xs
xsm
sm
md
lg

"ช่อ" หวั่นทุ่มงบซอฟต์พาวเวอร์ลงกลุ่มเฟสติวัลถึง 1 พันกว่าล้านได้ผลลัพธ์แบบเดิม ไม่ห่วงสงกรานต์ 30 วันสลับที่จัดได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"พรรณิการ์" ไม่กังวลสาดน้ำ 30 วัน แต่หวั่น คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ทุ่มงบใหญ่ลงด้านเฟสติวัล อาจจัดอีเวนท์ทั้งปี และได้ผลลัพธ์แบบเดิม ชี้ยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และทำให้ไม่เห็นผลในปีแรกของการทำงาน

วันนี้ (3 ธ.ค. 66) น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้โพสต์ความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ฯ บนเฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งระบุว่า “แผนงานใหญ่ปีหน้า วันสงกรานต์จะไม่ใช่แค่เทศกาลแบบในอดีตที่ผ่านมา แต่เราจะจัดงานใหญ่ มหาสงกรานต์ World Water Festival-The Songkran Phenomenon ซึ่งจะไม่เล่นแค่ 3 วัน แต่จะจัดงานสงกรานต์เฟสติวัลทั้งเดือน ทยอยจัดทั้งประเทศ 77 จังหวัด” ส่งผลให้ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่เกิดจากการพาดหัวจัดสงกรานต์ 30 วัน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่เมื่อไปดูในรายละเอียด สิ่งที่ตนเองกังวลใจ ไม่ใช่เรื่องสงกรานต์ 30 วัน ซึ่งแน่นอนว่าการจัดเฟสติวัลทั้งเดือนแต่สลับสถานที่หรือจัดโซนนิ่ง ก็สามารถจัดการได้

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เราอยากตั้งคำถามเกี่ยวกับงานเฟสติวัล คือ อย่าลืมว่างบประมาณ 5,164 ล้านบาท ที่ถูกเปิดออกมาล่าสุด มีถึง 1,009 ล้านบาท ในส่วนของเฟสติวัล ทั้งที่มีถึง 11 กลุ่มอุตสาหกรรม การที่กลุ่มอุตสาหกรรมเฟสติวัลได้มากที่สุด ทำให้เกิดคำถามที่ว่า สุดท้ายจะลงเอยด้วยการจัดอีเวนท์แล้วก็จบหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ว่าประเทศไทยจะว่างเว้นจากอีเวนท์ แต่จะมีอะไรที่แตกต่างออกไป ในเมื่อเราทุ่มเงินจัดอีเวนท์ระดับพันล้านบาท ไม่นับอีเวนท์ที่มีอยู่แล้วของกระทรวงต่างๆ

อีกทั้ง การจัดสงกรานต์เป็นเฟสติวัลยาวหนึ่งเดือน และหมุนเวียนกันไปในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ข้อสังเกตจากกรณีที่นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า จะเน้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คำถามคือ ถ้านโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของพรรคเพื่อไทย จะเป็นไปอย่างที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ ซึ่งคือการสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศ การไปหาสถานที่ใหม่ สร้างจุดหมายปลายทางทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ในเทศกาลสงกรานต์ ที่ไม่ว่าอย่างไรคนก็มาท่องเที่ยวอยู่แล้ว อาจจะดีกว่าหรือไม่ คงเป็นความเห็นที่แตกต่างในเชิงนโยบาย

ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลยืนยันว่าจะทำแบบนี้ ก็ย่อมสามารถทำได้ แต่ถ้าคิดจะสร้างเม็ดเงิน สร้างรายได้ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศ รวมถึงต่อยอดต่อไปในปีต่างๆ จุดหมายปลายทางใหม่ๆ อาจจะน่าสนใจมากกว่า การไปจัดในที่ที่แออัด คับคั่ง จนแทบจะมีการจองเกินจำนวนอยู่แล้วในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายกังวลว่า สุดท้ายแล้วงบประมาณก้อนนี้จะถูกกินโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่ดี น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ขณะนี้ตนกำลังติดตามว่า เมื่องบประมาณออกมาจากกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ ซึ่งไม่ใช่หน่วยรับงบประมาณ แต่งบประมาณก้อนที่จะต้องถูกยัดลงไปในแผนของส่วนรับงบประมาณอื่นๆ กระทรวง ทบวง กรมใด จะเป็นผู้รับไป

