กมธ.นิรโทษกรรม เห็นชอบ 7 ประเด็นจำแนกการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเข้าข่ายปล่อยผี ผุดคกก.ทำหน้าที่ ‘ครอบจักรวาล-รับจบในที่เดียว’ ไร้พันธะโยง ‘กระบวนการยุติธรรม’ พ่วงคณะอนุฯติดตามทำผิดซ้ำ ชงเล่นงานฟ้องคดีใหม่ได้ มีวาระ 2 ปี
วันนี้ (6มิ.ย.) นายยุทธพร อิสรชัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.)ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎรว่า กมธ.ฯชุดใหญ่ ได้พิจารณาข้อเสนอของอนุกมธ.ฯ ในการจำแนกการกระทำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งกมธ.ฯส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของอนุกมธ.ฯ ที่มีกระบวนการพิจารณา7ประเด็น เป็นไปตามเค้าโครงเดิมที่เคยพิจารณาไปก่อนหน้านี้ ได้ 1.นิยามแรงจูงใจทางการเมือง 2.การจำแนกประเภทคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองสรุปออกมาได้3 ประเภท 1.การกระทำในคดีหลัก เช่น คดีการชุมนุมทางการเมืองที่มีความผิดตามพ.ร.บ.ฉุกเฉิน หรือกฎหมายความมั่นคง 2.การกระทำในคดีรอง เป็นผลที่พ่วงมาจากคดีหลัก เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาด พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้เครื่องขยายเสียง หรือพ.ร.บ.จราจร และ3.การกระทำในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 แต่จริงๆมีอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับความอ่อนไหว เช่น ความผิดต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน
นายยุทธพร กล่าวต่อว่า 3.การมีกระบวนการหรือทางเลือกที่จะนิรโทษกรรมแบบใด แบ่งออกเป็น3ทางเลือก 1.ใช้รูปแบบคณะกรรมการนิรโทษกรรม 2.การนิรโทษฯโดยยกร่างกฎหมายแล้วยกเว้นความผิด หรือเหตุการณ์ต่างๆ 3.ผสมผสานกันระหว่างการมีคณะกรรมการฯ และยกร่างกฎหมายไปในตัว อาจเรียกว่าเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองและติดตามการบังคับใช้พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 4.กลไกกระบวนการนิรโทษกรรม จะเลือกในรูปแบบคณะกรรมการหรือไม่ จะมีกลไกตั้งแต่ชั้นรับเรื่องในการพิจารณา มีกลไกในชั้นกลั่นกรอง ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งในชั้นพิจารณาตัดสินการนิรโทษฯ รวมถึงมาตรการการเยียวยา 5.องค์ประกอบของคณะกรรมการนิรโทษฯจะเน้นไปที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลัก ที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากได้รับการยอมรับ มีความเป็นกลาง สังคมให้ความเชื่อถือมากกว่าฝ่ายบริหาร โดยให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานคณะกรรมการฯ นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานคณะกรรมการฯ ตัวแทนกระทรวงยุติธรรม ตัวแทนสส. นักวิชาการ ภาคประชาชน รวมถึงตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)
“คณะกรรมการนิรโทษกรรม มีหน้าที่และอำนาจ ในลักษณะที่สามารถดำเนินการจบภายในตัวคณะกรรมการได้เลย ไม่ต้องไปส่งเรื่องหรือไปอ้างอิงกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความกระชับ รวดเร็วในการนิรโทษกรรม รวมถึงนะมีการเปิดพื้นที่รับเรื่องจากบรรดาผู้ที่ร้องขอการนิรโทษกรรม เช่น ทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง นอกจากนี้ยังวางมาตรการสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง รับการแสดงเจตจำนงค์สำหรับผู้ที่ไม่ได้ต้องการจะได้รับการนิรโทษกรรม ขณะเดียวกันยังสามารถเรียกข้อมูล เรียกบุคคลได้ด้วย” นายยุทธพร กล่าว
ประธานอนุกมธ.ศึกษาและจำแนกฯนิรโทษกรรม กล่าวอีกว่า 6.มาตรการเยียวยา จะเน้นในเรื่องสิทธิ์เป็นหลัก ไม่ได้เน้นเรื่องทางแพ่งเพราะจะเกิดการฟ้องร้องคดีต่างๆได้ ถือเป็นการคืนสิทธิ์ให้กับบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรม และ7.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและการเสริมสร้างความปรองดอง ไม่ได้กำหนดระยะเวลา เพราะเมื่อทุกคนได้รับการนิรโทษฯ ถือว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความผิด ฉะนั้นนิรโทษฯแล้วก็นิรโทษฯเลย แต่จะมีคณะอนุกรรมการ ของคณะกรรมการนิรโทษฯ ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ หากมีการกระทำความผิดซ้ำ ก็จะมีการร้องขอให้ดำเนินคดีใหม่ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการติดตามฯ จะมีวาระเท่ากับคณะกรรมการนิรโทษฯ คือ 2 ปี