ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ประกอบการล้งส่งออกทุเรียนเมืองจันท์ โอดกลุ่มทุนสีเทาเริ่มปฏิบัติการทุบราคาทุเรียนรุ่นแรกที่กำลังจะออกสู่ตลาดจำนวนมากในเดือน เม.ย. ทั้งถือเงินสดจ้างแผงค้ากว้านซื้อทุเรียนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาดส่งขายจีน และตั้งล้งส่งออกเอง ชี้แม้ส่งผลดีระยะสั้น แต่ระยะยาวราคาทุเรียนไทยร่วงแน่
จากข้อมูลการพยากรณ์สถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออกในปี 2566 ที่คาดการณ์ว่าปริมาณทุเรียนจะมีผลผลิตรวมถึง 756,465 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 24,135 ตัน หรือร้อยละ 3.30 โดยจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือน เม.ย.
ขณะที่ปริมาณผลไม้จังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะทุเรียน ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.12 หรือประมาณ 506,138 ตัน จากจำนวนมีเนื้อที่ผลผลิตรวมที่เพิ่มมากขึ้น แต่มังคุด เงาะ และลองกองอาจลดลงจากปัญหาการตัดโค่นต้นเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนที่มีราคาดีกว่านั้น
วันนี้ (25 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ตลาดทุเรียนในพื้นที่ จ.จันทบุรี เริ่มคึกคักแล้วหลักผลผลิตทุเรียนรุ่นแรกเริ่มกระจายออกสู่ท้องตลาด จนทำให้มีผู้ค้าส่งหน้าใหม่ทั้งกลุ่มทุนไทย และจีนเพื่อนำทุเรียนไปสาธารณรัฐประชาชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
ผลที่ตามมาคือผู้ประกอบการ (ล้ง) ส่งออกเดิมที่เคยดำเนินธุรกิจในพื้นที่มานานไม่กล้าที่จะลงแข่งขันเนื่องจากขณะนี้มีการลอบตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ (อ่อน) เพื่อให้ทันส่งขายตลาดต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
ผู้ประกอบการรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ผู้ค้าหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นใน จ.จันทบุรี ขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นทุนสีเทาเกือบทั้งหมด โดยจะถือเงินสดเข้ามาว่าจ้างคนไทย (บางกลุ่ม) ให้จัดหาทุเรียนเพื่อส่งออกไปประเทศจีน โดยเน้นหนักที่ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่กำลังมีความต้องการเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน
และจากปัญหาความต้องการที่มีมากนี้ทำให้ผู้ประกอบการเห็นแก่ได้บางรายอาศัยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ทางจังหวัดกำหนด ว่าจ้างผู้ค้าทุเรียนที่ค้าขายในลักษณะแผงจัดหาทุเรียนแพกลงกล่อง โดยอาศัยช่วงเวลากลางคืนขนย้ายไปล้งที่มีการว่าจ้างให้ส่งออกทุเรียนเพื่อรอการตรวจปล่อยจากเจ้าหน้าที่
โดยการดำเนินการในลักษณะนี้ถือว่าผิดพิธีสารจีน (ความตกลงระหว่างประเทศอย่างหนึ่ง) ที่กำหนดให้การส่งออกผลไม้ไปจีนจะต้องบรรจุ หรือแพกที่โรงคัดบรรจุ พร้อมติดสติกเกอร์ (DOA) ให้เรียบร้อย เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถตรวจปล่อยตู้ได้
ผู้ประกอบการรายเดิมยังให้ข้อมูลอีกว่า หากมองในแง่ประโยชน์แล้วน่าเกิดผลดีกับชาวสวน เพราะเงินที่กลุ่มทุนสีนเทานำมาลงทุนเป็นไปในลักษณะที่เรียกได้ว่าจ่ายไม่อั้น แต่จะเกิดผลดีเพียงระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวอาจทำให้ราคาทุเรียนช่วงต้นฤดูของจ.จันทบุรี และภาคตะวันออกที่กำลังจะออกจำนวนมากในเดือน เม.ย. ร่วงลงอย่างหนักเพราะเมื่อถึงเวลานั้นตลาดจีนจะไม่ต้องการทุเรียนจากประเทศไทยแล้ว เนื่องจากทุเรียนที่ส่งออกไปก่อนถึงช่วงเก็บเกี่ยวคือทุเรียนด้อยคุณภาพ (อ่อน)
และระบบดังกล่าวยังทำให้ผู้ที่อยู่ในวงการทุเรียนจันทบุรี ไม่ให้ความสำคัญกับการผลิตทุเรียนคุณภาพ แต่กลับมองหาหนทางที่จะทำอย่างไรให้ได้รับการตรวจปล่อยตู้ขนส่งทุเรียนให้เร็วที่สุดเท่านั้น
“ขณะนี้ผู้ประกอบการค้าส่งทุเรียนกลุ่มหลักชะลอการทำตลาด เพราะทุเรียนคุณภาพยังไม่ออกสู่ตลาด ดังนั้น หากลงทุนไปก่อนจะทำให้ขาดทุน เพราะคู่ค้าที่เคยค้าขายกันเป็นประจำจะไม่สั่งซื้อทุเรียนในเดือน เม.ย. อีกทั้งการลงทุนแข่งกับทุนสีเทาเป็นเรื่องยาก เพราะทุนกลุ่มนี้กล้าจ่ายและใช้เงินสดทั้งหมด แต่ที่น่าเสียใจคือดันมีคนไทยบางกลุ่มร่วมมือด้วย” ผู้ประกอบการล้งในพื้นที่กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการปราบทุเรียนด้อยคุณภาพของ จ.จันทบุรี เริ่มเกิดความอึดอัดเนื่องจากผู้บริหารไม่ต้องการให้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการตรวจจับทุเรียนอ่อนออกสู่สาธารณะเนื่องจากเกรงว่าจะเสียภาพลักษณ์ของจังหวัด จึงทำให้เจ้าหน้าที่บางส่วนเริ่มไม่อยากปฏิบัติงาน
แต่หากไม่เข้มงวดกวดขันอาจให้ชาวบ้านและสังคมตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐ วันนี้จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันกวดขัน จับกุมผู้กระทำผิดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ทุเรียนคุณภาพให้คงอยู่ตลอดไป