xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. เผยผลปรับปรุงประกาศ กสทช. เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง 4 ฉบับ หลังเปิดฟังความคิดเห็นสาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'กสทช.' ชี้แจงผลปรับปรุงประกาศ กสทช. เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง 4 ฉบับ หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พาสถานีวิทยุ FM ทดลองออกอากาศสู่ระบบใบอนุญาต

เมื่อวันที่ 5 เม.ย.67 พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง ประธานการชี้แจงผลการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับผู้ทดลองออกอากาศในกิจการกระจายเสียง หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ทั้งในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ โดยพิจารณาจากข้อเสนอและความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในหลายประเด็น ที่ได้รับจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.66

ซึ่ง (ร่าง) ประกาศ กสทช. นี้มีความสำคัญ เพราะตามมติ กสทช. ชุดก่อน มีมติให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศในระบบเอฟเอ็มทั้งในส่วนของวิทยุชุมชน สาธารณะ และธุรกิจ ทั้งหมด 3,809 สถานี (ชุมชน 156 สาธารณะ 592 และ ธุรกิจ 3,061 สถานี) ต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธ.ค.67 ดังนั้น กสทช. ชุดปัจจุบันจึงต้องหาแนวทางในการดำเนินการต่อ เพื่อให้สถานีเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้ จึงได้นำความคิดเห็นที่ได้รับมาปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ที่ได้จัดทำแผนความถี่วิทยุตามมาตรฐานสากลสามารถรองรับการอนุญาตสถานีวิทยุเอฟเอ็มได้ 2,779 สถานี โดยปราศจากการรบกวน ซึ่งหลังจากรับฟังความคิดเห็น มีการผ่อนคลายเงื่อนไข ทำให้จำนวนสถานีที่สามารถอนุญาตได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,346 สถานี จากการปรับปรุงเงื่อนไขเกี่ยวกับการรบกวนกับประเทศเพื่อนบ้าน การรบกวนจากความถี่ข้างเคียง และการอนุญาตให้ย้ายที่ตั้งได้ภายในอำเภอเดียวกัน

โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดที่ต้องมีสัดส่วนการอนุญาตให้แก่สถานีวิทยุประเภทชุมชนและสาธารณะไม่น้อยกว่า 25% โดยจะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้วิทยุชุมชนและสาธารณะจำนวน 838 สถานี และวิทยุธุรกิจ 2,508 สถานี ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะที่มีอยู่ปัจจุบันรวม 748 สถานีนั้น ตามแผนฉบับนี้มีคลื่นความถี่รองรับได้ทั้งหมดและสามารถมีสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะเกิดใหม่ได้อีก 90 สถานี

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีวิทยุธุรกิจที่คลื่นความถี่ไม่รองรับกับจำนวนสถานีปัจจุบันอีก 553 คลื่นความถี่ จึงได้มีข้อเสนอ 2 แนวทาง คือ (1) ต้องทำการทดลองทดสอบในภาคสนามจริงให้เป็นที่ปรากฏว่า ไม่ก่อให้เกิดการรบกวนกับสถานีวิทยุที่ได้รับการอนุญาตแล้ว และ (2) ดำเนินการออกอากาศในระบบวิทยุดิจิทัล ที่จะเปิดโอกาสให้มีการทดลองทดสอบคู่ขนานในปีนี้

2.(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่อกิจการวิทยุการบิน คงเป็นไปตามที่เสนอ ซึ่งมีข้อคิดเห็นในรายละเอียดเล็กน้อยด้วยการปรับลดขั้นตอนการส่งรายงานทางด้านเทคนิค เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ โดยยังคงมีความเป็นมาตรฐานตามหลักสากล เช่นเดิม

"ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เสนอให้ยกเลิกการประมูลและให้สถานีที่ทดลองออกอากาศอยู่เดิมได้รับใบอนุญาตต่อเลย แต่ กสทช.ไม่สามารถทำได้เพราะขัดต่อกฎหมาย ปัจจุบันสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะไม่ต้องประมูลอยู่แล้ว และจะได้เข้าสู่ระบบตามแผนของ กสทช. โดยภายในไตรมาสที่ 2/67 ส่วนสถานีวิทยุธุรกิจอาจต้องเข้าสู่ระบบการอนุญาตโดยการประมูลหรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมาย กสทช.อาจพิจารณาขยายระยะเวลาสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่ระบบใบอนุญาตระหว่างรอความชัดเจนของกฎหมาย นอกจากนี้ กสทช.ยังเปิดโอกาสให้มีการทดลองทดสอบวิทยุระบบดิจิทัลโดยประชาชนหรือผู้ทดลองออกอากาศอยู่เดิม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและพัฒนาระบบด้วยตนเอง ก่อนที่หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตในวิทยุระบบดิจิทัลจะแล้วเสร็จในปีหน้า ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงทั้งรายเก่าและรายใหม่สามารถดำเนินการได้ให้สอดคล้องกับบริบทและเทคโนโลยีในปัจจุบัน" พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น