“รัดเกล้า” ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา PM 2.5 ด้านกระทรวงพลังงานออกนโยบาย 3C หนุนใช้รถอีวี ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมเข้มใช้กฎหมายลดฝุ่น หนุนชาวไร่ตัดอ้อยสดขาย ยืนยันทุกมาตรการออกแบบแก้ปัญหาถูกจุด
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง มีกำชับในที่ประชุม ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยให้ทุกกระทรวงเร่งลงพื้นที่เพื่อเข้าไปแก้ปัญหานั้น ในส่วนของกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมยังคงเดินหน้าอย่างเต็มที่ตามมาตรการต่างๆที่มุ่งเน้นแก้ปัญหา PM 2.5 ในระยะยาว โดยเฉพาะนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 หลักๆอยู่ 2 มาตรการ คือ
1. การออกมาตรการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
2. การสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีและนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.52 โดยช่วยเหลือเฉพาะซาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ผ่านการสมทบจ่ายค่าแรงงานให้แก่เกษตรกรที่ตัดอ้อยสดแทนการตัดอ้อยไฟไหม้ ซึ่งจะทำให้ลดการเผาได้
ในส่วนของกระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกนโยบาย 3C หรือ Clean - Care - Change เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหา PM2.5 และมอบลมหายใจที่ดีกว่าเดิมให้กับคนไทย ประกอบด้วย
CLEAN ยกระดับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงสู่ Euro5 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประสานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อปรับคุณภาพน้ำมันจาก Euro4 ไป Euro5 และบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
CARE ส่งเสริมการเข้าศูนย์บริการเพื่อดูแลเครื่องยนต์ โดยขอความร่วมมือทั้งค่ายรถยนต์และผู้ค้าน้ำมันในการเพิ่มส่วนลดให้มากขึ้น ซึ่งผู้ค้าน้ำมันและค่ายรถยนต์ได้มีโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับลูกค้าผู้ใช้รถยนต์ในการนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการบำรุงรักษาตามระยะ รวมทั้งการเปลี่ยนไส้กรองอากาศ ไส้กรองน้ำมัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมัน โดยเฉพาะรถเก่า เพื่อจูงใจให้ประชาชนนำรถยนต์เข้าตรวจสอบสภาพเพื่อลดฝุ่นให้ได้มากที่สุด
CHANGE สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนจากการใช้รถน้ำมันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยลดการปล่อย CO2 ซึ่งเป็นต้นตอของฝุ่น PM2.5
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังได้ดำเนินการศึกษาและปรับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิดให้เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งการเปิดเสรีในกิจการพลังงานเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ส่วนด้านส่งเสริมพลังงานสะอาด ก็จะส่งเสริมพลังงานชีวมวล ชีวภาพ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม ให้มากขึ้น พร้อมไปกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการลดการปล่อย CO2 เพื่อให้ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
"จากข้อมูลของ Greenpeace พบว่าปัญหา PM2.5 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั่วโลกกว่า 70 ล้านล้านบาท โดยแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 มาจากการเผาในที่โล่ง 54% ภาคอุตสาหกรรม 17% ภาคขนส่ง 13% ภาคการผลิตไฟฟ้า 8% และอื่นๆ 8% แต่หากตรวจสอบเฉพาะในเขตเมืองจะพบว่าฝุ่น PM2.5 จะเกิดจากภาคขนส่งมากถึง 72% โดยรถบรรทุกพบมากที่สุดที่ 28% รถกระบะ 21% รถยนต์นั่ง 10% รถประจำทาง 7% รถมอเตอร์ไซค์ 5% และรถตู้ 1% ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ได้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาอย่างถูกจุด" รัดเกล้ากล่าว