xs
xsm
sm
md
lg

เงินเยนอ่อนบ.รถญี่ปุ่นกำไรถ้วนหน้า รอสิ้นปีรุ่งหรือร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์หลายแห่งเปิดเผยผลประกอบการช่วงครึ่งแรกของปี 2023 และแน่นอนว่าหลายแบรนด์มีตัวเลขของกำไรที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่าในเมื่อตลาดรถยนต์ของพวกเขากำลังถูกรุกรานโดยแบรนด์รถยนต์จีน เช่นเดียวกับการที่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นปรับตัวในการรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกได้ช้า แถมตลาดรถยนต์จีนที่เคยสร้างยอดขายเป็นกอบเป็นกำในช่วงที่ผ่านมาก็กำลังจะกลายเป็นเรื่องราวในอดีตไปแล้วตอนนี้

กำไรเพิ่มเพราะเงินเยนอ่อน

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นกว่า 6% ต่อปีช่วงเวลา 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนทั้งนี้ อัตราการเติบโตดังกล่าว นับเป็นอัตราที่มากกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์เอาไว้ถึง 2 เท่า และนับเป็นอัตราการเติบโตของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี

ทั้งนี้ การอ่อนตัวของค่าเงินเยนส่งผลบวกต่อภาคธุรกิจของผู้ส่งออก เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นมีราคาถูกลงสำหรับผู้บริโภคทั่วโลก โดยสกุลเงินเยนของญี่ปุ่นตกลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และลดลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับสกลุเงินเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาโตโยต้าสามารถทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.5 ล้านล้านเยน พุ่งขึ้น 24.2% ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานทะยานขึ้น 93.7% แตะระดับ 1.12 ล้านล้านเยน ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของโตโยต้าเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทกำลังเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตรถยนต์ทั่วโลก เพื่อชดเชยการสูญเสียโอกาสในด้านต่าง ๆ ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19

นอกจากนั้นโตโยต้ายังได้คงตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการในปีงบการเงิน 2566 โดยคาดว่ากำไรสุทธิในปีดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 5.2% สู่ระดับ 2.58 ล้านล้านเยน และคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 2.3% แตะที่ 38 ล้านล้านเยน

ขณะที่ฮอนด้ารายงานผลประกอบการช่วงไตรมาสแรกของปีธุรกิจ 2023/2024 ซึ่งเริ่มขึ้นเดือนเมษายน-มิถุนายนนั้น โดยระบุว่าพวกเขามีกำไรเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวจาก 149 พันล้านเยนมาเป็น 363 พันล้านเยน หรือ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่รายได้จากยอดขายเพิ่มขึ้น 21% มาอยู่ในระดับ 4.6 ล้านล้านเยน โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะยอดขายรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอเมริกาเหนือซึ่งทั้งรุ่นฟิต รถยนต์ไฟฟ้า e และมอเตอร์ไซค์รุ่น Gold Wing ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

สำหรับนิสสัน ก็มีการประกาศปรับผลกำไรจากการประกอบการเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 30 พันล้านเยนมาเป็น 550 พันล้านเยน โดยเชื่อว่าส่วนต่าง 20 พันล้านเยนนั้นจะมาจากผลกระทบจากค่าเงินเยนอ่อน

ตามหลักการแล้ว การที่ค่าเงินเยนอ่อนจะช่วยสร้างผลกำไรอย่างมากให้กับบริษัทส่งออกรายใหญ่ของญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นจะไม่ได้ส่งออกรถยนต์ที่ผลิตจากฐานการผลิตในบ้านตัวเองมากเหมือนกับสมัยก่อนแล้วก็ตาม และส่วนใหญ่จะมีโรงงานผลิตอยู่ตามภูมิภาคสำคัญ

โดยปกติแล้วบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับปีงบประมาณสิ้นสุดมีนาคม 2024 ไว้ที่ 125-130 เยนต่อดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6-11 เยนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อย่าง โตโยต้า เปิดเผยว่ามีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน 125 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่าขึ้น 10 เยนจากปีงบประมาณก่อนหน้า ซึ่งจะสามารถกระตุ้นรายได้ให้ดียิ่งขึ้น แต่ตอนนี้ค่าเงินเยนต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 144 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2022 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธนาคารกลางของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย


กำไรท่ามกลางปัญหาที่ซ่อนอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ สิ่งที่เห็นอยู่นี้คือภาพลวงตาเพียงชั่วครู่ที่อาจจะสร้างปัญหาในระยะยาวให้กับบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นได้ เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากความเปลี่ยนแปลงในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนเงินไม่ได้มาจากการความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ

จากการวิเคราะห์ของซาโตรุ อาโอยาม่า ผู้อำนวยการอาวุโวของ Fitch Rating Japan ได้ระบุว่า ตราบเท่าที่ค่าเงินเยนยังอ่อน บริษัทรถยนต์จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างเต็มที่ตามที่เห็นจากการประกาศข่าวออกมา แต่สิ่งที่พวกเขาอาจจะไม่มองคือปัญหาอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่อีกเพียบ และอาจจะรอวันสร้างผลกระทบขึ้นมา

ช่วงที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ของญี่ปุ่นกำลังโดนรุกรานด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกกว่าหรือใกล้เคียงกันจากจีนที่เริ่มทยอยมาเป็นทางเลือกใหม่ในตลาด โดยเฉพาะหลังจากที่ BYD เริ่มขยับตัวออกทำตลาดตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก นั่นทำให้ความต้องการของคนเริ่มเบนเข็มจากการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบ BEV กันมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นถือว่าปรับตัวช้ามากในการสร้างผลผลิตที่สามารถแข่งขันในกับบริษัทรถยนต์จีน หรือแม้แต่กับบริษัทอย่างเทสล่า

นอกจากนั้น บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นหลายแห่งเริ่มได้รับผลกระทบจากตัวเลขยอดขายในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีน ซึ่งตอนนี้เริ่มจะมีการผูกขาดในด้านยอดขายผ่านทางผู้เล่นไม่กี่รายที่อยู่ในนี้ และช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน) ยอดขายของพวกเขาลดลงอย่างมาก เช่นนิสสันตัวเลขยอดขายลดลงถึง 46% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ แล้วฮอนด้า ยอดขายลดลง 5% และโตโยต้าซึ่งก็รวมถึงแบรนด์ระดับหรูอย่าง เลกซัสมียอดขายลดลง 3%

ปัจจัยบ่งชี้ไปที่เรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาด ซึ่งในตอนนี้รสนิยมของผู้บริโภคชาวจีนเริ่มมองมาที่รถยนต์พลังงานใหม่ หรือ NEV-New Energy Vehicle ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ รถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV รวมอยู่ด้วย ซึ่งทางเลือกในตลาดแห่งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์จีนในกลุ่มระดับกลางและล่าง ส่วนตลาดระดับหรูก็ถูกยึดครองโดยแบรนด์จากเยอรมนี และ Tesla

ต้องติดตามดูกันต่อไปถึงการแก้เกมของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นทั้งหลายที่จะหันมาลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาจากการที่ออกตัวช้าทำให้พวกเขาต้องเสียส่วนแบ่งไปอย่างมาก และเชื่อว่าสถานการณ์ค่าเงินเยนอ่อนตัวน่าจะไม่ใช่เรื่องระยะยาว เพราะทางรัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นก็ให้ความเห็นว่า ระดับเงินเยนน่าจะกลับมาสู่สภาพปกติที่ 130 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน



กำลังโหลดความคิดเห็น