“ส.ว.สมชาย” ชี้เปรี้ยง 4 เหตุผล “พิธา” เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้าม-ขาดคุณสมบัติ ส.ส. คล้ายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ “ดร.นิว” ยก 2 ประเด็น ไอทีวียังไม่เลิกกิจการ-มีสิทธิในมรดก มีโอกาสผิดถือหุ้นสื่อ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (23 ม.ค. 67) กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความวินิจฉัยในคดีถือหุ้นสื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แสดงความเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊กสมชาย แสวงการ ระบุว่า
“ทำไมหุ้น itv ยังเป็นหุ้นสื่อมวลชน และพิธาน่าจะมีลักษณะต้องห้าม และอาจขาดคุณสมบัติ ส.ส.
เห็นพรรคการเมืองและผู้นำทางความคิดของพรรคก้าวไกลออกมาสื่อสารกับสังคมต่อเนื่องที่อาจทำให้สังคมไขว้เขว หรือทำให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเบี่ยงเบนขาดความน่าเชื่อถือ
ในฐานะที่ผมเคยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในหลายกรณี ต่างกรรมต่างวาระกันมา จึงตัดสินใจเขียนความเห็นประกอบข้อกฎหมาย โดยยึดแนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แนวทางคำพิพากษาศาลฎีกา
โดยจะขอเสนอเป็นความเห็นส่วนตัว ประกอบข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการติดตามข่าวสาร ซึ่งจะไม่สามารถไปชี้นำหรือส่งผลอย่างหนึ่งอย่างใดต่อคำวินิจฉัยคดีที่จะมีขึ้น ดังนี้ครับ
1) บริษัท itv ยังคงเป็นสื่อมวลชน โดย itv มีสถานะความเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีวัตถุประสงค์จดแจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกี่ยวกับสื่อรวม 5 ข้อ เช่น รับบริหารและดำเนินกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกและโทรภาพทางสาย (เคเบิลทีวี) เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ บริการประชาสัมพันธ์และจัดรายการทางวิทยุโทรทัศน์ โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกและโทรภาพทางสาย (เคเบิลทีวี) แพร่ภาพโทรทัศน์ ผลิตรายการ ประชาสัมพันธ์ รับจ้างผลิตสื่อ ฯลฯ จนถึงปัจจุบัน itv ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทหรือจดยกเลิกวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนทั้ง 5 ข้อดังกล่าว
จึงเห็นว่า นายพิธา น่าจะขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม สอดรับกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 14/วินิจฉัย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ในคดีการถือหุ้นบริษัท วีลัคมีเดีย ที่อ้างว่า ปิดกิจการแล้ว แต่ไม่จดทะเบียนยกเลิกบริษัท ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ยังสามารถประกอบกิจการสื่อมวลชนได้ตลอดเวลา ตราบใดที่ไม่ได้จดเลิกบริษัท
เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาในทำนองเดียวกันกับผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส. 4 ราย ที่ไม่ได้จดทะเบียนเลิกประกอบกิจการสื่อขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามเช่นกัน
2) บริษัท ITV ชนะคดีเบื้องต้นแล้ว 2 ยก รัฐต้องคืนคลื่นความถี่และชดใช้ค่าเสียหาย โดย itv ที่ได้ถูกปิดสถานีและยึดคลื่นคืน เพราะไม่ชำระหนี้ค่าสัมปทานแก่รัฐ เมื่อ 17 ปีก่อน ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ หมายเลขดำที่ 29/2545 โดยอ้างว่ารัฐให้สัมปทานกับบุคคลอื่น เป็นเหตุให้บริษัท ได้รับผลกระทบต่อฐานะการเงินอย่างรุนแรง จึงขอให้สำนักปลัดสำนักนายกฯ ชดเชยความเสียหายตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ
คณะอนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดให้ itv ชนะ ได้รับเงินเยียวยาและคืนคลื่นความถี่
สปน. นำคดีสู้ ต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลพิพากษายกคำร้อง
สปน. ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อ
สถานะปัจจุบัน ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่มีคำพิพากษาในคดีนี้
จึงเห็นว่า นายพิธา น่าจะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามเพราะคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองกลาง ให้ itv เป็นผู้ชนะคดี ได้รับการเยียวยา และคืนสัมปทานคลื่นความถี่โทรทัศน์ itv จึงอยู่ในฐานะที่พร้อมประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ได้
3) บริษัท itv ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว แต่ยังมีบริษัทลูกประกอบกิจการสื่อและมีรายรับจากบริษัท อาร์ตแวร์มีเดีย ที่ itv เป็นผู้ถือหุ้น 99%
โดยมีผลประกอบกิจการจดทะเบียนทำสื่อโฆษณา รายการ ให้เช่าเครื่องมือ ลิขสิทธิ์ และอื่นๆ ฯลฯ ที่ถือได้ว่าเป็นธุรกิจสื่อมวลชน
จึงเห็นว่า นายพิธา น่าจะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม สอดรับกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล พ้นจาก ส.ส. ด้วยเหตุถือหุ้นสื่อสารมวลชน บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และ บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด
4) พิธา ถือหุ้น itv เพียงแค่เล็กน้อย ทำไมจึงผิด
ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 12-14/2553 ในคดีถือหุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานรัฐ ที่วินิจฉัยให้ รมต. ส.ส. ส.ว. พ้นจากสมาชิกภาพ และเคยวินิจฉัยไว้ว่า หุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานเป็นลักษณะต้องห้ามแม้ถือหุ้นเพียง1หุ้น ก็ขาดคุณสมบัติ
ดังนั้น การที่ นายพิธา อ้างว่า ถือหุ้น itv เพียง 42,000 หุ้น จาก 1,206,697,400 หุ้น คิดเป็น 0.0035 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอํานาจสั่งการบริษัท
: ข้อโต้แย้งนี้ของนายพิธา จึงฟังไม่ขึ้นและไม่อาจหักล้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางแนวไว้เดิม
พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยคดีการถือหุ้นสื่อ itv ไม่ว่าจะออกมาในแนวทางใด”
ขณะเดียวกัน ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า
“ทำไมนายพิธาจึงมีโอกาสผิดฐานถือหุ้นสื่อ?
