xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส. ก้าวไกล ติง สสส ทำงานซ้ำซ้อน ไม่โปร่งใส ไม่คุ้มงบ 4,500 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส. ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดนนทบุรี เขต5 ได้อภิปรายเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานสสส. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 14 ในวันที่ 7 กันยายน 2566 ชี้สสส.ทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ตัวชี้วัดไม่ชัดเจน ขาดความโปร่งใส และใช้ข้อมูลไม่เป็นกลาง จี้ทุ่มงบประมาณ 4,500 ล้านบาทต่อปีแต่อัตราผู้สูบบุหรี่และดื่มสุราพลาดเป้าแถมไม่กระเตื้อง

วันนี้ (8 ก.ย.) ส.ส.ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดนนทบุรี เขต5 ได้กล่าวถึงประเด็นการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ว่า “เท่าที่ผมตรวจสอบข้อมูลการใช้งบประมาณของสสส.มา ปีหนึ่งจะมีงบประมาณที่เรียกว่า Earmarked Tax เป็นการเก็บเพิ่มจากภาษีสรรพสามิตที่ภาครัฐจัดเก็บไปแล้ว 2% จากสุราและยาสูบ”
“วันนี้ที่ผมเห็นข้อมูลในภาพรวม ผมไม่สบายใจอย่างยิ่งครับ วันนี้ผมดูข้อมูลการสูบบุหรี่ของคนไทย ปัจจุบันมีข้อมูลการสูบบุหรี่ที่ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากปี 60 ที่ 10.7 ล้านคน ปี 64 เหลือ 9.9 ล้านคน แต่ผลสำรวจขององค์กรอนามัยโลกได้สำรวจสุขภาวะของนักเรียนไทย มีการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น จากปี 2558 จาก 13.8% เป็น 14.40% ในปี 2564 และมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 13.6% ส่วนอัตราการดื่มสุรามีแนวโน้มค่อนข้างคงที่”
“ดังนั้นในภาพรวม การบริโภคยาสูบไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ท่านก็แบนมาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา วันนี้ผมขอนิยามใหม่ ผมดูจากข้อมูลแล้ว สสส. อาจจะหมายถึง ซ้ำซ้อน ไม่โปร่งใส ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ใน 3 ข้อที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้ครับ”
“ข้อแรกครับ ท่านมีความซ้ำซ้อนในการกำหนดตัวชี้วัดและผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานมากมายครับ ท่านบอกว่าในรายงานบอกว่าท่านเป็นผู้ประสานงาน เป็นคนเสริมพลัง เชื่อมการทำงาน ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนต่างๆนาๆ เมื่อเทียบกับงบประมาณ 4,500 ล้านบาทต่อปีแล้ว มันเหมาะสมหรือไม่กับภารกิจงานแบบนี้ครับ ประหนึ่งว่า หากไม่มีสสส. แล้วหน่วยงานอื่นๆก็จะทำงานไม่ได้เลย”

ส.ส.ปรีติได้กล่าวถึงเป้าหมายในแผนการลดการสูบบุหรี่สำหรับสสส.เพิ่มเติมว่า “วันนี้อัตราการสูบบุหรี่ เป้าหมายในแผนการลดการสูบบุหรี่ตามแผนยุทธศาสตร์ ท่านพลาดเป้าครับ แล้วก็ขององค์กรอนามัยโลกที่จะให้มีการลดเป็น 14.7% ในปี 2565 ท่านก็ทำไม่สำเร็จครับ ในรายงานของสสส.ที่ผมได้อ่านฉบับนี้ครับ ไม่ได้พูดถึงเป้าหมายการลดผู้สูบบุหรี่เลย แต่ท่านไปพูดถึงการดำเนินงานกิจกรรมเชิงพื้นที่เสียมากกว่า ผมเลยไม่แน่ใจว่าอะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จของสสส.กันแน่”

