ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แล้ว!! ถ้าต้องอยู่กับ “ฝุ่นควัน” เป็นเวลานาน แชร์เคสตัวอย่าง “ปอดพัง-หลอดลมดำ”!! ไขข้อข้องใจ ทั้งที่อยู่ต่างจังหวัด “แต่ทำไมสัมผัสมลพิษเยอะขนาดนั้น”?
อยู่กับ “ฝุ่นควัน” นานจน “ปอดพัง”
อุทาหรณ์สัมผัส “มลพิษฝุ่นควัน” เป็นเวลานาจน “หลอดลมดำ” , “ปอดพัง”เรื่องราวนี้ถูกแชร์โดย “หมอเบียร์”-พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม แพทย์อายุรกรรมโรคติดเชื้อ “โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก”ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Nuttagarn Chuenchom” ว่า...
“วันนี้มีเคสน่าสนใจมาแชร์ค่ะ”มีผู้ป่วยชายวัย 70 ปี เข้ามารักษาด้วยอาการ ไอเรื้อรังมีเสมหะปนเลือด หอบเหนื่อยเดินไม่ค่อยไหว น้ำหนักลดหลัง “การเอกซเรย์ปอด(CXR)” พบคล้ายอาการปอดอักเสบที่ด้านขวา
และพบ “ก้อนคล้ายมะเร็ง”ที่ด้านขวาล่างของปอด จึงทำการส่องกล้องเพื่อตรวจสอบ ภาพที่ทำให้ตกใจคือ “หลอดลมเป็นสีดำ” กระจายเป็นหย่อมๆ
{เคสตัวอย่างปอดพัง จาก “หมอเบียร์”}
}ผู้ป่วยรายนี้ หยุดสูบบุหรี่มานานว่า 20 ปี แต่มีอาชีพทำไร่ทำสวน “สัมผัสฝุ่นควันและมลภาวะเป็นเวลายาวนาน”ฝุ่นถ่านดำที่เข้ามาในหลอดลมของเราจะทำให้เกิดพังผืดและเกิดการตีบ สัมพันธ์กับการเกิด “ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ” เนื่องจาก “การอุดกั้น เกิดปอดแฟบ (atelectasis)”
ถ้าเป็นหนักๆ คือโดนกับเนี้อปอด จะเรียกว่า “black lung disease”หรือ “โรคปอดถ่านหิน” อย่างที่เกิดในคนงานเหมืองถ่านหิน และโรคนี้ยังอาจทำให้เป็น “วัณโรคได้ 20%” และ “โรคมะเร็งได้ 10%”
“จึงขอบันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งได้ตรวจพบภาวะนี้Bronchial anthracosis or Bronchial anthracofibrosisรักษาปอดกันไว้ให้ดีนะคะ สัมผัสมลพิษ ฝุ่นควันดำขนาดใหญ่มากๆเข้าอาจเกิดหลอดลมหรือปอดพังได้เพราะสิ่งนี้ค่ะ"
{เคสตัวอย่างปอดพัง จาก “หมอเบียร์”}
“มลพิษทางอากาศ” ไม่ได้มีแค่ “กรุงเทพฯ”
“สัมผัสมลภาวะเป็นเวลายาวนาน?” ตรงนี้เองที่มีคนสงสัย ทำไมคนต่างจังหวัดถึง “สัมผัสมลภาวะมากขนาดนั้น” ทีมข่าวจึงชวน “โบนัส”-อัลลิยา เหมือนอบ” นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ จาก กรีนพีซประเทศไทย มาช่วยสะท้อนสถานการณ์ มลภาวะทางอากาศ ของพื้นที่ต่างจังหวัดว่าเป็นอย่างไรบ้าง
“เราต้องแยกก่อนว่า จริงๆแล้ว ปัญหามลพิษทางอากาศ มันไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ หรือว่าแค่ภาคเหนือ จริงๆ แล้วในแต่ละจังหวัดประสบกับปัญหานี้อยู่เยอะเหมือนกัน”
นักสิ่งแวดล้อมด้านอากาศท่านนี้ ยังอธิบายต่อว่าจากเคสที่เห็น ผู้ป่วยอยู่ที่ จ.ตาก เป็นภาคตะวันตก ซึ่งเป็นที่ที่ มลพิษทางอากาศเคลื่อนที่ไปหากันได้หมด จากจุดความร้อนที่เราเห็นทั้งฝั่งไทย พม่า ภาคตะวันตก ภาคเหนือ
“ก็ไม่แปลกที่เขาจะได้รับ มลพิษทางอากาศเข้าเยอะ”
{“โบนัส” นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซประเทศไทย}
จริงๆ แล้วทั้งภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ก็มีปัญหาเรื่อง “มลพิษทางอากาศ”เช่นเดียวกัน เพียงแต่“แหล่งกำเนิดมลพิษ” นั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
ต้องดูแยกตามพื้นที่ ถึงจะเข้าใจปัญหานี้ ตรงนั้นมีพื้นที่การเกษตรเยอะหรือไม่ หรือดูลมว่าตัวมลพิษถูกพัดมาจากทางไหน อย่างใน “ภาคเหนือ” เป็นเรื่องหมอกควันพิษข้ามพรมแดน ไฟไหม้ การเผาเชิงเกษตร เป็นส่วนใหญ่
