เมืองไทย 360 องศา
สังเกตหรือไม่ว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้มักจะได้ยินข่าวคราวทำนองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีคดีในต่างประเทศ กำลังจะกลับประเทศไทย หรือบางข่าวก็ลือกันไปไกลว่า เธอกลับมาได้พักหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี สำหรับเรื่องหลังนั้นมันก็เป็นแค่รายงานข่าวยังไม่มีใครยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ เพียงแต่มีการคาดการณ์กันไป ซึ่งก็มีความเป็นไปได้พอๆ กับเป็นไปไม่ได้
ส่วนสาเหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวกับพวกเขา “สองพี่น้อง” ล้วนแล้วแต่มีความลับลมคมในตลอดเวลา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่สถานะแท้จริงก็คือ “นักโทษเด็ดขาด” ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ แต่กลับเป็นว่า เวลานี้กำลังกลายสถานะเป็น “นักโทษเทวดา” เริ่มสร้างกระแสความไม่พอใจให้กับสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะส่วนใหญ่มอง และเชื่อว่ากำลัง “เอาเปรียบ” เป็นการใช้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ซึ่งกรณีของนายทักษิณ ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ในคราวเดียวกันด้วย
ขณะเดียวกันที่ผ่านมา หลังจากที่อ้างว่าป่วยจนต้องมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจนานกว่า 120 วัน พร้อมกับมีการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ เปิดทางให้มีการคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นไปได้สูงมากว่าอีกไม่นาน นายทักษิณก็จะออกจากโรงพยาบาลไปอยู่ที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาก็มีความเชื่อไม่น้อยแล้วว่าตอนนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งนานแล้ว เพราะยังไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ ทำให้เกิดเสียงลือ เสียงวิจารณ์เกิดขึ้นมาตลอด ซึ่งก็ช่วยไม่ได้ที่จะเกิดความสงสัยของชาวบ้านแบบนั้น
เพราะหากจะโทษ ก็ต้องโทษรัฐบาล ตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงมา ที่แสดงท่าทีปกปิดความจริงบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา หรือแม้กระทั่งการไม่ยอมเปิดเผยอาการป่วยของคนไข้ อ้างว่าเป็นความลับส่วนบุคคล แต่ขณะเดียวกันด้วยระยะเวลาผ่านมากว่า 120 วัน อีกด้านหนึ่งมันก็ย่อมมีคำตอบและเป็น “ข้อพิรุธ” ในตัวของมันเอง ว่ามีเจตนาหลบเลี่ยงไม่ยอมถูกคุมขังในเรือนจำแม้แต่วันสักวันเดียว ถูกมองว่ามีเจตนาช่วยเหลือ รวมหัวกันย่ำยีกระบวนการยุติธรรมจนป่นปี้
อย่างไรก็ดี ด้วยภาพลักษณ์ “อภิสิทธิ์ชน” และ“คนไม่เท่ากัน” ของ นายทักษิณ ชินวัตร รัฐบาล รวมไปถึงพรรคเพื่อไทย เริ่มกลายเป็นภาพติดลบของสังคมเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นภาพของ “การเมืองแบบเก่า” ในแบบ “ระบอบทักษิณ” กำลังกลับมาเขย่ากันอีกรอบ ดังนั้นหากไม่สามารถสลัดภาพแบบนี้ออกไปได้ มันก็น่าเป็นห่วงเหมือนกันกับการแข่งขันทางการเมืองในยุคต่อไป ที่กำลังส่งต่อให้กับทายาทรุ่นถัดไปคือ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้มองจากแนวโน้มความนิยม ยังไม่กระเตื้องขึ้นมาเลย ล่าสุดจากผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เธออยู่รั้งท้ายตามหลังแบบไม่เห็นฝุ่น ได้รับความนิยมเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล นำหน้าเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์
