xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลพีคสุดแล้ว โตแต่ไม่เปรี้ยง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

หลังสิ้นเสียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุชัดว่า พรรคก้าวไกล ซึ่งรวมถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าพรรค มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีเจตนาบ่อนเซาะ ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และสั่งห้ามแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112

ทั้งนี้ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 19/2566) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ต่อมา เมื่อวันที่ 31 มกราคม ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มี การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบตามมาอีกระลอกใหญ่ นั่นคือ มีการร้องต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์การเมือง ส.ส.ของพรรค และการร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ให้ดำเนินคดีอาญาและตัดสิทธิการเมืองกับบรรดา ส.ส.ที่เคยเสนอแก้ไข มาตรา 112 กรณีกระทำผิดจริยธรรม ส.ส.ซึ่งมีผู้ไปยื่นคำร้องหลายรายแล้ว

จากกรณีที่เกิดขึ้นหลายคนประเมินว่า ในอนาคตจะทำให้พรรคก้าวไกลจะยิ่งโตขึ้น รวมถึงอาจชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ถึงขั้นอาจตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และยังเห็นอีกว่าหากมีการยุบพรรค ตัดสิทธิ์การเมือง ส.ส.และคณะกรรมการบริหาร ก็จะมีคนใหม่เข้ามาแทนที่ ทำนอง “ตายสิบเกิดแสน” ตามศัพท์แสงของบรรดานักต่อสู้(ยุคฝ่ายซ้าย) อะไรประมาณนั้น ซึ่งก็อาจเป็นไปได้

อย่างไรก็ดี หากมองในอีกมุมหนึ่ง ผลออกมาในแบบตรงกันข้ามก็ได้ ในทำนองว่า “สถานการณ์มันเปลี่ยนไปจากเดิม” รวมไปถึง “เงื่อนไข” ก็ได้เปลี่ยนไปจากเดิมอีกด้วย อย่างน้อยก็บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เหมือนเดิม เป็นบรรยากาศ “ประชาธิปไตย” มากขึ้น หลังจากที่ พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาล แต่อาจมองมีการ “ขีดวง” ว่าต่อไปเป็นการต่อสู้กันระหว่าง “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม(ใหม่)” กับอีกฝ่าย(ไม่แน่ชัดว่าเป็นอะไรกันแน่) ระหว่าง เสรีนิยม ฝ่ายซ้าย ทุนนิยมที่ไม่เอาสถาบันฯ สารพัด

บรรยากาศแบบนี้ มันก็ย่อมต่างจากในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกสร้างเป็น “เงื่อนไขเผด็จการ” ย่อมต้องมีบรรยากาศร้อนแรง จนสามารถปลุกเร้าการต่อต้านได้อย่างเข้มข้น เพราะหากลองหลับตานึกภาพดูว่า หากเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แล้วจะเกิดความเคลื่อนไหวที่ดุเดือดมากว่านี้เป็นสิบเท่าหรือไม่ จะเกิด “ม็อบ” มากมายหรือไม่ รวมทั้งการเคลื่อนไหวทั้งจากองค์กรระหว่างประเทศ ในประเทศ ความเห็นนักวิชาการในรั้งมหาวิทยาลัย องค์กรนักศึกษาที่จะต้องลงชื่อกันหลายสถาบัน ออกมากดดันโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ และกระแทกไปถึงสถาบันฯ

แม้ว่าหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลออกมาแล้ว ก็ยังมีความเคลื่อนไหววิจารณ์ ออกมาตามคาดหมาย แต่หากสังเกตพลังแล้วถือว่า “เบาบาง”มาก แต่หลายคนก็ยังเชื่อว่า “นี่เป็นแบบภูเขาน้ำแข็ง” ที่ยังซ่อนเร้นอยู่ก็ว่ากันไป แต่หากวัดพลังกันแล้วก็ต้องมองจากความเคลื่อนไหวที่แสดงออกมาให้เห็นว่ามันยังน้อยเมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้านี้จนแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

