ศาลอาญาทุจริตฯ รับพิพากษาคดี 'ทรูไอดี' ฟ้อง 'กสทช.พิรงรอง' ผิด ม.157 ไว้พิจารณา ด้านโฆษกประจำประธาน กสทช. มองจนกว่าคำพิพากษาถึงที่สุด สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.67 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคำฟ้องคดี อท 147/2566 บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด โดย นายวิศิษย์ศักดิ์ อรุณสุรัตน์ภักดี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นจำเลย ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
เนื่องจากพิจารณาจากทางไต่สวนรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคณะกรรมการ กสทช. และเป็นคณะอนุกรรมการที่รับการแต่งตั้งจาก กสทช. จึงเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 25 การให้บริการภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT) เป็นการให้บริการที่ กสทช. ยังไม่มีการประกาศหรือกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ในการควบคุมซึ่งจำเลยทราบดี
เมื่อ กสทช. ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมกำกับดูแลในเบื้องต้นจึงต้องฟังว่า การให้บริการของโจทก์ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต แต่จากข้อเท็จจริงทางไต่สวนมีเหตุให้เชื่อได้ว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการให้ นางรมิดา ลีลาพตะ ซึ่งรักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. ในขณะนั้นลงนามในหนังสือ ฉบับลงวันที่ 3 ก.พ.66 ที่ถูกคือ 3 มี.ค.66 แจ้งถึงผู้รับใบอนุญาตจำนวน 127 ราย จำเลยในฐานะที่เป็นคณะอนุกรรมการมีหน้าที่ต้องนำมติในที่ประชุมเสนอต่อ กสทช. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป แต่จำเลยหาได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ไม่
อีกทั้งปรากฏว่ารายงานการประชุมครั้งที่ 4/2566 ประชุมเมื่อวันที่ 2 มี.ค.66 และมีการถอดข้อความเสียงไม่ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติให้แก้ไขรายงานการประชุมครั้งที่ 3/2566 ให้ระบุชื่อโจทก์แต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาถ้อยคำที่จำเลยกล่าวคำว่า เราตลบหลัง และคำว่าล้มยักษ์ เห็นได้ว่าพฤติการณ์อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ส่อเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์มีมูลเพียงพอที่จะรับคดีไว้พิจารณาต่อไป จึงพิพากษาให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
ขณะที่ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการและโฆษกประจำประธาน กสทช.ด้านกฎหมาย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวศาลเพียงประทับฟ้องไว้พิจารณา ยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าเป็นความผิด ดังนั้น ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ และต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวเกิดจาก ศ.ดร.พิรงรอง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ออกหนังสือ ซึ่งเป็นมติที่ประชุมในนาม สำนักงาน กสทช. ส่งไปยังช่องทีวีดิจิทัล เพื่อให้ตรวจสอบว่า มีการนำเนื้อหาช่องรายการไปออกอากาศผ่านโครงข่ายที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ โดยอ้างถึง ทรูไอดี อย่างชัดเจน
เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่า พบโฆษณาเปิดซิมใหม่แถมฟรีกล่องทรูไอดี บนทรูไอดี ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ขณะที่ ทรูไอดี อ้างว่า ที่ไม่ขอใบอนุญาตเพราะเป็นผู้ให้บริการ OTT ให้บริการเนื้อหาโดยไม่ผ่านโครงข่ายเฉพาะ ใช้ซิมมือถือค่ายอื่นๆ ก็สามารถรับชมได้ เพียงมีแอคเคาท์ แต่ขณะที่ 3BB ระบุว่า เขามีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ แต่ไม่มีคลื่นความถี่ และสามารถรับชมผ่านเครือข่ายอื่นๆ ได้เหมือนกัน จึงกลายเป็นข้อถกเถียงว่า เหตุใดบริการแบบเดียวกันจึงมีทั้งผู้ขอและไม่ขออนุญาต ดังนั้น คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม จึงเห็นว่า เรื่องนี้ควรส่งไปยัง คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ เพื่อความชัดเจน พร้อมกับ ส่งหนังสือถึง เอไอเอส เพลย์ เพื่อให้ตรวจสอบด้วย
ถัดมา สำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการ จึงพิจารณาว่า ทรูไอดีเป็นผู้ให้บริการ OTT ได้ แต่ตามกฎมัสต์แครี่จะไม่สามารถนำช่องทีวีหลักไปออกอากาศได้ และเงื่อนไขอนุญาตตอนประมูลทีวีดิจิทัลระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามช่องทีวีดิจิทัล นำเนื้อหาช่องรายการไปออกอากาศผ่านโครงข่ายที่ไม่ได้รับอนุญาต จากนั้น จึงมีหนังสือส่งไปยังช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ เพื่อให้ตรวจสอบแต่ผู้ประกอบการเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงส่งหนังสือไปอีกครั้ง และอ้างถึง ทรูไอดี นำมาสู่การฟ้องร้องดังกล่าว
