สหรัฐฯ ชื่นชมกรุงปักกิ่งเคยถูกหมอกควันพิษปกคลุมบ่อยครั้งจนเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกเมื่อสิบปีก่อน แต่บรรดาผู้นำจีนทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ทำสงครามต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศจนสำเร็จ
สถาบันนโยบายพลังงานของมหาวิทยาลัยชิคาโก จัดทำรายงานดัชนีชี้วัดผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่ออายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ประจำปี (Air Quality Life Index report) เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (29 ส.ค.) ยกย่อง “ความสำเร็จที่น่าพิศวงในการต่อสู้กับมลพิษ” ของจีน
รายงานระบุว่า คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นในจีนส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของพลเมืองจีนขณะนี้ยืนยาวขึ้นอีก 2.2 ปี โดยระดับมลพิษทางอากาศของจีนในปี 2564 ลดลงร้อยละ 42 จากปี 2556 ขณะที่ระดับมลพิษทั่วโลกในช่วงเวลาดังกล่าวขยับลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของจีนล้วนๆ โดยหากไม่มีการปรับปรุงของจีน มลพิษโดยเฉลี่ยในโลกคงจะเพิ่มขึ้น จึงนับเป็นการสร้างเรื่องราวความสำเร็จที่หาได้ยากในภูมิภาคนี้ ซึ่งปัญหามลพิษกำลังทวีความเลวร้ายในบางพื้นที่ เช่น ในแถบเอเชียใต้
ทั้งนี้ หลายเมืองในจีนเคยติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก และปัจจุบันบางเมืองยังไม่หลุดจากอันดับ อีกทั้งแซงหน้าเมืองอื่นๆ ในแถบเอเชียใต้และตะวันออกกลางอยู่หลายครั้ง
จากรายงานของสื่อทางการจีน กรุงปักกิ่งเคยทำสถิติมีคุณภาพอากาศประจำเดือนดีที่สุดในปี 2564 “ปักกิ่งสีฟ้ากลายเป็นสิ่งเกิดขึ้นใหม่จนเป็นเรื่องปกติของเราทีละน้อย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีนในขณะนั้นกล่าว
อย่างไรก็ตาม รายงานดัชนีชี้วัดฉบับนี้เตือนว่า ยังมีงานที่ต้องทำกันต่อไป เพราะจีนยังคงเป็นชาติมีมลพิษมากที่สุดอันดับที่ 13 ของโลก และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ซึ่งแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายเป็นอันตรายต่อมนุษย์ในกรุงปักกิ่งยังคงมีปริมาณสูงกว่าเทศมณฑล ซึ่งมีมลพิษมากที่สุดในสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 40 โดยถึงแม้ระดับ PM 2.5 ของจีนอยู่ภายในเกณฑ์มาตรฐานแห่งชาติ แต่ก็สูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา : ซีเอ็นเอ็น