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า เบื้องตนเท่าที่เห็นคิดว่ากระจายไป 2-3 หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ คาดว่าน่าจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งตนไม่รู้ว่า ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้รับผิดชอบ หรือผู้ประสานหลัก จะหมายถึงเป็นเจ้าของงบประมาณด้วยหรือไม่ ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนจากทางรัฐบาลอีกครั้ง และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า งบประมาณซอฟต์พาวเวอร์ในปี 2567 จะต้องอยู่ในสถานะงบฝาก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้มากน้อยเพียงใด

“ถามว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เกิดเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับคนไทยในระยะยาวได้จริงหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามเหมือนกัน ไม่นับว่างบประมาณก้อนนี้ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยบอกว่า นี่คือการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

น.ส.พรรณิการ์ ยังกล่าวถึงนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power : OFOS) ที่พรรคเพื่อไทย ระบุว่า จะสร้างรายได้ให้ครอบครัว ครอบครัวละ 200,000 บาท จำนวน 20 ล้านครอบครัวต่อปี ว่า ถ้าต้องการผลที่ใหญ่ขนาดนั้น ตัวเลขการลงทุนเบื้องต้นในปี 2567 อาจยังไม่สามารถคาดหวังได้มากขนาดนั้น เพราะงบประมาณปี 2568 ก็แทบจะต้องพิจารณาต่อกัน เนื่องจากงบประมาณปี 2567 ล่าช้า และปี 2567 อาจจะพูดได้ว่าเป็นปีแรกของรัฐบาล อาจจะยังเตรียมการไม่ทัน แต่ปี 2568 จะเริ่มพิจารณากลางปีหน้าแล้ว ต้องรอดูว่า จะซ้ำรอยในการจัดงบประมาณซอฟต์พาวเวอร์ที่ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยกันสองปี ซึ่งคือครึ่งหนึ่งของการทำงานของรัฐบาลนี้หรือไม่

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่างบจะกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า เท่าที่เห็นรายละเอียดของกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนี้ จะเป็นไปในลักษณะของการจัดอีเว้นท์ การอบรม และการสัมนา มากกว่า โดยส่วนตัวหากมองนโยบายของพรรคเพื่อไทย สิ่งที่สำคัญจริงๆ อยู่ที่ OFOS การสร้างเสริมทักษะในด้านสร้างสรรค์ให้กับคนในแต่ละครอบครัว นี่คือการรีสกิล อัพสกิล ที่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ยกตัวอย่าง มีหนึ่งโครงการจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งใช้งบประมาณ 160 กว่าล้านบาทเท่านั้นเอง และมีอีเว้นท์อยู่ในนั้นแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ไม่แน่ใจว่า OFOS จะถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด ในปีงบประมาณ 2567 นี้

ส่วนข้อกังวลเรื่องการทุจริต หรือการฉวยโอกาสจากกลุ่มบุคคล น.ส.พรรณิการ์ ระบุว่า การทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใด ก็สามารถทุจริตได้ทั้งนั้น แต่ที่เรากลัวซอฟต์พาวเวอร์ เนื่องจากยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และใช้เงินไปกับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม สุดท้ายจะได้แบบคนละนิดละหน่อย แล้วทำให้ยังไม่ทันเห็นผลชัดเจนในปีแรกที่ทำงาน รวมถึงเท่าที่ในรายละเอียด งบประมาณก้อนนี้ จะถูกใช้ไปในอีเวนท์ อบรม สัมมนา ซึ่งเป็นงบประมาณตัวที่เขียน และใช้ง่ายที่สุด

"ต้องตั้งคำถามถึงตัวชี้วัดด้วยว่า จัดอีเวนท์แล้ว ต่างจากปีที่ผ่านมาอย่างไร คาดหวังว่าจะมีตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ปีหน้าจะได้เห็นอีเวนท์เยอะแน่นอน" น.ส.พรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น