นั่นคือภาพของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่สร้างภาพติดลบในสายตาสังคมทั่วไปที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่อง “คนเท่ากัน” และสร้างความกระอักกระอ่วน ลุกลามมาถึงรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ดี เสียงวิจารณ์กรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ยังไม่ได้เงียบเสียงลงไปมากนัก แต่กลายเป็นว่ายังมีข่าวตามมาอีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หลบหนีคดีเชื่อมโยงกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวไปนานหลายปี ก็กำลังจะกลับเข้าประเทศไทยตามมาอีก ซึ่งบางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า เธออาจเข้ามาแล้วก็เป็นได้ เพราะเชื่อว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้
แต่ในทางกฎหมาย ก็ต้องมีขั้นตอน โดยที่ผ่านมาคนที่ให้ความเห็นในแง่มุมกฎหมายที่ต้องรับฟังก็คือ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นกูรูด้านกฎหมาย แนะนำไว้อย่างน่าสนใจว่า อย่างน้อยต้องมีสองข้อหลัก
นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องการขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องดำเนินการอย่างไร ว่า 1. ต้องเข้ามา 2. มอบตัวเป็นนักโทษแล้วถึงจะถวายฎีกาได้ ถ้ายังไม่รับโทษยังไม่สามารถถวายฎีกาได้ ไม่เรียกว่าฎีกา สำหรับฎีกาคือสิ่งที่นักโทษเด็ดขาดเป็นผู้ถวายขึ้นไป ส่วนจะโปรดเกล้าฯ หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพระมหากรุณา
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับขั้นตอนขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายนั้น ผู้มีสิทธิ์ยื่นเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายได้แก่ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุด โดยขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ ทัณฑสถาน กระทรวงยุติธรรม สำนักงานราชเลขาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต หลังจากรับเรื่องแล้ว กรมราชทัณฑ์ จะส่งไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำ หรือทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องโทษ จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไรก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบ และดำเนินการพร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายทราบ
หากจะว่าไปแล้ว ตามขั้นตอนทางกฎหมายก็ไม่ได้แตกต่างจากกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ตัดสินใจกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา และเข้ามอบตัวต่อศาล และขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่ง นายทักษิณ มีโทษจำคุก 8 ปี แต่ได้รับพระราชการอภัยโทษเหลือ 1 ปี แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยังไม่ถือว่า นายทักษิณถูกคุมขังในเรือนจำสักวันเดียว และกำลังถูกจับตาว่าจะถูกนำตัวไปคุมขังนอกเรือนจำ(ที่บ้าน) เมื่อไหร่เท่านั้นเอง
สำหรับกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ จะดำเนินการรอยตามแบบเดิมหรือไม่นั้น หากพิจารณาจากความเป็นไปได้ ก็น่าจะเป็นไปได้สูงมาก อาจจะเป็นช่วงต้นปีหน้า เข้ามาในแบบเดียวกัน แต่วิธีการอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด เพราะกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะว่าไปแล้วไม่ใช่มีความผิดจากการทุจริตโดยตรง เพียงแต่ว่ามีความผิดจากการปล่อยปละละเลยจนเกิดการทุจริต ไม่รับฟังเสียงเตือนจากหน่วยงานตรวจสอบทุจริต เช่น ป.ป.ช.เป็นต้น ก็อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่าอาจต้องรอกฎหมาย “นิรโทษ” ที่กำลังผลักดันกันอยู่ในเวลานี้ จะได้รับอานิสงส์ หรือไม่ ซึ่งก็น่าจะรอได้
อีกทั้งล่าสุดคดีอาญาที่ถูกดำเนินคดีกรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ถูกศาลฎีกายกฟ้อง และมีการถอนหมายจับไปแล้ว ทำให้ชนักปักหลังคลายลงไป
แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่สามารถคาดเดาบรรยากาศในช่วงเวลานั้นได้ว่าจะเป็นแบบไหน อย่างน้อยก็ต้องรอดูผลกระทบจากกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ว่าจะกลับบ้านวันไหน และสังคมจะรับได้หรือเปล่า!!