กสทช.พิรงรอง ยืนยัน ทำทุกตามกฎหมาย พร้อมต่อสู้ในกระบวนการทางยุติธรรม
ทั้งนี้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดและไม่มีเจตนากลั่นแกล้งหรือมีเจตนาพิเศษให้บุคคลใดต้องได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
โดยให้ข้อมูลว่า มูลเหตุในคดีสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงาน กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการรับชมรายการของช่องโทรทัศน์ดิจิทัลผ่าน Internet TV Box และแอปพลิเคชัน True ID ที่มีโฆษณาคั่นเวลา ขณะเปลี่ยนช่องรายการทำให้ผู้ชมได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกส่งมาให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ที่มีตนเป็นประธานพิจารณา และให้ความเห็นตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯในกรณีนี้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ กสทช. มอบหมายและถูกต้องตามขั้นตอนดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ทุกประการ
คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การให้บริการที่มีการนำเอา “ช่องรายการโทรทัศน์ดิจิทัลของผู้รับใบอนุญาตทั้งช่อง” ไปเผยแพร่ผ่านทางบริการ True ID นั้นอาจขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 14 (23) และเงื่อนไขใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัล ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตตามประกาศดังกล่าว ต้องเผยแพร่ช่องรายการของตนเองผ่านทางผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายจาก กสทช. เท่านั้น และยังอาจขัดต่อประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการช่องรายการ และผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ (pass through) ด้วย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นอย่างรอบด้านโดยอิสระก่อนจะมีมติให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ดิจิทัลปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เนื่องจาก True ID ยังมิได้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายประเภท IPTV จากกสทช. ซึ่งจะทำให้ได้รับสิทธิตามประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณของช่องรายการทีวีดิจิทัลไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ นอกจากนี้ ยังมีมติให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีการให้บริการในลักษณะเดียวกับ True ID อีกหรือไม่ ซึ่งภายหลังก็ได้มีการออกหนังสือในรูปแบบเดียวกันไปยังผู้ประกอบการอีกรายที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน ทางสำนักงาน กสทช. จึงไม่ได้เลือกปฏิบัติกับโจทก์
“การทำหน้าที่ของดิฉัน และคณะอนุกรรมการฯ ข้างต้น มุ่งหมายหาแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคตามที่มีข้อร้องเรียน และประสงค์ให้มีการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย รวมถึงต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการตรวจสอบและตระหนักถึงการป้องกันตนเองมิให้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในเนื้อหารายการ การพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เป็นเพียงการให้ข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กสทช. คณะอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจสั่งการแต่อย่างใด การที่สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งเวียนผู้รับใบอนุญาตช่องรายการให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กสทช.” กสทช. พิรงรอง กล่าว
ในส่วนของการถูกฟ้องดำเนินคดี ซึ่งศาลได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว กสทช. พิรงรอง คิดว่าทางโจทก์ คือ บริษัท ทรูดิจิทัล อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเจตนาของตนจากข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งตนก็พร้อมชี้แจงในขั้นตอนของการไต่สวนคดี และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการทำหน้าที่ต่อไป
แม้จะมีอุปสรรคในการทำงาน กสทช. พิรงรอง กล่าวว่า ยังมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนดำเนินงานนโยบายด้านกิจการโทรทัศน์ที่สำคัญหลายประการ เช่น การออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการแพร่ภาพแพร่เสียงผ่านทางอินเทอร์เน็ต และการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริม National Streaming Platform ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญสำหรับเอื้ออำนวยให้ผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การอนุญาตประกอบกิจการในระยะต่อไป ตลอดจนการออกประกาศหลักเกณฑ์ส่งเสริมโทรทัศน์ชุมชน และการส่งเสริมการรวมกลุ่มขององค์กรสื่อและนักวิชาชีพสื่อเพื่อสร้างระบบการกำกับดูแลกันเองบนมาตรฐานจริยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