ไม่เชื่อก็ลองพิจารณาจาก การออกมาวิจารณ์คำวินิจฉัยของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตผู้ร่วมตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่ยังเป็นเลขาธิการคณะก้าวหน้า ผ่านทางโซเชียล ก็ไม่ได้ได้รับความสนใจมากนักเมื่อเทียบกับบรรยากาศครั้งก่อนๆ การวิจารณ์ของนักวิชาการก็ล้วน “ขาประจำ” ที่เป็นทีมเดียวกัน แต่ก็มีแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่พอให้ติดตามพูดถึง หรือแม้แต่การลงชื่อขององค์กรนักศึกษาหลายสถาบันที่ออกมา แต่ก็แทบไม่มีพื้นที่ข่าวออกมาเลย

นี่ก็พอสะท้อนให้เห็นว่า ความร้อนแรงของบรรยากาศมันเริ่มเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว อย่างน้อยกลายเป็น “บรรยากาศประชาธิปไตย” มากกว่า “เผด็จการ” ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มันก็ทำให้ “เงื่อนไข” ในการเคลื่อนไหวมันลดลง อาจจะเหลือเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งก็เป็นมาทุกยุคสมัย และแทบทุกประเทศที่เกิดความรู้สึกแบบนี้ มากบ้างน้อยบ้าง แต่สำหรับประเทศไทยมันกลับไม่ชัดว่าเป็นแบบไหนกันแน่ เพราะหัวขบวนกลับกลายเป็น “นายทุน” ที่ครั้งหนึ่งก็เคยกดขี่แรงงาน เพียงแต่ว่า อาจเป็นลักษณะ “ทุนนิยมที่ไม่เอาเจ้า” หรือเปล่า

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ เวลานี้แทบจะไม่เห็นการเคลื่อนไหวของบรรดา “ม็อบสามนิ้ว” หรืออาจยังมีในสังคมโซเชียล แต่ก็แทบมองไม่เห็น หรือแม้แต่กรณีของ นายอานนท์ นำภา แกนนำม็อบสามนิ้ว ที่กำลังทยอยถูกดำเนินคดีในความผิด มาตรา 112 ที่เขียนจดหมายจากคุกมาหลายฉบับแล้ว มันก็ยังไม่มีผลทำให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ใดๆออกมาเลย

หากประเมินในอนาคตจากนี้ มันก็พอเห็นได้ว่า การแข่งขันทางการเมือง และการต่อสู้นับจากนี้ในทุกเรื่องราว มันก็จะกลายเป็นการต่อสู้สองขั้ว ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จำเป็นต้องแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรก้าวไกล ไม่ว่าจะถูกยุบพรรคก็ตาม แต่คำถามก็คือสำหรับพรรคก้าวไกลจะเติบโตแบบก้าวกระโดดหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่น่าจะใช่”

แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะเติบโต แต่ก็ยังเชื่อว่าไม่น่าร้อนแรงไปมากกว่านี้มากนักแล้ว นั่นคือ กลายเป็นแกนนำสำคัญ แต่ความ “พีค” น่าจะผ่านจุดสำคัญไปแล้ว จากบรรยากาศและเงื่อนไขทางการเมืองที่เปลี่ยนไปแล้ว เงื่อนไข “เผด็จการ” ลดลงไป อีกทั้งผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมันก็ยิ่ง “ตอก” ลงไปอีกว่าพรรคนี้มี “เจตนาล้มเจ้า” มันก็ทำให้มวลชนที่แม้จะมุ่งหวัง แต่จะหยุดชะงักลง ดังนั้นหากสรุปให้แคบเข้ามาก็พอสรุปได้ว่า พรรคก้าวไกลยังโต แต่ก็ไม่ถึงขั้นถล่มทลาย เพราะมันไม่เหมือนเดิมแล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น