xs
xsm
sm
md
lg

บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายแต่ทำไมแค่เสิร์ชก็ซื้อออนไลน์ได้ ระวังนโยบายไม่ตรงปก!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผ่านมาหลายปีที่ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ กลายเป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างแม้ว่าสินค้าดังกล่าวจะผิดกฎหมาย ทว่าในสังคมไทยก็ยังมีคำถามเดิมๆ วนเวียนอยู่ว่า หากยังไม่ถูกกฎหมาย เหตุใดบุหรี่ไฟฟ้าถึงสามารถหาซื้อได้ง่ายดายถึงเพียงนี้? ดังที่สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลกล่าวในการอภิปรายเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานสสส. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 14 ในวันที่ 7 กันยายน 2566 ว่า “เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ถ้ามีการรณรงค์ให้มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่ในอินเทอร์เน็ตมีขายมากมาย ท่านลองเปิดเฟซบุ๊กของท่าน ไปกดมาร์เกตเพลซ พิมพ์คำว่าบุหรี่ไฟฟ้า มีขึ้นเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด” หรือแม้กระทั่งความเห็นช่วงการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่เห็นด้วยกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูก ‘แบน’ มาร่วม 9 ปี ซึ่งหมายความว่าการซื้อขายหรือนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นล้วนผิดกฎหมายและมีโทษทั้งสิ้น ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้าที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์อย่างกลุ่มเฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ หรือเว็บไซต์ที่มีบริการสุดสะดวกจัดส่งถึงที่ หรือช่องทางออฟไลน์อย่างหน้าร้าน ตลาดนัด หรือตู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอัตโนมัติดังที่เคยเป็นข่าวไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าผิดกฎหมายทั้งสิ้น

แล้วเหตุใดสิ่งที่ถูก ‘แบน’ จึงกลายเป็น ‘สินค้าทั่วไป’ ในประเทศไทยได้? คำตอบง่ายๆ คือ การแบนนั้นเป็นมาตรการที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการบุหรี่ไฟฟ้า ในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ หรือแคนาดา หรือใกล้บ้านเราอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ต่างเลือกที่จะนำบุหรี่ไฟฟ้ามา ‘ควบคุม’ ให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอายุผู้ซื้อผู้ขาย การจำกัดสถานที่สำหรับใช้บุหรี่ไฟฟ้า มาตรฐานและส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนวทางการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่การแบนไม่สามารถจัดการได้

การแบนแบบเบ็ดเสร็จก่อให้เกิดข้อเสียมากกว่าที่เห็น นอกจากจะกำจัดและปิดกั้นบุหรี่ไฟฟ้าให้หมดไปจากประเทศไทยไม่ได้แล้ว การแบนยังทำให้เกิด ‘ตลาดใต้ดิน’ มูลค่ามหาศาล ซึ่งเป็นตลาดที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยทั้งราคา มาตรฐาน และที่สำคัญคืออายุผู้ซื้อผู้ขาย เมื่อไม่กี่ปีให้หลังมานี้บุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในกลุ่มเด็กนักเรียน ซ้ำร้าย ร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนบางร้านก็มี ‘เด็กและเยาวชน’ เป็นผู้ขายเสียเอง กรณีเหล่านี้มีให้พบเห็นเพราะไม่มีความชัดเจนหรือกฎหมายที่บังคับให้ต้องมีการตรวจสอบอายุเมื่อทำการซื้อขายนั่นเอง
 
ในขณะที่สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาพของความ ‘ไม่ชัดเจน’ นั้น ผู้แทนของประเทศไทยที่จะร่วมการประชุมระดับโลกอย่าง WHO Framework Convention on Tobacco Control (WHO FCTC) หรือ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบครั้งที่ 10 ที่ประเทศปานามา ก็ดูเหมือนจะเดินตามแนวทางของ WHO ที่ไม่สนใจถึงการให้ทางเลือกแก่ผู้สุบบุหรี่กว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก รวมทั้งเกือบ 10 ล้านคนในประเทศไทยที่ยังคงจะสูบบุหรี่ต่อไป แต่ก็ไม่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ตามที่คาดหวัง สวนทางกับแนวทางของหน่วยงานสาธารณสุขของกลุ่มประเทศชั้นแนวหน้าเช่น อย.สหรัฐอเมริกา สธ.สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ ที่เลือกจะควบคุมภายใต้กฎหมาย เป็นต้น

ก่อนที่ปัญหาใต้พรมจากการแบนบุหรี่ไฟฟ้าจะสายเกินแก้ รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว อาจต้องศึกษาประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าและทำการตัดสินใจอย่างรอบคอบ ฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ตกอยู่ภายใต้การกดดันของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และที่สำคัญ ในขณะที่มีรายงานการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎรทั้งให้เร่งศึกษาผลดีผลเสียและให้พิจารณาทำให้ถูกกฎหมาย มีทั้งการเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงในประเทศไทย มีการอภิปรายของ ส.ส. ทั้งฝ่านค้านและฝ่ายรัฐบาลถึงความมีอคติต่อบุหรี่ไฟฟ้า และมีข้อเสนอจากกระทรวงการคลังให้จัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ประเทศไทยจึงไม่ควรด่วนสรุปตามรอย WHO หรือความเห็นของบางหน่วยงาน แต่ควรรอให้เกิดความชัดเจนและมีท่าทีที่เป็นกลางเพื่อไม่ให้ท่าทีของประเทศไทยขัดแย้งกับความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือแม้กระทั่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ‘อุ๊งอิ๊ง’ เคยให้ความเห็นไว้ว่าเห็นด้วยกับการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ไม่เช่นนั้นอาจถูกมองว่าเป็นนโยบาย “ไม่ตรงปก” อีกเรื่อง






กำลังโหลดความคิดเห็น