินสูงจันทบุรี” ยังเผยอีกว่าในส่วนตัวแล้วมองว่าตลาดทุเรียนเป็นตลาดเสรีที่ใครจะเข้ามาซื้อขายก็ได้ เพราะตนที่ในวันนี้คือผู้ประกอบการในลักษณะกลางเก่ากลางใหม่ ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่เช่นกัน ดังนั้น การที่มีผู้ซื้อมากขึ้นในตลาดหมายถึงกำลังซื้อที่จะทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมืองจันท์ขายผลผลิตได้มากขึ้นเช่นกัน
“แต่อย่าลืมว่าผู้ประกอบการหน้าเก่าเปิดรับทุเรียนมากขึ้นเช่นกันจากราคารับซื้อปลายทางที่สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการหน้าใหม่บางส่วนมาจากภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนอื่นๆ ที่มองเห็นอนาคตของการส่งออกทุเรียน ซึ่งในจุดนี้อาจจะทำให้เกิดการผันผวนด้านราคาในระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาค้าขายในไทยที่อาจจะไม่รู้และไม่เข้าใจถึงลักษณะตลาดว่าเป็นเช่นไร เพียงแต่เป็นการเข้ามาในลักษณะพ่อค้าที่ต้องการเข้ามาเพื่อซื้อของไปขายเท่านั้น”
นายนครินทร์ ยังได้ฝากความหวังไปทางจังหวัด ให้ดำเนินมาตรการควบคุมผลผลิตทุเรียนเพื่อช่วยแก้ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพที่อาจจะหลุดออกสู่ตลาด อย่างไรก็ตามตนยังมีความมั่นใจว่าไม่มีผู้ประกอบการล้งรายใดที่มีเจตนาไม่ดีต่อตลาดทุเรียนไทย เพียงแต่ที่บางครั้งความเป็นมือใหม่อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่เข้าใจตลาดปลายทาง โดยเฉพาะความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่อยากได้ทุเรียนที่ดีและอร่อยไม่ต่างจากคนไทย
จนทำให้ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อหวังว่าจะได้ทุเรียนคุณภาพแต่สุดท้ายต้องผิดหวัง ในวันนี้จึงอยากฝากให้ทุกท่านมีความระมัดระวังในเรื่องคุณภาพการผลิตให้มากขึ้น
“จริงๆ ตลาดจีนยังเปิดรับทุเรียนได้อีกมาก ซึ่งเกษตรกรชาวสวนของไทยยังผลิตทุเรียนได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพียงแต่ปัญหาในขณะนี้คือราคาทุเรียนที่สูงมากในประเทศปลายทางจนทำให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อไม่ใช่คนทั้งประเทศ แต่หากวันหนึ่งราคาทุเรียนอยู่ในระดับปกติ ตลาดที่จีนจะเปิดรับสินค้าได้มากขึ้น ทั้งนี้ตลาดในประเทศจีนยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่จะรับซื้อผลผลิตจากไทยได้อีกมาก เช่นเดียวกับผู้บริโภคชาวไทยจะรับประทานทุเรียนได้มากขึ้นด้วย”
นายนครินทร์ ยังเผยอีกว่า การรักษาคุณภาพทุเรียนที่ดีของทุกภาคส่วนจะเป็นตัวชี้ขาดชะตากรรมของทุเรียนไทยในอนาคตท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จึงขอฝากถึงทุกฝ่ายในวงการทุเรียนทั้งผู้ที่อยู่ในสายตัด และสายคัด หากร่วมมือกันทำทุเรียนคุณภาพ ตัดทุเรียนตามเวลาตัดที่กำหนด อนาคตทุเรียนไทยยังคงเติบโตในตลาดจีนได้อีกมาก และจะยังมีเม็ดเงินให้เก็บเกี่ยวได้อีกมหาศาล
ขณะที่ในเรื่องปริมาณผลผลิตทุเรียนจันทบุรีในปีนี้ที่หลายภาคส่วนประมาณการว่าผลผลิตน่าจะน้อยลงจากสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน โดยส่วนตัวแล้วมองว่าปริมาณน่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน และหากในปีนี้ปริมาณผลผลิตจะเท่าเดิมแต่หากความต้องการของล้งมีมากขึ้น ย่อมมีผลต่อราคาอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องดูคุณภาพประกอบด้วยเพราะหากคุณภาพของทุเรียนไม่ดีเมื่อใดราคาก็ไม่สามารถขยับได้เช่นกัน
"อย่าลืมว่าเหรียญมี 2 ด้าน เพราะเมื่อจำนวนล้งเพิ่มมากขึ้นแต่ความเสี่ยงเรื่องคุณภาพและความผันผวนของราคาจะมีมากเช่นกัน ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องจับมือกันให้แน่นเพื่อผ่านคลื่นลูกนี้ไปให้ได้ ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการทุเรียนย่อมรู้ดีว่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เขามีการปลูกทุเรียนในปริมาณที่ค่อนข้างสูงและย่อมมีผลต่อประเทศไทย แต่ในฐานะที่เราปลูกมาก่อนและขายมาก่อน เราคาดหวังว่าเราจะเป็นผู้นำที่ดีได้และเป็นผู้ส่งทุเรียนคุณภาพนำร่องเข้าไปขายที่จีนเพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนนิยมทุเรียนของไทยต่อไป" เจ้าของแผงทุเรียน “คุณนนท์ เนินสูงจันทบุรี” กล่าว
ด้าน นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เผยว่าการเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากของผู้ประกอบการล้งหากมองในแง่ดีทางเศรษฐกิจแล้วคือการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องการจ้างงาน การซื้อขายสินค้าทางการเกษตรและความคึกคักในตลาดอสังหาริมทรัพย์
โดยไม่อยากให้มองว่าการเข้ามาของนักลงทุนจีนคือการฟอกเงินของกลุ่มทุนสีเทา เพราะคนกลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนน้อยซึ่งปัจจุบันทางการไทยและจีนมีความเข้มงวดในการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินในการลงทุน โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยที่จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่นเดียวกับการเข้ามาลงทุนในล้งรับซื้อผลไม้ที่จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้ได้ใบรับรอง GMP-DOA
เช่นเดียวกับการนำทุเรียนส่งออกไปต่างประเทศที่ในวันนี้ต้องตรวจสอบคุณภาพทุเรียนอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้มีทุเรียนด้อยคุณภาพหลุดออกไป และทางจังหวัดมีนโยบายตรวจสอบที่เข้มข้นเช่นกัน