“ท่านทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆอีกหลายหน่วยงานครับ ในหลายๆโครงการที่ท่านบอกว่าเป็นผลงานของท่าน นโยบายสถานศึกษาปลอดบุหรี่ ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และกัญชา หรือความสำเร็จในเรื่องจังหวัดควบคุมยาสูบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ท่านบอกเป็นผลงานของตัวเอง ทั้งที่หลายๆอย่างก็มาจากการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น ผมเลยไม่แน่ใจว่าผลงานของท่าน ท่านมาเคลมผลงานที่เป็นของหน่วยงานที่เขามีความรับผิดชอบอยู่แล้ว ถูกต้องหรือไม่”

“ข้อสอง ในเรื่องของความโปร่งใส วันนี้ผมเห็นงบประมาณ 4,500 ล้านบาท ไปกับ 3,482 โครงการ มีทั้งเป็นโครงการใหม่ แล้วก็มีภาคีเครือข่าย แต่ในรายงานก็ไม่ได้ระบุว่าโครงการเหล่านี้ไปให้ใครบ้าง หน่วยงานไหนบ้าง พูดกว้างๆ จึงเป็นข้อสงสัยต่างๆนา สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าท่านควรต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด เราต้องการทราบครับ ทุกปีมีหน่วยงานไหนบ้างที่ได้ติดต่อกัน 20 ปีที่ผ่านมา”
“เมื่อไปดูสัดส่วนการใช้งบประมาณ ท่านสนับสนุนงบประมาณด้านแผนเพื่อการควบคุมยาสูบเพียง 313 ล้านบาท และแผนการลดการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติดเพียง 332 ล้านบาทครับ น้อยมากครับเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมดที่ท่านได้รับ ทั้งที่ยาสูบคือปัญหาสำคัญ สุราและยาสูบคร่าชีวิตคนไทยไปกว่า 80,000 คนต่อปี ในรายงานท่านพูดถึงการกระจายกองทุน ส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ถึง 1,199 ล้านบาท ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าเป็นหน่วยงานไหนบ้าง ท่านควรเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบครับ”

“ข้อสาม ข้อมูลของท่าน ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้อ้างอิงจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขในประเทศชั้นนำของโลก ผมขอยกตัวอย่างแค่บางเรื่องนะครับ เช่นเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ นายกรัฐมนตรีเขาสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่ปกติ ในสหรัฐอเมริกา มีการวิจัยว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีการเผาไหม้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป แคนาดาและนิวซีแลนด์สนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนเป็นบุหรี่ไฟฟ้าแทน แต่สิ่งที่ท่านทำคือให้มีการคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้า เหมือนเป็นการปิดกั้นสิ่งที่อันตรายน้อยกว่าให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ถ้ามีการรณรงค์ให้มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่ในอินเตอร์เน็ตมีขายมากมาย ท่านลองเปิดเฟสบุคของท่าน ไปกดมาร์เกตเพลส พิมคำว่าบุหรี่ไฟฟ้า มีขึ้นเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ผลกระทบยิ่งกว่านั้นครับ วันนี้ภาษีสรรพสามิตรในหมวดบุหรี่ลดลงกว่า 4,416 ล้านบาทต่อปีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นี่อาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายที่ท่านได้สนับสนุนไปในเรื่องการแบนบุหรี่ไฟฟ้า”

ส.ส.ปรีติกล่าวปิดท้ายการอภิปรายว่า “วันนี้ 4,500 ล้านบาทต่อปี งบประมาณ Earmarked Tax ที่ไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาจัดสรรของรัฐสภาที่มาจากประชาชน ท่านควรต้องชี้แจงให้รายละเอียดต่างๆว่าท่านใช้งบประมาณไปกับอะไร ตัวชี้วัดความสำเร็จของท่านคืออะไรกันแน่ ผมเชื่อว่าพวกท่านมีเจตนาดีที่อยากจะให้ประเทศไทย คนไทย มีสุขภาวะที่ดี แต่ท่านต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับเปลี่ยนมุมมอง ให้สอดคล้องกับสังคมและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป”








กำลังโหลดความคิดเห็น