xs
xsm
sm
md
lg

อดีตตุลาการศาล รธน.ย้ำอำนาจศาลเพื่อประโยชน์ชาติ ขอให้น้อมรับคำตัดสิน หยุดปลุกระดม ปชช.ลงถนน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วุฒิสภาจัดสัมมนาองค์กรอิสระ อดีตตุลาการศาล รธน.ย้ำอำนาจศาลเพื่อประโยชน์ชาติ ขอให้น้อมรับคำตัดสินสู่การปรับปรุงแก้ไข หยุดปลุกระดม ปชช.ลงถนน ปธ.กกต.เผย กกต.ต้องพัฒนาต่อเนื่อง โชว์ผลงานเด่นรางวัลองค์กรคุณธรรม ได้คะแนน 100% ลั่นไม่พายเรือให้โจรนั่ง ด้าน “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” โอด จนท.น้อย 136 คน สู้งานตรวจสอบ 5 พันเรื่องต่อปี ป.ป.ช.แจงทักท้วงเงินดิจิทัล ตามหน้าที่ ไม่ใช่ชี้ขาดทุจริต โอ่ปีนี้ลุยสางทุจริตพันเรื่อง

วันนี้ (16 ก.พ.) คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง "ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร" นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ในการวินิจฉัยตัดสินเรื่องขัดแย้งทางการเมือง ที่ถูกส่งต่อมาจากองค์กรอิสระต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งตรวจสอบการทุจริต คอรัปชั่น การฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง 6 ปี ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายมาจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยศาลมีผลในการตัดสิทธิ์ มีการยุบพรรคการเมือง ทำให้ที่ผ่านมาศาลได้รับผลกระทบ ส่วนตัวก็เคยถูกข่มขู่ แต่ก็ต้องยืนยันว่าศาลต้องทำตามกฎหมาย และทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทำให้อดทนทำหน้าที่โดยไม่หวั่นไหว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกศาลวินิจฉัยตัดสินก็ต้องยอมรับ หาข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วแก้ไขเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ใช่การปลุกประชาชนลงถนน ก่นด่าบนโลกออนไลน์
 
นายจรัญ กล่าวต่อว่า นายจรัญ กล่าวว่า โดยรวมแล้วเป็นระบบงานที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงต้องมีองค์กรตุลาการที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระจากความขัดแย้งทางการเมือง จากผลประโยชน์ในระบบทุนที่แฝงอยู่ใต้ระบบการเมืองไทย เพื่อเป็นหลักประกันว่าเป็นระบบงานยุติธรรมที่มีคุณภาพมาตรฐาน ขอเพียงอย่างเดียวขอให้ยอมรับคำตัดสินสุดท้ายของฝ่ายตุลาการ
"ถ้าตุลาการทุจริตไม่อยู่ในร่องในรอย เช็คบิลตุลาการ ให้มีโทษถึงประหารไม่ได้รุนแรงเกินไปแต่ถ้าเขาไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้น ก็ขอให้เกิดอารยธรรมยอมรับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ของศาลรัฐธรรมนูญ ของศาลปกครองสูงสุด เหมือนที่อารยธรรมในระบบการปกครองเสรีประชาธิปไตย ที่เราต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง แล้วมาแก้ปัญหากันหลังจากนั้น อย่าได้ทำแบบในบางประเทศมหาอำนาจผู้นำทางระบบประชาธิปไตยโลก อ้างตัวเองเป็นผู้นำทางเสรีประชาธิปไตย สั่งสมอารยธรรมนี้มา 200 กว่าปี แต่แล้วก็ถูกเหยียบย่ำทำลายเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ให้ฝ่ายข้างน้อยได้มีทางออก ขอให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มีผู้ดูแล ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของประเทศต้องสามารถป้องกันปราบปรามได้ดีขึ้นและอย่าให้ประชาชนต้องแตกสามัคคีกลายเป็นศัตรูกันโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน"
 


นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.กล่าวว่า กกต.ทุกชุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยสำนึกว่า กกต.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม ชอบด้วยกฎหมาย ต้องกล้าหาญ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มีมาตรฐานสูงอย่างต่อเนื่อง ทำหน้าที่กำกับดูให้พรรคการเมืองดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเมืองมีความเข้มแข็งพร้อมๆ กับการจัดระบบการเลือกตั้งที่อำนวยความสะดวกต่อประชาชน ที่สำคัญคือ กกต.จะพยายามอย่างเต็มที่ โดยประกาศเจตนารมณ์ว่าเราจะไม่พายเรือให้โจรนั่ง ไม่ขับรถบัสให้โจรนั่ง ซึ่งที่ผ่านมาก็อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยกกต. 3 ฉบับ โดยในฉบับปี 2560 เพิ่มอาวุธให้กกต.เยอะขึ้นมาก ส่วนเรื่องร้องเรียนที่ยื่นเข้ามาในปี 2566 มี 319 เรื่อง บางเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้อง

