xs
xsm
sm
md
lg

“อัครแสนคีรี” ชงสภา ตั้ง กมธ.ศึกษาบุหรี่ไฟฟ้า หวังได้ข้อสรุปจะรับมืออย่างไร หลังเป็นของผิด กม.แต่ลักลอบขายสูบกันทั่วเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (27 ก.ย.) นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชัยภูมิ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวนำเสนอญัตติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงในประเทศไทย โดยเป็นญัตติที่ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นผู้เสนอ

โดย นายอัครแสนคีรี กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ ส.ส.ไผ่ ลิกค์ ที่ได้มอบหมายตนมานำเสนอในสภา บุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันเป็นสินค้าที่มีการขายซื้อง่าย ทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ โดยทุกวันนี้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถสั่งซื้อได้ผ่านเว็บไซต์ชื่อดัง รวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ เนื่องจากเป็นที่แพร่นิยมของวัยรุ่น สาเหตุที่มีความนิยม ในกลุ่มผู้ใช้เป็นเพราะว่ามีรูปลักษณ์และกลิ่น ที่ทำให้เกิดความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นของผลไม้ หรือเป็นกลิ่นต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้มีความชื่นชอบและมีการใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีกฎหมายที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า หลักๆ มี 4 หน่วยงาน คือ หน่วยงานพาณิชย์, คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ และกรมศุลกากร ซึ่งจะดูในส่วนของการนำเข้า ทั้งนี้ ถ้าหากหน่วยงานเหล่านี้ มีการกำกับดูแล การออกกฎหมาย มีบทลงโทษที่ชัดเจน

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจพบว่าตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 6,408 ล้านบาทต่อปี และมีการเติบโตที่ร้อยละ 100 ต่อปี โดยจากผลสำรวจยังพบว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 9 และที่สำคัญ มีการสูบตามเพื่อนฝูงถึง 92.2% พูดง่ายๆ เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เห็นเพื่อนใช้กันแล้วก็อยากใช้ตาม และที่สำคัญคือ ไม่ทราบว่าด้านในมีสารนิโคติน ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าทุกวันนี้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ดังนั้น การนำเข้ามาขาย รวมถึงการจัดจำหน่าย ก็เป็นการลักลอบเข้ามาจำหน่าย ส่วนประเทศทุกวันนี้ที่มีการอนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้แล้วมี ประมาณ 60 ประเทศ ซึ่งจะมีบางประเทศที่สามารถจำหน่ายได้เฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีสารนิโคติน เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา

“ผมได้ศึกษาเบื้องต้น จากตัวอย่างของประเทศที่มีการอนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า อย่างในประเทศจีน จะมีข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น การกำจัดอายุขั้นต่ำ, ห้ามขายใกล้สถานศึกษา, การห้ามจำหน่ายผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและอินเทอร์เน็ต รวมถึงการโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง อย่างประเทศญี่ปุ่น บุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคติน ก็จะไม่สามารถขายได้ ส่วนเกาหลี อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แต่มีการเก็บภาษีที่สูง โดยสรุปในต่างประเทศก็จะมีกฎหมาย เพื่อเข้ามากำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ” นายอัครแสนคีรี กล่าว

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ห้ามนำเข้าบารากุและบุหรี่ไฟฟ้า หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงกฎหมายจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบปี 60 หากฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 5000 บาท และ พ.ร.บ.ศุลกากรปี 60 ซึ่งมีการห้ามลักลอบนำเข้ามีบทลงโทษชัดเจน

“เราต่างทราบกันดีว่าข้อเท็จจริง แล้วสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นกับไม่สอดคล้องกับเจตนาของกฎหมายที่มี ในปัจจุบัน นั่นก็คือยังมีการนำเข้า มีการจำหน่ายมีการสูบกันอย่างเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ ทั้งที่กฎหมายได้ห้ามเอาไว้ จึงทำให้เกิดช่องทางในการเก็บส่วย ไม่ว่าจะเป็น การตั้งด่าน หรือการจ่ายส่วย เพื่อจัดจำหน่ายหน้าร้าน รวมถึงการเรียกเก็บเงินจากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 60 พบว่า รายได้ภาษีกรมสรรพสามิต ยาสูบมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ตลาดบุหรี่ไฟฟ้า มีมูลค่ามากขึ้น แต่กลับไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้” นายอัครแสนคีรี กล่าว

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า ถ้าบุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมายอยู่แบบนี้ รัฐย่อมไม่สามารถใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการกำหนดกลไกราคา ไม่สามารถควบคุมการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อหาข้อสรุปว่า ข้อดีและข้อเสีย และผลกระทบของการออกกฏหมายมาควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานที่ก่อให้เกิดอันตรายในบุหรี่ไฟฟ้า หรือกฎหมายควบคุมผู้บริโภค การกำหนดอายุของผู้บริโภค ที่ชัดเจนรวมถึง การจัดเก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง เพื่อการลดปัญหาในปัจจุบันและป้องกันปัญหาที่ตามมาในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น