xs
xsm
sm
md
lg

ส่องชุมชนลดโลกร้อนตัวจริง! ชาวบ้านเกาะจิกนอก “เลือกใช้พลังงานสะอาด” จนขายคาร์บอนเครดิตได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ภาพมุมสูงของโรงเรือนผลิตไฟฟ้าของเกาะจิก ? Roengchai Kongmuang
เป็นเวลานานแล้ว ที่ชาวบ้านเกาะจิกนอก อำเภอขลุง จันทบุรี อยากมีไฟฟ้าใช้ แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะทางการไฟฟ้าอ้างว่าไม่คุ้มการลงทุน หากต้องลากสายเคเบิลใต้ทะเลมาขึ้นเกาะ

ชาวบ้านนำโดยผู้ใหญ่บ้าน “นายณรงค์ชัย เหมสุรรณ” หรือผู้ใหญ่แต๊ก ไม่ยอมจำนน เขาเดินหน้าไปขอความช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงาน ให้มาติดตั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ และดีเซลจนสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ชาวบ้านบนเกาะที่มีอยู่ประมาณ 400 คน

ต่อมาผู้ใหญ่แต๊กมองเห็นว่า “พลังงานจากแสงอาทิตย์” สามารถทำให้ชุมชนประหยัดค่าใช้จ่าย และมีสุขภาพที่ดีขึ้นเนื่องจากสามารถลดมลพิษทางอากาศ เช่น ควันจากเครื่องปั่นไฟดีเซล และมลพิษทางเสียง



ผู้ใหญ่แต๊ก ผู้ใหญ่บ้านของเกาะจิกกับแผงโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 40.5 กิโลวัตต์ ในโรงเรือนผลิตไฟฟ้า ของเกาะจิก ? Roengchai Kongmuang
พัฒนาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะจิกเป็นหลัก

ที่นี่เริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 โดยได้รับงบประมาณมาจาก สํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในตอนนั้นระบบประกอบไปด้วยโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 7.5 กิโลวัตต์ มีแผงโซลาร์เซลล์ 3 ชุด มีกำลังผลิตชุดละ 3,000 วัตต์ ใช้สูบน้ำจากบ่อน้ำตื้น 3 แห่งเพื่อใช้กับระบบประปาหมู่บ้าน และเครื่องยนต์ดีเซลล์ 50 กิโลวัตต์ หลังจากนั้นเราก็ใช้ระบบ 2 แบบนี้ผสมผสานกันในการผลิตพลังงานให้กับชุมชน

“ถ้าถามว่าก่อนหน้านั้นชุมชนใช้อะไรให้ความสว่างบนเกาะ ชาวบ้านใช้ตะเกียงครับ” เช่น ตะเกียงเรือ หรือตะเกียงโป๊ะ เป็นต้น ในยุคถัดมาแต่ละบ้านก็ใช้เครื่องยนตร์ดีเซลในการปั่นไฟ ซึ่งมีข้อจำกัดในการผลิตพลังงานอยู่เนื่องจากผลิตพลังงานได้น้อย มีมลพิษเยอะ ไม่ว่าจะเป็นควันจากเครื่องยนต์ และมลพิษทางเสียง

ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมมือกับลูกบ้านหาหนทางเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานแสงอาทิตย์ และค่อยๆ ลดการใช้พลังงานดีเซลโดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชน นักวิจัยและสถาบันหลายแห่งเข้ามาช่วยจนทำให้ชุมชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากน้ำมันดีเซลจนกระทั่งทั้งเกาะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดในปี พ.ศ.2560 รวมถึงมีการบริหารจัดการด้านการเงิน การซ่อมบำรุงเครื่องมือได้ด้วยตนเอง พร้อมยังนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาดัดแปลงใช้ในการผลิตไฟฟ้า