นายอิทธิพร กล่าวว่า ในปีนี้ กกต.มีผลงานอยู่บ้าง คือผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ปี 2562 และปี 2566 โดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้สิทธิปี 2566 มีผู้มาใช้สิทธิเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์อีกทั้งในปี 2566 กกต.ได้รับรางวัลทรงเกียรติอยู่ 2 รางวัล ประกอบด้วยรางวัล (ITA) ประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการทำงานหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้คะแนน 89.19% และเกียรติบัตรประกาศยกย่ององค์กรคุณธรรม ระดับส่งเสริมคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ได้คะแนน 100%

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตวจการแผ่นดินมีหน้าที่ 2 ประการ คือ 1. หน้าที่แก้ไขความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมของประชาชนอันมาจากการทำหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ทั้งจากกฎหมาย ระเบียบต่างๆ การกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย นอกเหนือจากกฎหมาย และความเดือดร้อนจากการเสียสิทธิที่จะได้รับบริการจากหน่วยงานของรัฐ และ 2.การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หากมีการร้องเรียน และมีการพิจารณาแล้วมีมูลก็จะส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป หรือมีข้อเสนอต่อหน่วยงานเพื่อดำนินการให้ถูกต้อง ทั้งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้งผู้ตรวจการฯ กว่า 23 ปี มีเรื่องร้องเรียนกว่า 6 หมื่นเรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 5.8 หมื่นเรื่อง คิดเป็น 96.18% อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ เรามีเจ้าหน้าที่สอบสวนเรื่องร้องเรียน เพียง 136 คน แต่รับผิดชอบเรื่องร้องเรียนเฉลี่ย 5 พันเรื่องต่อปี หรือ คนละ40 เรื่องต่อปี หรือ 3.5 เรื่องต่อคน ต่อเดือน ถือว่าเจ้าหน้าที่น้อยมาก ในขณะที่การแสวงหาข้อเท็จจริงนั้นต้องใช้เวลา แต่เราก็พยายามทำและสำเร็จในหลายเรื่อง


พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า กฎหมายป.ป.ช.ฉบับใหม่ มีการกำหนด ระยะเวลาการทำงานในแต่ละภารกิจของป.ป.ช.ไว้ ซึ่งจะมีผลให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น เช่น เรื่องที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลให้ฟ้อง กฎกมายก็กำหนดไว้ว่า ต้องส่งไปยังอัยการภายน 30 วัน นับแต่วันที่ ป.ป.ช.มีมติ และถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่า สำนวนมีความสมบูรณ์ สามารถฟ้องได้ ก็ต้องมีคำวินิจฉัยและยื่นต่อศาลภายใน 180 วัน แต่หากเห็นว่า สำนวนไม่สมบูรณ์ ควรตั้งกรรมการร่วมระหว่าง ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการภายใน 90 วัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายเรื่องที่อัยการสูงสุดเห็นไม่สั่งฟ้อง แต่ป.ป.ช.เห็นว่า พยานหลักฐานที่ป.ป.ช.ตรวจสอบแน่นหน้าก็จะฟ้องเอง ที่ผ่านมา ยื่นฟ้องต่อศาลเองไปแล้วกว่า 331 เรื่อง โดยมี 70% ที่ศาลมีการลงโทษตามที่ ป.ป.ช.ยื่น

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ป.ป.ช. มีการเก็บสถิติทั้งเรื่องร้องเรียน เรื่องที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไว้อย่างละเอียด และติดตามทุกเรื่อง เหมือนวอร์รูมของทหารว่า แต่ละเรื่องไปถึงขั้นตอนไหน ติดขัดปัญหาตรงไหน โดยช่วงที่ผ่านมา สามารถสะสางคดีค้างเก่าได้มากพอสมควร จนทำให้มั่นใจว่าในปี 2567 จะสามารถพิจารณาเรื่องที่มีการร้องเรียนได้เสร็จพันกว่าเรื่อง ล่าสุดป.ป.ช.ยังได้รับการบรรจุพนักงานสอบสวนอีก 200 อัตรา อยู่ระหว่างการเปิดสอบ หากได้รับกำลังพลเพิ่มเข้ามาจะยิ่งทำให้การทำงานของ ป.ป.ช.รวดเร็วยิ่งขึ้น

พล.ต.อ.วัชรพล ยังกล่าวถึงการจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการป้องกันทุจริตตามมาตรา 32 พ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช.ว่า ที่ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะเรื่องเงินดิจิตอลนั้นมีการหาข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เป็นการไปตามมาตรา 32 เพื่อป้องปราม ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 35 ซึ่งกำหนดว่า หากมีเหตุอันควรสงสัยว่า อาจจะมีการดำเนินการที่นำไปสู่การทุจริต ให้ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว และถ้าผลการตรวจสอบพบว่า มีเหตุอันควรต้องระมัดระวัง ป.ป.ช.อาจมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการเท่าที่มีอยู่ มีหนังสือแจ้งหน่วยงานของรัฐดังกล่าวและคณะรัฐมนตรีทราบ พร้อมด้วยข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไข เพราะถ้าจะดำเนินการตามมาตรานี้ จะต้องมีข้อสงสัยเรื่องการทุจริต ต้องมีการศึกษาให้มากกว่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น