xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.ตวง” เชื่อ รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ไปต่อได้ยาก ชี้ ประเทศไทยไม่ได้มีวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.ตวง” เชื่อ รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ไปต่อได้ยาก แต่ต้องมีทางลง ให้สง่างาม และเคยมีคนไปลงที่ศาล รธน. เตือนทบทวน ยอมรับความจริง เหตุกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ชัดว่าทำได้ ชี้ ประเทศไทยไม่ได้มีวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย

วันนี้ (9 ม.ค.) นายตวง อันทะไชย ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ ว่า ที่ผ่านมา การออก พ.ร.บ.เงินกู้ในลักษณะนี้ ไม่เคยประสบความสำเร็จ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสุดท้ายเรื่องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ครั้งนี้ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ก็เชื่อว่า จะเป็นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องอธิบายให้ได้เป็นอันดับแรก ก็คือ เรื่องของประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร เพราะถ้าดูจากตัวเลขงบประมาณ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้เดินสายไปเชิญชวนทุกประเทศทั่วโลกมาลงทุน แต่มาบอกคนในประเทศว่า เรากำลังวิกฤต อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสถานการณ์ช่วงปีใหม่ที่มีการเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนกลับภูมิลำเนา พบว่า มีความคึกคักเป็นอย่างมาก สามารถอธิบายปรากฏการณ์ได้ว่าไม่ใช่ช่วงวิกฤตของประเทศ ไม่เหมือนช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือช่วงภาวะสงคราม และส่วนตัวมองว่า ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ปกติ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยวิธีอื่น

“มันยากที่จะบอกประเทศที่ปกติให้วิกฤต ถามหน่อยว่าจะบอกว่าประเทศเราวิกฤตเรื่องอะไร วิกฤตเศรษฐกิจหรือการเมือง เพราะหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ผมว่ามันดาวน์ลง เป็นธรรมชาติทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เราอยู่ในภาวะปกติธรรมดา เหมือนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน เรากำลังเป็นประเทศก้าวไปข้างหน้า ถ้าเราจะบอกว่าประชาชนเดือดร้อน ลำบาก เราจะใช้เงินเข้าไปให้เกิดการหมุนของเงินเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายยากพอสมควร” นายตวง กล่าว

นายตวง กล่าวว่า การตีความตามความเห็นกฤษฎีกา ไม่ได้เป็นการบอกตรงๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่า กฤษฎีกาฉลาด พร้อมขอให้ย้อนกลับไปดูความเห็นของกฤษฎีกาในอดีตในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่เคยบอกว่า โครงการไหนทำไม่ได้ แม้แต่การเขียนจดหมาย กฤษฎีกาก็จะไม่บอกว่าผิดหรือถูก อยู่ที่คนบริหารราชการแผ่นดิน ว่า จะใช้วิจารณญาณอย่างไร จึงอยากฝากไปยังรัฐบาล ว่า ให้ยอมรับความจริง และทบทวน

นายตวง ยังยกตัวอย่างโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่กฤษฎีกา ก็ไม่ได้บอกว่าผิด ทั้งนี้ หากรัฐบาลนายเศรษฐา จะเดินหน้าต่อ เชื่อว่า เรื่องจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลให้วินิจฉัย ทั้งฝ่ายค้านหรือภาคประชาชน และศาลเคยวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้มาแล้ว อย่างไรก็ตาม มองว่า รัฐบาลอาจจะรู้อยู่แก่ใจว่า เป็นเรื่องยาก และอาจจะมีธง หรืออาจเป็นข้ออ้างเพื่อเดินหน้าต่อในทางการเมือง เพราะทุกเรื่องต้องมีทางลง เห็นใจรัฐบาลเหมือนกันว่าจะลงอย่างไร เพราะประกาศตั้งแต่หาเสียง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะลงอย่างไร ให้มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรีและสง่างาม ถ้าลงไม่ได้ในอดีตมีทางที่คนเคยลง คือ ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำตอบก็รู้อยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น