ถ้าเป็นใน “กรุงเทพฯ” ก็จะเป็น การจราจร โรงงาน เป็นหลัก หรือ “เมืองอุตสาหกรรม” อย่าง ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร จะพบว่า “หมอกควัน มีสารประกอบทางเคมีในอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ”
“แต่ว่าข้อมูลเหล่านี้ จะพูดได้ยากนิดหนึ่งว่า แหล่งมลพิษในแต่ละจังหวัด มาจากตรงไหน มากเท่าไหร่ เพราะ การศึกษาเรื่องนี้ ยังมีไม่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย ส่วนใหญ่ก็จะโฟกัสไปที่กรุงเทพฯ และภาคเหนือ”
“ปัญหามีมาตลอด” แค่ไม่ถูกพูดถึง
“จริงๆต้องบอกว่า มีปัญหามาโดยตลอดมากว่าค่ะ”
คำตอบจาก “โบนัส-กรีนพีซ” เมื่อถามว่าในต่างจังหวัด ปัญหามลพิษ มีมากน้อยขนาดไหน และยังเสริมต่อว่า ถ้าดูข้อมูลจาก “รายงานประจำปี”ของ“กรมควบคุมมลพิษ” จะพบว่า “ภาคอีสาน”ก็ประสบปัญหาคล้ายๆกับทางเหนือ
“แต่มันไม่ได้ถูกพูดถึง ในสาธารณะมากสักเท่าไหร่ ทางอีสานก็เหมือนกัน ถ้าเราย้อนดูข้อมูล ก็ประสบปัญหามายาวนานเช่นเดียวกันกับภาคเหนือเลย”
{แผนที่เข้มขนของ ฝุ่น PM 2.5 จากรายงาน “ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน” กรีนพีชประเทศไทย}
และอีกจังหวัดที่เผชิญ “ปัญหาฝุ่นควันมาอย่างยาวนาน” แต่กลับตกหล่นไม่มีการพูดถึงเลยคือ “สระบุรี” หากย้อนดูจะเห็นว่าในช่วง 10-20 ปี สระบุรี ติดอันดับหนึ่งโดยตลอด เพราะมี “การทำเหมืองหินปูน”หรือ “อุตสาหกรรมเกี่ยวกับหินปูน”ค่อนข้างเยอะ
{สถานการณ์ “ฝุ่นละออง (PM 10)” ในช่วง 10 ปีของ จ.สระบุรี จากรายงานปี 2565 กรมควบคุมมลพิษ}
เหตุที่จังหวัดเหล่านี้ “ตกหล่นและไม่มีการพูดถึง”ส่วนหนึ่งมาจาก “การเก็บข้อมูล” นักรณรงค์ด้านมลพิษ ให้ข้อมูลว่า ถ้าเช็ค“เครื่องวัดคุณภาพอากาศ”จะเห็นว่ามัน “กระจุกตัว” อยู่ในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ ส่วนเครื่องของ กรมควบคุมมลพิษ “ก็ไม่ได้มีครบทุกจังหวัด”
ข้อมูลจาก “ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน” ของ “กรีนพีชประเทศไทย” ที่เผยแพร่ในปี 2565 ระบุบว่า ในไทยมี สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เป็นของ “รัฐ” ทั้งหมด“138”แห่ง และมีประชากรเพียง 27%เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในรัศมีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ
{แผนที่สถานีตรวจจับคุณภาพอากาศ จากรายงาน “ความแตกต่างใต้ท้องจากเดียวกัน”}
“ทำให้พอไม่เห็นข้อมูล มันก็ไม่ถูกพูดถึง ไม่ถูกรายงานเข้าในส่วนกลาง”
ปัจจัยที่ 2 คือ “ความเข้าใจ”เรื่อง มลพิษทางอากาศ ด้วยว่า คนกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ตระหนักเรื่องนี้ค่อนข้างมากทำให้ปัญหาถูกพูดถึงทั้งในข่าวและโลกโซเชียลมีเดีย ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อไม่มีการพูดถึง ปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไข“โบนัส-กรีนพีซ” บอกว่า..
“ก็จะเห็นถึงความแตกต่างได้เลยว่า พอคนกรุงเทพฯ ส่งเสียงเรื่องนี้ทีหนึ่ง รัฐก็จะขยับขึ้นมาที่หนึ่ง หรือฝั่งภาคเหนือส่งเสียงขึ้นที่หนึ่ง รัฐก็จะขยับที่หนึ่ง ถึงขั้นตั้งคณะทำงานพิเศษ”
ในขณะที่ บางจังหวัดบางพื้นที่ เรื่องนี้ไม่ได้ครองพื้นที่สื่อมากนักหรือ คนในพื้นที่ไม่สามารถส่งเสียงออกได้ดังพอ การจัดการปัญหานี้ก็หายไป สะท้อนถึง “ความเหลื่อมล้ำของสิทธิที่จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณข้อมูล : www.greenpeace.org
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Nuttagarn Chuenchom” ,www.greenpeace.org ,www.pcd.go.th
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **