xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดไต่สวน 14 พ.ค.คดี ‘พิรงรอง’ ปฏิบัติไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(9 พ.ค.)ความคืบหน้าล่าสุด ในคดี ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ประทับรับคำฟ้องคดี อท 147/2566 ซึ่ง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นจำเลย ในข้อหาความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สืบเนื่องจากมีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมส่งผลให้เอกชนเสียหาย

แหล่งข่าวจากกสทช. เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะเริ่มมีกระบวนการนัดแถลงของฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งให้การไว้ว่า ศ.พิรงรอง เป็นกรรมการ กสทช. และคณะอนุกรรมการ กสทช. ดำเนินการให้กสทช.ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุ 127 แห่ง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดว่าโจทก์กระทำผิดกฎหมาย จนอาจถูกระงับเนื้อหารายการต่างๆ ที่ได้ส่งไปออกอากาศ

ที่ผ่านมา ในการไต่สวนทั้งที่เป็นพยานบุคคลและพยานเอกสาร ถือว่ามีน้ำหนักตามคำฟ้องของโจทก์ มีมูลเพียงพอที่ศาลฯประทับรับฟ้องในที่สุด ซึ่งฝ่ายจำเลยยังสามารถโต้แย้งและพิสูจน์ได้ แต่หากสุดท้ายศาลฯตัดสินว่า ศ.พิรงรอง มีความผิดจริงก็อาจทำให้ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย ต้องพ้นจากตำแหน่ง

ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 7 (6) เรื่องลักษณะต้องห้ามของกรรมการกสทช. คือ “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิด” เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำ โดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

รายงานข่าว ระบุว่า ข้อเท็จจริง ตามคำฟ้องของทรูฯ คือ การให้บริการภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT) เป็นบริการที่ กสทช. ยังไม่ได้มีการประกาศหรือกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ในการควบคุม ซึ่งจำเลยทราบดี และในฐานะที่เป็นคณะอนุกรรมการซึ่งมีหน้าที่ต้องนำมติไปเสนอต่อที่คณะกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว

นอกจากนั้น เมื่อมีการถอดข้อความเสียง การประชุม กสทช. ปี 2566 พบการใช้ถ้อยคำที่สื่อสะท้อนถึงทิศทางดำเนินการ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับบริษัทอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นพฤติการณ์ทั้งหมดถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ เจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาหลังศาลฯได้ประทับรับฟ้อง เกิดการเคลื่อนไหวจากองค์กรเครือข่ายเอกชน อย่างสภาองค์กรของผู้บริโภค วันที่ 18 มีนาคม 2567 รณรงค์ให้ประชาชนและพนักงานกสทช.มาร่วมให้กำลังใจด้วย แต่สุดท้ายมีเพียงสมาชิกเครือข่ายผู้บริโภคที่นำดอกไม้มามอบเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ดี วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นี้ เป็นการที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้นัดให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ( กสทช พิรงรองฯ และ บริษัท ทรูดิจิตอลฯ) เข้ากำหนดประเด็นการพิจารณาคดี ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาอีกระยะหนึ่งจนกว่าคดีจะถึงที่สุดว่า กสทช พิรงรองฯ ผิดจริง ถึงจะเข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย จึงต้องรอให้ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดก่อน ดังนั้น ก่อนที่กระบวนการยุติธรรมจะสะเด็ดน้ำ คาดว่า กสทช พิรงรองฯ ก็ยังคงปฎิบัติงานต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น