หัวใจสำคัญของการวินิจฉัยอยู่ที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ใน มาตรา 42(3) บุคคลผู้มีลักษณะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จากกรณีหุ้นไอทีวีพบว่ามีการจดทะเบียนในฐานะสื่ออย่างชัดเจน แม้ว่าจะประสบปัญหาทางธุรกิจมาเป็นระยะเวลาหลายปี รวมถึงไม่ได้ดำเนินธุรกิจตามปกติเฉกเช่นในอดีต แต่ก็ยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจทางการค้าแต่อย่างใด ดังนั้น ในทางกฎหมายจึงถือว่าปัจจุบันไอทีวีมีสถานะ “ยังดำเนินกิจการอยู่”
ส่วนการที่ศาลแพ่งแต่งตั้งนายพิธาเป็นผู้จัดการมรดกของหุ้นไอทีวีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในกรณีของผู้จัดการมรดกทั่วไปก็อาจไม่ได้มีสิทธิ์ในทรัพย์มรดก แต่ในกรณีของนายพิธาที่เป็นทายาทโดยธรรมคนสำคัญ จัดเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์มรดกนั้นด้วย ถ้านายพิธามั่นใจว่าไม่ผิด นายพิธาจะรีบโอนหุ้นปัดสวะให้พ้นตัวทำไม?
ต่อมาไอโอด้อมส้มมักยกกรณีต่างๆ มาเปรียบเทียบในลักษณะบิดเบือนโดยละเลยใจความสำคัญ เช่น กรณีชาญชัย ไม่ผิดฐานถือหุ้นสื่อเพราะหุ้นเอไอเอสไม่ใช่หุ้นสื่อโดยตรง กรณีภาดา ไม่ผิดฐานถือหุ้นสื่อเพราะบริษัทที่เกี่ยวข้องจดวัตถุประสงค์ไว้หลายประการ แต่ยังไม่เคยประกอบกิจการสื่อใดๆ และจดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว เป็นต้น
แต่ทว่าไอโอด้อมส้ม สื่อบริวารของนายทุนด้อมส้ม นักวิชาการด้อมส้ม เครือข่ายปั่นกระแสบิดเบือนทางโซเชียลมีเดียของด้อมส้ม ฯลฯ กลับไม่ค่อยนำเสนอกรณีสุรโชค ที่ผิดฐานถือหุ้นสื่อเพราะถือหุ้น อสมท. เพียงแค่ 1 หุ้นเท่านั้น โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ต้องความผิดทางอาญาพร้อมกับตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 20 ปี
อย่างไรก็ดี ควรปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันต่อการโกงที่ทันสมัย ยกตัวอย่าง เช่น พรรคการเมืองหนึ่งมีนายทุนครอบงำพรรค แม่กับญาติของนายทุนถือหุ้นสื่อจำนวนมาก ตลอดจนมีขบวนการไอโอที่ครองพื้นที่ในโซเชียลมีเดียเกือบทั้งหมด แถมยังมีการใช้ดาราแห่กันออกมาชี้นำให้เลือกพรรคดังกล่าวบริเวณคูหาโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย
แม้ว่ากฎหมายจะล้าหลังไม่เท่าทันต่อกลโกงในยุคปัจจุบัน แต่กฎหมายย่อมต้องเป็นกฎหมาย และที่สำคัญที่สุด นายพิธา ทำตัวด้อยกว่ากฎหมายที่ล้าหลัง วุฒิภาวะต่ำกว่าวิญญูชนปกติ ขาดกระทั่งความรับผิดชอบต่อตนเองในระดับพื้นฐาน นายพิธาที่ไม่ยอมโอนหุ้นให้เรียบร้อยตั้งแต่แรก จึงเหมือนกับเด็กอนุบาลที่ไม่ทำการบ้านส่งครู”