“ชัยธวัช” เผย กมธ.นิรโทษกรรม โยนปม ม.112 - คดีละเอียดอ่อน ให้ กก.กลั่นกรองพิจารณา ยังรอเคาะโมเดล หลังมีข้อเสนอ 2 แนวทาง
วันนี้ (6 มิ.ย.) นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กมธ.ในช่วงบ่ายวันนี้ (6 มิ.ย.) ว่า กมธ.จะพิจารณารายงานของคณะอนุกรรมาธิการ ที่ศึกษาในประเด็นต่างๆ รวมถึงประเด็นข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีนิรโทษกรรม ที่มีข้อถกเถียง และความละเอียดอ่อน ทั้งนี้ในข้อเสนอขององค์ประกอบของกรรมการกลั่นกรองนั้น ขณะนี้มี 2 แนวทาง คือ แนวแรก เห็นว่ากรรมการกลั่นกรองควรมาจากสภา ให้ประธานสภา เป็นประธานกรรมการ และมีตัวแทนของฝ่ายค้าน ฝ่ายรรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญ กรรมการสิทธิมนุษยชน บุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และแนวทางสอง กรรมการที่มาจากฝ่ายบริหาร ให้นายกฯหรือรมว.ยุติธรรมเป็นประธาน และมีตัวแทนจากผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนจากสภาร่วมมด้วย ทั้งนี้ในข้อเสนอให้มามาจากฝั่งบริหารเพื่อสะดากต่อการใช้งบประมาณและการติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมจะพิจารณาหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวเป็นหลัก
เมื่อถามถึงประเด็นที่มีการโต้แย้งในกรณีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 นายชัยธวัช กล่าวว่า กมธ.ไม่ได้พูดคุยเรื่องมาตรา 6 ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมมาตรา 112 นั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วในระบบกฎหมายไทย ทั้งนี้ มีสิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่า คือ เมื่อเกิดข้อถกเถียง จะมีข้อเสนออย่างไร เพื่อทำให้เกิดการกระบวนการยอมรับได้เรื่องนิรโทษกรรม
“มีการเสนอแอมเนสตี้โปรแกรม โครงการนิโทษกรรมให้กับคดีบางประเภท ไม่เฉพาะ มาตรา 112 เท่านั้น เพราะมีคดีอื่นๆ เช่น คดีทำผิดต่อชีวิตและร่างกาย ซึ่งปกติไม่ควรได้นิรโทษกรรม เพราะถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เช่น กรณีปาระเบิดใส่กลุ่ม กปปส. ที่เคยถามตัวแทนแกนนำ กปปส.ว่า กรณีดังกล่าวยอมให้อภัยหรือไม่ ซึ่งเขาระบุว่ายอมให้อภัย ดังนั้น การจะได้นิรโทษกรรมอัตโนมัตินั้นไม่เหมาะสม ดังนั้น ควรมีกระบวนการ อย่าคิดแต่เฉพาะ มาตรา 112 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีข้อถกเถียงเยอะ แต่การนิรโทษกรรมมาตรา 112 เคยเกิดขึ้นในสังคมอย่ามองไกลว่าขัดมาตา 6 เพราะเป็นละเรื่อง” นายชัยธวัช กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า กรรมการกลั่นกรอง จะทำหน้าที่พิจารณานิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 และคดีละเอียดอ่อนแทน กมธ.ใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า กรรมการจะเป็นองค์กรหลักพิจารณา เพราะสภาพข้อเท็จจริงที่กำหนดช่วงการนิรโทษกรรม ซึ่งกินเวลา 20 ปี มีความหลากหลายของคดีจำนวนมาก อีกทั้งความผิดบางฐาน เช่น ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในรายละเอียดไม่มีเฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น จึงต้องมีกรรมการกลั่นกรองเรื่องว่าเรื่องใดเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ทั้งนี้ กลไกของกรรมการต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้
เมื่อถามว่า การศึกษาของ กมธ. ในตอนท้าย สังคมจะยอมรับได้ใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ต้องรอดูข้อสรุปว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เป็นความพยายามแสวงหาความเห็นร่วมในสภา ที่มาจากหลายพรรคการเมือง ทั้งนี้ ในกระบวนการแอมเนสตี้โปรแกรม ที่อนุกรรมการเสนอ มีรายละเอียด เช่น กระบวนการยอมรับผิด เปิดเผยข้อเท็จจริง รวมถึงการฝ่าฝืนจะถูกยกเลิกสิทธินิรโทษกรรม เป็นต้น ซึ่ง กมธ.ชุดใหญ่จะพิจารณาสรุปในรายละเอียดอีกครั้ง