กระทรวง อว. ขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” หนุนนโยบายการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้านอาหาร ดีเดย์ มิ.ย.นี้ ส่งมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นพี่เลี้ยง - เทรนนิ่งให้ผู้ประกอบการอาหารไทยทั้งทาง online และ on site ตั้งเป้าผลิตเชฟมืออาชีพกว่า 75,000 คนภายในปี 2570
เมื่อวันที่ 12 เม.ย.น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” ภายใต้นโยบายการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้านอาหาร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารไทย โดยมี น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. นายชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะผู้บริหาร อว. คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 3B ชั้น 3 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัด อว. และผ่านการประชุมออนไลน์ (Zoom meeting)
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า โครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” ภายใต้นโยบายการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้านอาหาร ขณะนี้ กระทรวง อว.กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ จะส่งมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไปเป็นพี่เลี้ยงและฝึกอบรมการเป็นเชฟอาหารไทยให้กับผู้ประกอบการด้านอาหาร เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟท์พาวเวอร์ที่มีพลังและจะเป็นฟันเฟืองใหม่ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยกระทรวง อว. จะฝึกอบรบให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านทาง online และ on site ระยะแรกจำนวน 10,000 คน ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพ ระหว่างปี 2567 – 2570 ได้กว่า 75,086 คน และคาดว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่เข้าร่วมอบรมจะมีงานทำ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้
รมว.กระทรวง อว. กล่าวต่อว่า กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนายกระดับและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ผ่านการสนับสนุนการนำองค์ความรู้ด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาพัฒนาท้องถิ่นและอัตลักษณ์ทางท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงอาหารท้องถิ่นด้วย โดยนำเอาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนามายกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจ และศักยภาพการผลิต ผู้ประกอบการในพื้นที่จะได้นำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
“ตัวอย่างหนึ่งของกระทรวง อว. ที่สำคัญและเห็นเป็นรูปธรรม คือการผลักดัน จ.ภูเก็ต และ จ.เพชรบุรีให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก รวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยของชุมชนที่สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดอันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทที่สำคัญในเศรษฐกิจ เปรียบเสมือนแม่เหล็กในการดึงดูดชาวต่างชาติ ทำให้รายได้เข้าสู่ประเทศ รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวดนตรี กีฬา เทศกาล และภาพยนตร์อีกด้วย” น.ส.ศุภมาส กล่าว