xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยชัดวัยรุ่นสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำหันสูบแบบมวนเพิ่ม 3 เท่า จี้ รบ.ใหม่คง กม.ห้ามนำเข้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศจย.เผยงานวิจัยออสเตรเลีย พบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำวัยรุ่นเป็นนักสูบหน้าใหม่ หันสูบบุหรี่มวน สอดคล้องรายงานเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงสูบแบบมวนเพิ่ม 3 เท่า ห่วงในไทยกำลังระบาดเข้าโรงเรียน ด้าน "หมอประกิต" หวังรัฐบาลใหม่ เข้มงวด คงกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ลดอัตรานักสูบหน้าใหม่ในเยาวชน

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า สำนักข่าว The Guardian เผยงานวิจัยในออสเตรเลีย ซึ่งทำการสำรวจการใช้สิ่งเสพติด ปัญหาสุขภาพจิต พฤติกรรมเพื่อนร่วมกลุ่ม การขาดเรียน และการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ในเด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี จำนวน 3,410 คน ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 1 ใน 10 คน มีปัจจัยเสี่ยงสู่การสูบบุหรี่ธรรมดาในอนาคต และปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น ความเชื่อว่าคนสูบบุหรี่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน, มีเพื่อนอย่างน้อย 1 คนสูบบุหรี่, การสูบบุหรี่ครั้งคราวไม่มีอันตราย และมีอาการซึมเศร้า สอดคล้องกับรายงานก่อนหน้านี้ที่พบอัตราการสูบบุหรี่ของเด็กออสเตรเลียอายุ 14-17 ปี เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องมา 20 กว่าปี และสอดคล้องกับรายงานนานาชาติ ที่พบว่าเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น 3 เท่า

“งานวิจัยชี้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น เป็นปัจจัยเสี่ยงสู่การสูบบุหรี่ธรรมดา เพาะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเหมือนการเตรียมพร้อมที่จะสูบบุหรี่ธรรมดา ทำให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมจากมือถึงปาก และการรับรู้โฆษณา ทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการสูบบุหรี่ไฟฟ้า นำไปสู่การเสพติดนิโคตินและการสูบบุหรี่ธรรมดาอีกด้วย ออสเตรเลียจึงเพิ่มความเข้มข้นของกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้ขายได้เฉพาะผู้ที่มีใบสั่งแพทย์ หรือให้ใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เพื่อป้องกันเด็กนักเรียนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในไทย บุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาดเข้าสู่โรงเรียนทั่วประเทศ เป็นผลจากการส่งเสริมการตลาดที่พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน และการบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าที่ขาดประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน การให้ความรู้พิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน ก็ยังมีความคืบหน้าช้ามาก


ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า หลายประเทศพบผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน สูงกว่าอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดา จากข้อมูลพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้ผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ธรรมดาเลิกสูบ จากกรณีที่มีพรรคการเมืองเสนอให้แก้กฎหมายให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าภาษีที่ได้เพิ่มขึ้นมาจากการมีนักสูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วย เป็นการสูญเสียของนักสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีอายุน้อย ทั้งค่าใช้จ่ายซื้อบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายต่อสุขภาพ และเกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคในอนาคต

“รัฐบาลต้องแสดงความสามารถในการหารายได้เข้ารัฐ มากว่าหารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้า เพราะสิ่งเสพติดไม่มีประโยชน์ต่อสังคมเลย ข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย มีอัตราภาษีที่เก็บต่ำกว่าอัตราภาษีบุหรี่ธรรมดามาก ซึ่งเป็นผลจากการล็อบบี้ของบริษัทบุหรี่ สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำคือ คงไว้ซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเร่งรัดให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะในโรงเรียนทั่วประเทศ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น