หลังจากที่มีระบบโซลาร์เซลล์เข้ามา ข้อดีแรกที่เห็นผลชัดเจนเลยก็คือ ชาวบ้านประหยัดเงินได้มากขึ้นเพราะโซลาร์เซลล์ทำให้ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในการปั่นไฟน้อยลง ก็ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องไปซื้อน้ำมันเติมเครื่องยนต์ลง ซึ่งประหยัดเงินไปได้อย่างน้อยเดือนละ 2,000 – 3,000 บาทเลยทีเดียว และข้อสองก็คือสุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น เพราะไม่มีมลภาวะทางเสียงและควันจากเครื่องยนต์ ตั้งแต่ตอนนั้นเราก็ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชนบนเกาะจิกเรื่อยมา แต่เราไม่ได้ผลิตแล้วใช้อย่างเดียว เรามีนโยบายร่วมกันของเกาะด้วย นั่นก็คือการทำให้เกาะจิกเป็นชุมชนแห่งการลดภาวะโลกร้อนและชุมชนอนุรักษ์พลังงาน 

"บนเกาะนี้เราไม่อนุญาตให้ใช้ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษเลย เช่นมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ เราจะให้ใช้จักรยานหรือรถเข็นบรรทุกสัมภาระแทน แต่เราก็มีข้อยกเว้นบ้างในกรณีของการขนสัมภาระบนพื้นที่ที่เป็นเนินหรือภูเขา แบบนั้นเราอนุญาตให้ใช้รถซาเล้งได้ซึ่งทั้งเกาะนี้มีรถซาเล้งอยู่ 1-2 คัน"

แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานของชุมชนภายในโรงเรือนผลิตไฟฟ้า ? Roengchai Kongmuang
นโยบายเกาะจิก Low Carbon ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแบบของชุมชน


ไม่ใช่เพียงแค่การใช้พลังงานหมุนเวียนบนเกาะเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเน้นนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย ผู้ใหญ่แต๊ก เล่าว่า “เราจะคำนวนจากปริมาณลิตรของน้ำมันที่ใช้ ซึ่งน้ำมัน 1 ลิตรก็จะมีตัวเลขก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมา เราก็คำนวนว่าใน 1 ปีเราลดการใช้น้ำมันดีเซลไปได้เท่าไร ก็จะทำให้เราทราบว่าเราลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเท่าไรนั่นเอง”

ยกตัวอย่างเรือประมงพื้นบ้านที่นี่ที่มีจำนวนกว่า 40 ลำ เราก็ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อชาร์จพลังงานและกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ สำหรับให้แสงสว่างและปั๊มน้ำออกในกรณีเรือรั่ว เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลแล้ว ในหนึ่งวันเรือจะต้องใช้น้ำมันในการปั่นไฟ 5 ลิตร และ 1 ลิตรจะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.46 หน่วย นั่นหมายความว่าใน 1 วัน เรือ 1 ลำจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 12.3 หน่วย และในเมื่อเรือทั้ง 40 ลำนี้เปลี่ยนจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมัน มาเป็นแผงโซลาร์เซลล์ ก็ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปได้ถึง 492 หน่วยในเพียงวันเดียวเท่านั้น

ปัจจุบันนี้เรือประมงเกือบทุกลำของพวกเขาหันมาเปลี่ยนใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนน้ำมันดีเซล พร้อมกับเผยแผ่องค์ความรู้ขยายออกไปยังชุมชนอื่นๆ อีกหลายแห่ง

ระบบไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนบนเกาะจิก

สิ่งที่น่าใจเกี่ยวกับระบบการจ่ายไฟฟ้าบนเกาะแห่งนี้ก็คือ ทั้งระบบเกิดจากการพัฒนาของชุมชนซึ่งนำโดยผู้ใหญ่แต๊ก ที่นี่มีระบบสายส่งขนาดเล็กของพลังงานแสงอาทิตย์และการกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ หลังจากที่ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 7.5 กิโลวัตต์ไปแล้ว ผู้ใหญ่และตัวแทนของชุมชนก็เริ่มพัฒนาและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ผลิตพลังงานให้กับชุมชนบนใจกลางของเกาะจิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเรียกว่า “โรงเรือนผลิตไฟฟ้า” ปัจจุบันในโรงเรือนแห่งนี้ประกอบไปด้วยโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังการผลิต 40.5 กิโลวัตต์ และแบตเตอรี่ในการกักเก็บพลังงานเพื่อใช้ในตอนกลางคืน ที่นี่เปรียบเสมือนหัวใจแหล่งพลังงานของหมู่บ้าน

