xs
xsm
sm
md
lg

อดีตมือปราบทุเรียนอ่อนเตือนชาวสวนเร่งปรับระบบจ่ายน้ำ-สร้างความแข็งแรงต้นทุเรียนรับมือแล้งยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - อดีตมือปราบทุเรียนอ่อน เตือนชาวสวนเร่งปรับระบบจ่ายน้ำ สร้างความแข็งแรงต้นทุเรียนรับมือภาวะแล้งยาวจากสถานการณ์เอลนีโญ ผุดไอเดียหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน คุมเข้มผลผลิตทุเรียนคุณภาพออกสู่ตลาดมัดใจผู้บริโภคจีน หลังเพื่อนบ้านพร้อมชิงส่วนแบ่งส่งออก

วันนี้ (11 พ.ย.) นายชลธี นุ่มหนู อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.จันทบุรี ฉายามือปราบทุเรียนอ่อน ได้นำผู้สื่อข่าวชมพื้นที่สวนทุเรียน “เตงสะตอ” ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.เขาสมิง จ.ตราด พร้อมบอกว่าสวนแห่งนี้ให้ความสำคัญกับการเตรียมต้นทุเรียนให้สมบูรณ์เพื่อรองรับผลผลิตที่กำลังจะออกใหม่ในปี 2567 ด้วยการปรับระบบการจ่ายน้ำเป็นหัวจ่ายแบบมินิสปริงเกอร์ ที่มีอัตราการจ่ายน้ำ 150 ลิตรต่อชั่วโมงต่อต้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ละอองน้ำมีความละเอียดเป็นฝอยแล้ว ยังช่วยประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ และเวลา

และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะแล้งยาวจากสถานการณ์เอลนีโญ หลังผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานคาดการณ์ตรงกันว่าในปี 2567 ประเทศไทยจะประสบภัยแล้งยาวนาน

“ทุเรียน 1ต้น มีความต้องการน้ำหล่อเลี้ยงเพียงวันละ 150 ลิตรเท่านั้น ดังนั้น เกษตรกรไม่ควรให้น้ำมากเกินความจำเป็น และสิ่งสำคัญอีกประการคือ ที่ผ่านมาเกษตรกรมักเตรียมความพร้อมต้นทุเรียนก่อนออกดอกด้วยการคาดโคนที่เน้นการทำให้โคนต้นแห้งด้วยการกวาดเศษใบไม้และเศษอินทรียวัตถุต่างๆ ออกซึ่งการทำแบบนี้จะส่งผลเสียมากกว่าผลดีเพราะจะทำให้รากตีนตะขาบที่อยู่บนผิวหน้าดินแห้งและเสียหาย เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดิน เพื่อทำให้ดินมีชีวิต และทำให้ต้นทุเรียนไม่ป่วยและเป็นโรคง่าย”


นายชลธี ยังเผยอีกว่า การผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก ต้นทุเรียนจะเริ่มติดดอกในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.ปีถัดไปซึ่งถือเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว และในปีนี้เกษตรกรยังต้องลุ้นกันอีกว่าต้นทุเรียนจะติดดอกหรือไม่เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนที่มีการคาดการณ์กันว่าแนวโน้มผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีผลผลิตประมาณ 756,465 ตัน จากการขยายพื้นที่ปลูกของเกษตรกรหลังราคารับซื้อในต่างประเทศพุ่งสูง แต่ปัญหาคือการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพเพื่อการส่งออกจะทำได้มากน้อยเพียงใด

หนุนจัดตั้งโครงการหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน มัดใจตลาดจีน

นายชลธี อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.จันทบุรี ยังเผยถึงการส่งออกทุเรียนในปี 2567 ว่าประเทศไทยจะต้องเจอประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนที่หันมาปลูกทุเรียนเพื่อส่งออกไปประเทศจีนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียที่มีการพัฒนาคุณภาพทุเรียนอย่างต่อเนื่อง แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะยังครองส่วนแบ่งตลาดในการส่งออกมากถึง 90% ก็ตาม

“แต่ปัญหาที่เรายังคงเจอในขณะนี้คือเรื่องของทุเรียนอ่อน ซึ่งแม้ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาควบคุมมากขึ้น แต่ภาครัฐมีข้อจำกัดทั้งเรื่องกำลังคนและงบประมาณ จึงดูแลได้เฉพาะแค่พื้นที่โรงคัดทุเรียนซึ่งเป็นปลายทางก่อนที่ทุเรียนจะถูกส่งไปต่างประเทศเท่านั้น จึงทำให้การดูแลได้ไม่ทั่วถึงเรามองว่า ทำไมภาคประชาชนจึงไม่เข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมคุณภาพของทุเรียนด้วย เพราะปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนไปแล้วทั่วประเทศมากกว่า 2 ล้านไร่ และยังจะกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค”


นายชลธี บอกว่า หากยังคงรอให้ภาครัฐทำงานเพียงหน่วยงานเดียวจะทำให้การควบคุมคุณภาพทุเรียนทำได้ยาก และหากประเทศไทยไม่สามารถควบคุมคุณภาพทุเรียนเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวจีนไว้ได้ สุดท้ายอาจต้องสูญเสียตลาดส่งออกให้ประเทศเพื่อนบ้านไป

ดังนั้น ตนเองในฐานะที่ปรึกษาชุดที่ 26 ของคณะกรรมมาธิการการเกษตรละสหกรณ์ที่มี ส.ส.ศักดินัย นุ่มหนู เป็นประธาน จึงได้เสนอแนวคิดในการจัดตั้งโครงการควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคประชาชนในลักษณะ “หมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน” ด้วยการดึงผู้นำท้องที่ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายก อบต. รวมถึงนายกเทศมนตรี ที่รู้ว่าในพื้นที่ของตนมีสวนทุเรียนมากน้อยเพียงใด และสวนใดออกดอกเมื่อไร ให้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมไม่ให้มีการตัดทุเรียนอ่อนออกขาย

โดยเบื้องต้น คณะกรรมาธิการการเกษตรฯ ได้มีการพูดคุยกับสภาเกษตรกร จ.ตราด จ.จันทบุรี และระยอง เพื่อให้เป็นจังหวัดนำร่องแล้ว และยังได้พูดคุยกับนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย และสมาคมทุเรียนไทยและเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย เพื่อวางแนวทางในการทำงาน

“ในอนาคตหากเราไม่ช่วยกันควบคุมเรื่องของทุเรียนอ่อน ตลาดทุเรียนไทยอาจจะล่มสลายได้ ซึ่งขณะนี้เรากำลังขอให้แต่ละหมู่บ้านมีอาสาสมัครประมาณ 3-4 คนช่วยในการเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นงานที่กรมส่งเสริมการเกษตรทำอยู่ก่อนแล้ว แต่อาจจะยังไม่ทั่วถึง ซึ่งในจุดนี้จะสามารถช่วยสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการจดบันทึกวันดอกบาน วันหลังดอกบาน และวัดติดลูกทุเรียนเพื่อกำหนดการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งที่จะช่วยให้ทุเรียนที่มีคุณภาพจริงๆ ได้ ” อดีตมือปราบทุเรียนอ่อน กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น