ในส่วนของการบริหารจัดการ เนื่องจากเราไม่สามารถปล่อยให้โรงเรือนผลิตพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่มีการดูแลโรงเรือนแห่งนี้ เราจำเป็นจะต้องมีการจ้างคนในชุมชนมาเป็นพนักงานเพื่อมาดูแล ดังนั้นจึงทำให้เราได้ก่อตั้งองค์กรเล็ก ๆ แบบไม่แสวงหากำไรขึ้นมาเพื่อดูแลโรงเรือนแห่งนี้ให้ผลิตไฟฟ้าให้กับหมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เกาะจิก Recharge (Kohjik Recharge)

จริงๆแล้วที่มาที่ไปของ เกาะจิก Recharge นั้นมาจากโครงการวิจัยของนักศึกษาชั้นปริญญาโทในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหัวหน้าโครงการเป็นนักศึกษาชาวไทยและได้เข้ามาคุยกับทางทีมของชุมชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะร่วมกันพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนบนเกาะจิกแห่งนี้ให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เช่น เราจะพัฒนาระบบนี้ต่อไปอย่างไรเพื่อลดต้นทุน นำไปสู่การลดราคาค่าไฟฟ้าให้ถูกลง และพัฒนาระบบนี้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนได้อย่างไรบ้าง ชาวบ้านจะต้องมีองค์ความรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน หรือแม้กระทั่งการจัดการแผงโซลาร์เซลล์เมื่อเกิดความเสียหายหรือหมดอายุการใช้งาน

ทีมเริ่มจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงานของครัวเรือนในชุมชน ศึกษาปัญหาอุปสรรค หรือความท้าทายที่เกิดขึ้นภายใน 15 ปีที่เราใช้ระบบพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางธรรมชาติ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจในชุมชน หรือการติดต่อกับบริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ทีม ทีมงานและทีมนักศึกษาเก็บปัญหาเหล่านี้มาศึกษาและค่อย ๆ หาวิธีแก้ปัญหาไปทีละข้อ โดยปัญหาที่เราเพิ่งลองแก้ไขไปก็คือการเปลี่ยนมิเตอร์ให้เป็นมิเตอร์แบบเติมเงิน


ปัจจุบันเราก็ยังคงทำงานกับทีมนักศึกษาอยู่ถึงแม้ว่าโครงการจะเสร็จแล้ว เพราะสิ่งที่เราศึกษาไปทั้งหมดเป็นการศึกษาร่วมกันในระยะยาว ทีมชุมชนและทีมนักศึกษาจึงมีการปรึกษาหารือถึงปัญหาหรือความท้ายทายที่เกิดขึ้นในชุมชนต่อเรื่องพลังงานเรื่อยมา

นั่นทำให้ทุกวันนี้ ชาวบ้านบนเกาะจิกนอก แทบไม่มีการใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ กลายเป็นชุมชนลดโลกร้อนตัวจริง ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติยศด้านพลังงานทางเลือกระดับนานาชาติหลายแห่ง

และล่าสุดบริษัท Apple ก็เข้ามาทำสัญญารับซื้อ carbon credit จากเกาะนี้ ระยะยาว 15 ปี นับเป็นเรื่องราวไม่น่าเชื่อว่าชาวบ้านที่จบระดับประถมศึกษา จะมีความรู้และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมได้รุดหน้าถึงเพียงนี้

อ้างอิง https://www.greenpeace.org/thailand/story/11137/climate-renewable-energy-kohjik-solar-energy/


กำลังโหลดความคิดเห็น